คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8311/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 123 มีเจตนารมณ์เพื่อส่งเสริมและคุ้มครององค์กรของฝ่ายลูกจ้าง มิให้ถูกนายจ้างแทรกแซง ครอบงำ หรือใช้อำนาจบังคับบัญชาที่เหนือกว่าในฐานะนายจ้าง และใช้อำนาจทางเศรษฐกิจในการกดดันบีบคั้นมิให้ลูกจ้างหรือองค์กรของฝ่ายลูกจ้างใช้สิทธิโดยชอบตามกฎหมายในการยื่นข้อเรียกร้อง เจรจาต่อรองเพื่อปรับปรุงสภาพการจ้างให้ดีขึ้น โดยห้ามมิให้นายจ้างใช้วิธีการเลิกจ้างลูกจ้าง กรรมการ อนุกรรมการ หรือสมาชิกสหภาพแรงงานซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง ดังนั้น การเลิกจ้างที่จะเป็นการฝ่าฝืนตามมาตรานี้ นายจ้างจะต้องมีมูลเหตุจูงใจที่จะขัดขวางการดำเนินกิจกรรมของสหภาพแรงงานหรือขัดขวางมิให้ลูกจ้างได้รับประโยชน์จากข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่เกิดจากการเจรจาตกลงกันระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างหรือจากคำชี้ขาด เมื่อโจทก์เลิกจ้างผู้กล่าวหาทั้งเจ็ดเพราะไม่ผ่านการประเมินการทดลองงานเนื่องจากผู้กล่าวหาทั้งเจ็ดมีผลการปฏิบัติงานไม่เป็นที่น่าพอใจ บางคนได้รับโอกาสให้ทำงานในตำแหน่งใหม่ก็ปฏิเสธไม่ไปทำงาน โจทก์ย่อมมีเหตุผลและความชอบธรรมที่จะเลิกจ้างลูกจ้างได้ตามเงื่อนไขข้อตกลงของสัญญาจ้างแรงงานที่ได้ทำไว้ขณะลูกจ้างเข้าทำงานโดยความสมัครใจของลูกจ้างและตามหลักการบริหารทรัพยากรมนุษย์และการบริหารงานบุคคลที่นายจ้างย่อมมีสิทธิคัดสรรแรงงานที่มีคุณภาพที่สุดแก่กิจการได้ แม้จะมิได้มีเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งที่ระบุไว้ให้นายจ้างสามารถเลิกจ้างลูกจ้างได้ตาม (1) ถึง (5) ของบทบัญญัติดังกล่าวก็ตาม นอกจากนั้น การที่โจทก์เลิกจ้างลูกจ้างที่ไม่ผ่านการประเมินการทดลองงานและมิได้เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานในคราวเดียวกันด้วยถึง 6 คน และรับลูกจ้างที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานที่ร่วมนัดหยุดงานจำนวน 2 คน เข้าเป็นพนักงานประจำต่อไป ย่อมแสดงว่าโจทก์มิได้มีเจตนากลั่นแกล้งหรือเลือกปฏิบัติต่อผู้กล่าวหาทั้งเจ็ดเพราะเหตุที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานหรือเพราะไปร่วมนัดหยุดงาน การเลิกจ้างดังกล่าวเป็นเรื่องปกติในการบริหารงานบุคคล มิได้เกิดจากมูลเหตุจูงใจเพื่อขัดขวางการดำเนินกิจกรรมของสหภาพแรงงานหรือเพื่อกลั่นแกล้งลูกจ้าง จึงไม่เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามบทบัญญัติดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ 180 – 186/2555 ลงวันที่ 3 พฤษภาคม 2555
จำเลยทั้งสิบสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ 180 – 186/2555 ลงวันที่ 3 พฤษภาคม 2555
จำเลยทั้งสิบสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นนายจ้างของผู้กล่าวหาทั้งเจ็ดซึ่งร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์จำเลยทั้งสิบสอง กล่าวหาว่าโจทก์กระทำการอันไม่เป็นธรรมโดยเลิกจ้างผู้กล่าวหาทั้งเจ็ดในระหว่างที่มีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างและเพราะเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานอมาล์เลียน จำเลยทั้งสิบสองพิจารณาแล้วมีคำสั่งที่ 180 – 186/2555 ว่า โจทก์กระทำการอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 123 ให้โจทก์รับผู้กล่าวหาทั้งเจ็ดกลับเข้าทำงานและจ่ายค่าจ้างในระหว่างที่ไม่ได้ทำงาน ในชั้นพิจารณาคู่ความทั้งสองฝ่ายแถลงรับข้อเท็จจริงตามที่สรุปในคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ว่า ผู้กล่าวหาทั้งเจ็ดเป็นลูกจ้างของโจทก์อยู่ในระหว่างการทดลองงานตามสัญญาจ้างแรงงานและเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานอมาล์เลียนในบริษัทโจทก์ เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2554 สหภาพแรงงานอมาล์เลียนยื่นข้อเรียกร้องเพื่อขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างต่อโจทก์ การเจรจาไม่สามารถตกลงกันได้ สหภาพแรงงานนัดหยุดงานระหว่างวันที่ 27 มกราคม 2555 ถึงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2555 โดยผู้กล่าวหาทั้งเจ็ดเข้าร่วมนัดหยุดงานกับสมาชิกสหภาพแรงงานคนอื่น ๆ ด้วย