แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
เมื่อโจทก์และจำเลยทั้งสามทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในศาลและศาลพิพากษาตามยอมแล้ว คำพิพากษาดังกล่าวย่อมผูกพันคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 หากโจทก์เห็นว่าคำพิพากษาตามยอมมิได้เป็นไปตามเจตนารมณ์หรือข้อตกลง โจทก์ชอบที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138 วรรคสองแต่โจทก์กลับยื่นคำร้องขอแก้ไขสัญญาประนีประนอมยอมความอันเป็นส่วนหนึ่งของคำพิพากษา ซึ่งการจะแก้ไขข้อผิดพลาดได้ต้องเป็นข้อผิดพลาดหรือผิดหลงเล็กน้อยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 143 วรรคแรก การที่โจทก์ขอแก้ไขให้จำเลยทั้งสามรับผิดในเบี้ยปรับและดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจากที่ตกลงกันจึงเป็นการทำให้จำเลยทั้งสามต้องรับผิดเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม กรณีมิใช่ข้อผิดพลาดหรือข้อผิดหลงเล็กน้อยแม้จำเลยทั้งสามจะไม่คัดค้าน โจทก์ก็ไม่อาจขอแก้ไขได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสาม โดยจำเลยทั้งสามยอมรับผิดชำระหนี้เงินให้แก่โจทก์ซึ่งตามสัญญาข้อ 5 มีความว่า หากจำเลยทั้งสามผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความนี้ไม่ว่าข้อหนึ่งข้อใดหรือเดือนหนึ่งเดือนใด ให้ถือว่าจำเลยทั้งสามผิดนัดชำระหนี้ทั้งหมด และยินยอมให้โจทก์บังคับคดีในหนี้ที่ค้างชำระได้ทันทีและจำเลยทั้งสามจะต้องรับผิดในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี และเบี้ยปรับในอัตราร้อยละ 6 ต่อปี จากต้นเงินที่ค้างชำระนับแต่วันที่ผิดนัดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จสิ้น โดยยอมให้โจทก์ยึดอายัดทรัพย์สินของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนกว่าจะครบถ้วน
โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขสัญญาประนีประนอมยอมความว่า โจทก์พิมพ์นามสกุลของจำเลยที่ 3 ในสัญญาประนีประนอมยอมความผิดพลาด โดยขอแก้นามสกุลจาก”วงษ์สัจจานนันท์” เป็น “วงษ์สัจจานันท์” และข้อความในสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 5 บรรทัดที่ 2 นับจากด้านล่างโจทก์พิมพ์ตกผิดพลาดไปจากเจตนารมณ์ที่ตกลงไว้กับจำเลยทั้งสาม จากเดิมว่า “และจำเลยทั้งสามจะต้องรับผิดใน…” ขอแก้ไขเพิ่มเติมเป็นว่า “และจำเลยทั้งสามจะต้องรับผิดในเบี้ยปรับที่โจทก์ลดให้อีกจำนวน 489,589.55บาท และดอกเบี้ยที่โจทก์ลดให้อีกจำนวน 124,652.97 บาท พร้อมดอกเบี้ยใน…”
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้แก้ไขเฉพาะนามสกุลของจำเลยที่ 3 คำร้องในส่วนอื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า โจทก์จะแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาประนีประนอมยอมความตามคำร้องที่ขอแก้ไข นอกจากที่ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตได้หรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า การขอแก้ไขสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวเป็นการแก้ไขเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อยอื่น ๆ และเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของคู่ความทั้งสองฝ่าย และจำเลยทั้งสามไม่คัดค้านการแก้ไขข้อผิดหลงเล็กน้อยอื่น ๆ นั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์และจำเลยทั้งสามทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในศาลและศาลพิพากษาตามยอมแล้ว คำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความย่อมผูกพันคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 หากโจทก์เห็นว่าคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวมิได้เป็นไปตามเจตนารมณ์หรือมิได้เป็นไปตามข้อตกลง โจทก์ชอบที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138 วรรคสอง ทั้งนี้เพื่อให้ศาลอุทธรณ์ได้แก้ไขให้เป็นไปตามข้อตกลงหรือเจตนารมณ์ของโจทก์และจำเลยทั้งสามแต่โจทก์หาได้ใช้สิทธิอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาดังกล่าวไม่ กลับใช้สิทธิยื่นคำร้องขอแก้ไขสัญญาประนีประนอมยอมความอันเป็นส่วนหนึ่งของคำพิพากษา ซึ่งการจะขอแก้ไขข้อผิดพลาดได้จะต้องเป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อย หรือข้อผิดหลงเล็กน้อยอื่น ๆ ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 143 วรรคแรก โดยเฉพาะในส่วนที่โจทก์ขอแก้ไขและศาลชั้นต้นไม่อนุญาตนั้นเป็นการเพิ่มความรับผิดให้จำเลยทั้งสามต้องรับผิดมากขึ้นกว่าเดิม จึงมิใช่ข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อยอื่น ๆแม้จำเลยทั้งสามจะไม่คัดค้าน โจทก์ก็ไม่อาจขอแก้ไขได้ คำสั่งศาลชั้นต้นและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน