คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4261-4264/2540

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เจ้าพนักงานบังคับคดีจะถอนการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 295(3) ได้ในสองกรณี คือ คำพิพากษาในระหว่างบังคับคดีได้ถูกกลับในชั้นที่สุด หรือหมายบังคับคดีได้ถูกยกเลิกเสีย แต่คำพิพากษาตามยอมระหว่างโจทก์จำเลยไม่ได้ถูกกลับในชั้นที่สุด ทั้งจำเลยได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมบ้านซึ่งเป็นทรัพย์พิพาทให้แก่โจทก์แล้วย่อมถือว่าโจทก์และจำเลยได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอมแล้ว การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือแจ้งให้เจ้าพนักงานที่ดินทำการจดทะเบียนโอนที่ดินตามสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ถือว่ามีการบังคับคดีที่กำลังดำเนินการอยู่ที่ศาลจะเพิกถอนได้

ย่อยาว

คดีทั้งสี่สำนวนศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกันโดยให้เรียกโจทก์สามสำนวนแรกว่า โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ตามลำดับ และเรียกโจทก์ทั้งสองในสำนวนที่สี่ว่าโจทก์ที่ 4 และที่ 5

กรณีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 41035, 41031, 41036 และ 41042 พร้อมบ้านเลขที่ 288/107, 288/111,288/106 และเลขที่ 288/84 ให้แก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 ตามลำดับ กับให้โจทก์ทั้งห้าชำระเงินค่าที่ดินให้แก่จำเลยด้วย ต่อมาจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ โจทก์ทั้งห้าจึงขอให้บังคับคดี และศาลได้ตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อดำเนินการตามคำพิพากษาตามยอม

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องมีส่วนได้เสียเกี่ยวกับการบังคับคดีโดยผู้ร้องได้ฟ้องทายาทของจำเลยเป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 3898/2536 ต่อมาศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาตามยอมเป็นคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 355/2538 โดยทายาทของจำเลยได้ตกลงว่าจะทำการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 41036 พร้อมบ้านเลขที่ 288/106 ให้แก่ผู้ร้อง เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการเพิกถอนหมายบังคับคดีและการบังคับคดีนี้เสร็จสิ้นแล้ว ปรากฏว่าศาลชั้นต้นได้ส่งคำสั่งยกเลิกหมายบังคับคดีฉบับลงวันที่ 10 มิถุนายน 2535 ให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2537 ซึ่งเจ้าพนักงานบังคับคดีจะต้องถอนการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 295(3) แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีกลับเพิกเฉยมิได้ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลทำให้ผู้ร้องได้รับความเสียหายไม่สามารถรับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 41036 พร้อมบ้านเลขที่ 288/106 ตามคำพิพากษาตามยอมได้ ขอให้มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทำการถอนการบังคับคดีตามกฎหมาย

ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ต้องทำการยึดทรัพย์แต่อย่างใด การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือแจ้งให้เจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น เป็นเพียงการแจ้งให้เจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการตามคำพิพากษาตามยอมซึ่งมีผลบังคับอยู่จนถึงปัจจุบันนี้เท่านั้น จึงไม่มีการบังคับคดีที่กำลังดำเนินการอยู่ที่จะต้องเพิกถอนตามคำสั่งศาล ทั้งการที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะมีหนังสือแจ้งให้เจ้าพนักงานที่ดินเพิกถอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ตามความประสงค์ของทนายผู้ร้องก็ไม่อาจทำได้ เพราะขัดกับคำพิพากษาตามยอมในคดีนี้ เป็นเรื่องที่ผู้ร้องจะต้องดำเนินคดีเป็นคดีใหม่

ผู้ร้องอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

ผู้ร้องฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งกันได้ความว่า เดิมศาลชั้นต้นมีหมายบังคับคดีลงวันที่ 9 เมษายน 2535 ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาตามยอมลงวันที่ 31 มกราคม 2535 และหมายบังคับคดีลงวันที่ 10 มิถุนายน 2535 ต่อมาวันที่ 22 กรกฎาคม 2535 โจทก์วางเงินตามจำนวนที่ระบุในสัญญาประนีประนอมยอมความวันที่ 27 กรกฎาคม 2535 ทนายจำเลยนำโฉนดที่ดินตามสัญญาประนีประนอมยอมความมาวางต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีและแถลงว่าจำเลยเสียชีวิตแล้วตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม2535 เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือลงวันที่ 28 กรกฎาคม 2535 แจ้งให้เจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนโอนที่ดินตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้โจทก์ตามคำพิพากษาตามยอมโดยคู่ความรับโฉนดที่ดินจากเจ้าพนักงานบังคับคดีไปดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์กันเอง วันที่ 21 กันยายน 2535 โจทก์แจ้งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบว่าได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ตามคำพิพากษาตามยอมแล้วตั้งแต่วันที่ 17 กันยายน 2535 ชั้นไต่สวนคำร้องของผู้ร้อง ทนายผู้ร้องแถลงต่อศาลชั้นต้นว่าต้องการให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือแจ้งไปยังเจ้าพนักงานที่ดินให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ประเด็นข้อแรกที่ต้องวินิจฉัยมีว่า การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือแจ้งให้เจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่41036 พร้อมบ้านเลขที่ 288/106 คือทรัพย์สินพิพาทคดีนี้ตามคำพิพากษาตามยอมให้แก่โจทก์นั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ผู้ร้องฎีกาว่า เมื่อศาลได้ส่งคำสั่งยกเลิกหมายบังคับคดีให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีจะต้องถอนการบังคับคดีไม่ว่าการบังคับคดีนั้นได้กระทำไปแล้วหรือกำลังดำเนินการกระทำอยู่ ดังนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองฟังว่าเมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอมที่ยังมีผลบังคับอยู่ การกระทำของเจ้าพนักงานบังคับคดีชอบแล้ว จึงเป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบ เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องถอนการบังคับคดีทรัพย์พิพาทคดีนี้ เห็นว่า การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะถอนการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 295(3) นั้น มีสองกรณี กรณีที่หนึ่งคำพิพากษาในระหว่างบังคับคดีได้ถูกกลับในชั้นที่สุด กรณีที่สองหมายบังคับคดีได้ถูกยกเลิกเสีย เมื่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีได้ส่งคำสั่งให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดี แต่คำพิพากษาตามยอมดังกล่าวไม่ได้ถูกกลับในชั้นที่สุด ทั้งข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยได้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมบ้านคือทรัพย์พิพาทคดีนี้ให้แก่โจทก์ย่อมถือว่าโจทก์และจำเลยได้ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมแล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีเพียงแต่มีหนังสือแจ้งให้เจ้าพนักงานที่ดินทำการจดทะเบียนโอนที่ดินตามสัญญาประนีประนอมยอมความเท่านั้น ไม่มีการบังคับคดีที่กำลังดำเนินการอยู่ที่จะต้องเพิกถอนตามคำสั่งศาล จึงไม่มีเหตุที่ต้องถอนการโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์พิพาทคดีนี้ คำวินิจฉัยของศาลล่างทั้งสองในประเด็นนี้ชอบแล้ว ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share