ต่อมาภายหลังจากที่ข้อพิพาทแรงงานยุติลง ลูกจ้างรายงานตัวกลับเข้าทำงาน ต่อมาโจทก์ได้ประเมินผลการปฏิบัติงานของลูกจ้างที่อยู่ในระหว่างการทดลองงานปรากฏว่ามีลูกจ้างผ่านการประเมิน 9 คน เป็นลูกจ้างที่ร่วมนัดหยุดงานด้วย 2 คน และมีลูกจ้างไม่ผ่านการทดลองงาน 13 คน ซึ่งรวมถึงผู้กล่าวหาที่ 1 ถึงที่ 7 ด้วย แต่โจทก์ให้ผู้กล่าวหาที่ 1 ทดลองงานต่ออีก 30 วัน และมีคำสั่งให้ผู้กล่าวหาที่ 1 ไปทำงานในตำแหน่งอื่น แต่ผู้กล่าวหาที่ 1 ปฏิเสธที่จะทำงานดังกล่าว โจทก์จึงเลิกจ้างผู้กล่าวหาทั้งเจ็ดเนื่องมาจากมีผลการปฏิบัติงานไม่เป็นที่น่าพอใจ ไม่ผ่านการทดลองงาน มิใช่เลิกจ้างเพราะเหตุที่ผู้กล่าวหาทั้งเจ็ดเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน ยื่นข้อเรียกร้องและนัดหยุดงาน
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสิบสองว่า การที่โจทก์เลิกจ้างผู้กล่าวหาทั้งเจ็ดเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 123 หรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 123 บัญญัติว่า ในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหรือคำชี้ขาดมีผลใช้บังคับ ห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง ผู้แทนลูกจ้าง กรรมการ อนุกรรมการ หรือสมาชิกสหภาพแรงงาน…ฯลฯ ซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องนั้น บทบัญญัติดังกล่าวมีเจตนารมณ์เพื่อส่งเสริมและคุ้มครององค์กรของฝ่ายลูกจ้าง มิให้ถูกนายจ้างแทรกแซง ครอบงำ หรือใช้อำนาจบังคับบัญชาที่เหนือกว่าในฐานะนายจ้าง และใช้อำนาจทางเศรษฐกิจในการกดดันบีบคั้นมิให้ลูกจ้าง องค์กรของฝ่ายลูกจ้างใช้สิทธิโดยชอบตามกฎหมายในการยื่นข้อเรียกร้อง เจรจาต่อรองเพื่อปรับปรุงสภาพการจ้างให้ดีขึ้น โดยห้ามมิให้นายจ้างใช้วิธีการเลิกจ้างลูกจ้าง กรรมการ อนุกรรมการหรือสมาชิก สหภาพแรงงานซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง ดังนั้น การเลิกจ้างที่จะเป็นการฝ่าฝืนตามมาตรานี้นายจ้างจะต้องมีมูลเหตุจูงใจที่ขัดขวางการดำเนินกิจกรรมของสหภาพแรงงาน หรือขัดขวางมิให้ลูกจ้างได้รับประโยชน์จากข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่เกิดจากการเจรจาตกลงกันระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างหรือจากคำชี้ขาด เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์เลิกจ้างผู้กล่าวหาทั้งเจ็ดเพราะไม่ผ่านการประเมินการทดลองงาน เนื่องจากผู้กล่าวหาทั้งเจ็ดมีผลการปฏิบัติงานไม่เป็นที่น่าพอใจ บางคนได้รับโอกาสให้ทำงานในตำแหน่งใหม่ก็ปฏิเสธไม่ไปทำงาน โจทก์ย่อมมีเหตุผลและความชอบธรรมที่จะเลิกจ้างลูกจ้างได้ตามเงื่อนไขข้อตกลงของสัญญาจ้างแรงงานที่ได้ทำไว้ขณะลูกจ้างเข้าทำงานโดยความสมัครใจของลูกจ้างและตามหลักการบริหารทรัพยากรมนุษย์และการบริหารงานบุคคลที่นายจ้างย่อมมีสิทธิคัดสรรแรงงานที่มีคุณภาพที่สุดแก่กิจการได้ แม้มิได้มีเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งที่ระบุไว้ให้นายจ้างสามารถเลิกจ้างลูกจ้างได้ตาม (1) ถึง (5) ในมาตรา 123 ของพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ก็ตาม นอกจากนั้น การที่โจทก์เลิกจ้างลูกจ้างที่ไม่ผ่านการประเมินการทดลองงานและมิได้เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานในคราวเดียวกันด้วยถึง 6 คน และรับลูกจ้างที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานที่ร่วมนัดหยุดงานจำนวน 2 คน เข้าเป็นพนักงานประจำต่อไป ย่อมแสดงว่าโจทก์มิได้มีเจตนากลั่นแกล้งหรือเลือกปฏิบัติต่อผู้กล่าวหาทั้งเจ็ดเพราะเหตุที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานหรือเพราะไปร่วมนัดหยุดงาน การเลิกจ้างดังกล่าวเป็นเรื่องปกติในการบริหารงานบุคคล มิได้เกิดจากมูลเหตุจูงใจเพื่อขัดขวางการดำเนินกิจกรรมของสหภาพแรงงานหรือเพื่อกลั่นแกล้งลูกจ้าง จึงไม่เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 123 และมีเหตุที่โจทก์จะขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยทั้งสิบสองที่ 180-186/2555 ลงวันที่ 3 พฤษภาคม 2555 ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยมาชอบด้วยเหตุผลแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสิบสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share