คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 617/2514

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อสันนิษฐานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1357 นั้นยอมสืบหักล้างได้ว่าความจริงมีอยู่อย่างไร มารดาแบ่งที่นามือเปล่าให้บุตร 2 คนครอบครองกันเป็นส่วนสัด เป็นเนื้อที่ไม่เท่ากัน แล้วมารดาขอออกตราจองที่นาแปลงนั้นเป็นฉบับเดียวกันการออกตราจองนี้ถือว่ามารดามิได้มีเจตนาจะถือว่าที่ดินเป็นของตน เพราะได้สละการครอบครองให้บุตรไปแล้ว เมื่อออกตราจองแล้วมารดาก็โอนกรรมสิทธิ์ให้บุตรทั้งสองนั้น โดยมิได้ระบุว่าส่วนของคนไหนมีเนื้อที่เท่าใด ดังนี้ เมื่อบุตรจะขอแยกตราจอง ต่างก็ได้ที่ดินในส่วนที่ตนครอบครองกันอยู่ตลอดมานั้น มิใช่จะได้คนละส่วนเท่ากัน และเรื่องนี้ก็เป็นปัญหาเรื่องกรรมสิทธิ์รวม ไม่ใช่เรื่องการครอบครองที่ของผู้อื่นโดยทางปรปักษ์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นางจ่าย วรนารถ มารดาโจทก์มีนาแปลงหนึ่งตามตราจองเลขที่ ๖๒ เนื้อที่ ๓๗ ไร่ ๓ งาน ๖๒ ตารางวา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๓ นางจ่ายได้โอนที่ดินดังกล่าวให้โจทก์และนายเปลื้อง น้อยแสง เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน ได้ครอบครองร่วมกันมา ยังไม่ได้แบ่งตราจองนายเปลื้องบิดาจำเลยวายชนม์เมื่อ ๖ ปีเศษมานี้ จำเลยทั้งสามไปขอรับมรดกที่ดินส่วนของนายเปลื้อง จำเลยจึงมีชื่อถือกรรมสิทธิ์อยู่ตามตราจองครั้นปี ๒๕๑๐ โจทก์ขอแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวเฉพาะส่วนของโจทก์ครึ่งหนึ่งจำเลยไม่ยอม จะแบ่งเป็น ๔ ส่วน จึงขอให้บังคับจำเลยแบ่งตราจองออกเป็น ๒ ส่วน ให้โจทก์ได้ ๑ ส่วน
จำเลยให้การว่า ที่ดินตามตราจองนี้มีที่ดินนอกตราจองติดอยู่อีก ๘ ไร่เศษ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๒ นางจ่ายได้แบ่งให้นายเปลื้องเฉพาะที่ตามตราจองประมาณ ๒๒ ไร่เศษ กับนอกตราจอง ๔ ไร่เศษ โดยยกให้ทางทิศใต้ให้โจทก์ทางทิศเหนือเป็นเนื้อที่ในตราจอง ๑๖ ไร่เศษ นอกตราจอง ๔ ไร่เศษ นางจ่ายได้ทำคันนาและปักหลักไม้แก่นเป็นหลักเขตแบ่งกันเป็นส่วนสัด บิดาจำเลยกับโจทก์ต่างถือสิทธิครอบครองอย่างเป็นเจ้าของตามส่วนที่ได้รับแบ่งปันตั้งแต่นั้นมา เมื่อบิดาตายจำเลยเป็นทายาทได้รับโอนที่นามรดก และได้ครอบครองเป็นส่วนสัดเช่นเดิมตลอดมา โจทก์ไม่มีสิทธิขอแบ่งแยกที่ดินในตราจองครึ่งหนึ่ง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยแบ่งที่นาตามตราจองตอนเหนือของคันนาที่ผ่ากลางที่นาเป็นแนวเขตให้แก่โจทก์ หากไม่จัดการให้ก็ให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทน
โจทก์ฎีกา
ปัญหามีว่า โจทก์จะเรียกร้องให้จำเลยแบ่งนาพิพาทให้แก่โจทก์ครึ่งหนึ่งตามที่โจทก์กับนายเปลื้องบิดาจำเลยมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันในตราจองได้หรือไม่
ศาลฎีกาฟังว่า ก่อนที่นางจ่ายจะได้รับตราจองที่ดินพิพาทก็ดีและตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๘๒ เมื่อนางจ่ายได้รับตราจองแล้วโอนกรรมสิทธิ์ยกที่แปลงพิพาทให้โจทก์และนายเปลื้องก็ดี โจทก์กับนายเปลื้องเมื่อได้รับแบ่งที่พิพาทกันมาเป็นส่วนสัดแล้วต่างก็แยกการครอบครองตามส่วนตั้งแต่นั้นตลอดมา นางจ่ายได้แบ่งนาพิพาทให้โจทก์และนายเปลื้องครอบครองเป็นส่วนสัดกันมาตั้งแต่ก่อนที่นางจ่ายจะได้รับตราจองแล้ว ฉะนั้น การที่นางจ่ายไปขอออกตราจองแล้วโอนตราจองที่พิพาทให้โจทก์และนายเปลื้อง จึงเป็นการรับตราจองแทนโจทก์และนายเปลื้องนั่นเองเพราะได้สละการครอบครองที่พิพาทแบ่งให้โจทก์และนายเปลื้องไปก่อนแล้วนางจ่ายไม่มีเจตนาที่จะถือว่าที่ดินเป็นของตน เหตุนี้จะถือว่าสิทธิในที่ดินของโจทก์และนายเปลื้องที่มีอยู่แล้วนั้นถูกลบล้างไปเพราะนางจ่ายได้รับตราจองดังฎีกาของโจทก์หาได้ไม่ การที่โจทก์ยืนยันว่าโจทก์ควรมีสิทธิเป็นเจ้าของที่ดิน ๑ ส่วน ตามที่มีชื่อในตราจองเพราะมิได้ปรากฏส่วนว่าเป็นของใครเท่าใด ก็ต้องถือว่ามีส่วนเท่ากันนั้น เห็นว่า บทบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๕๗ เป็นเรื่องของความสันนิษฐานเบื้องต้นเท่านั้น ซึ่งคู่กรณีย่อมมีสิทธิที่จะนำสืบหักล้างความสันนิษฐานนี้เสียได้ เมื่อความจริงปรากฏชัดว่าโจทก์กับนายเปลื้องมีส่วนไม่เท่ากันมาแต่เดิม และต่างครอบครองกันมาเป็นส่วนสัดตั้งแต่ก่อนออกตราจอง โจทก์จะยืนยันเอาให้ได้เกินส่วนอันแท้จริงของตนไปอีกหาได้ไม่ เรื่องนี้เป็นการวินิจฉัยในปัญหาเรื่องกรรมสิทธิ์รวม ไม่ใช่เรื่องการครอบครองที่ดินของผู้อื่นโดยทางปรปักษ์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้โจทก์แพ้คดีนั้นชอบแล้ว
พิพากษายืนในผลของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share