คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9440/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 19 กำหนดหลักเกณฑ์ผู้ซึ่งจะได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดต้องเป็นผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดฐานเสพยาเสพติด เสพและมีไว้ในครอบครอง เสพและมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย หรือเสพและจำหน่ายยาเสพติดตามลักษณะชนิด ประเภท และปริมาณที่กำหนดในกฎกระทรวง ถ้าไม่ปรากฏว่าต้องหาหรืออยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกหรืออยู่ในระหว่างรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาล ให้พนักงานสอบสวนนำตัวผู้ต้องหาไปศาลภายในสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่ผู้ต้องหานั้นมาถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวน เพื่อให้ศาลพิจารณามีคำสั่งให้ส่งตัวผู้นั้นไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติด คำว่า ถ้าไม่ปรากฏว่าต้องหาหรืออยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกหรืออยู่ในระหว่างรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาลนั้น หมายถึง วันที่จำเลยกระทำความผิดฐานเสพยาเสพติด เสพและมีไว้ในครอบครอง เสพและมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย หรือเสพและจำหน่ายยาเสพติดนั้นจำเลยต้องหาหรือถูกดำเนินคดีอื่นหรืออยู่ระหว่างรับโทษจำคุก หาใช่วันที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาแก่จำเลยตามที่จำเลยแก้ฎีกาไม่ จำเลยกระทำความผิดคดีนี้วันที่ 13 ธันวาคม 2554 ซึ่งในขณะนั้นจำเลยต้องคำพิพากษาคดีถึงที่สุดให้จำคุก ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1801/2553 ของศาลชั้นต้น จำเลยจึงเป็นผู้อยู่ในระหว่างรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาล ดังนี้ พนักงานสอบสวนจึงไม่ต้องนำตัวจำเลยไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติด ตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว การสอบสวนชอบด้วยกฎหมายแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 57, 97 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 และเพิ่มโทษจำเลยตามกฎหมาย
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 57, 91 จำคุก 6 เดือน เพิ่มโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 หนึ่งในสาม เป็นจำคุก 8 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 4 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา โดยศาลฎีกาอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 ท้ายพระราชบัญญัติดังกล่าวระบุว่า ผู้เสพยาเสพติดมีสภาพเป็นผู้ป่วยอย่างหนึ่ง มิใช่อาชญากรปกติ พระราชบัญญัตินี้จึงกำหนดให้มีกระบวนการคัดแยกผู้เสพยาเสพติด เสพและมีไว้ในครอบครอง เสพและมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย หรือเสพและจำหน่ายยาเสพติดตามลักษณะ ชนิด ประเภท และปริมาณที่กำหนดในกฎกระทรวงไปดำเนินการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดก่อนที่จะให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนสรุปสำนวนเสนอพนักงานอัยการฟ้องศาลเพื่อลงโทษผู้นั้นเหมือนผู้กระทำความผิดอาญาอื่น ๆ ซึ่งในระหว่างการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พนักงานสอบสวนยังคงดำเนินการสอบสวนคดีต่อไป และเมื่อผู้เสพยาเสพติดได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจนครบถ้วนตามที่กำหนดในแผนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด และผลการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดเป็นที่พอใจของคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดแล้ว มาตรา 33 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ถือว่าผู้นั้นพ้นจากความผิดที่ถูกกล่าวหาตามมาตรา 19 และให้คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดมีคำสั่งให้ปล่อยตัวผู้นั้นไป แต่ถ้าผลของการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดยังไม่พอใจ มาตรา 33 วรรคสอง บัญญัติให้คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดรายงานความเห็นไปยังพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ แล้วแต่กรณี เพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินคดีผู้นั้นต่อไป โดยมาตรา 19 กำหนดหลักเกณฑ์ผู้ซึ่งจะได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดว่าต้องเป็นผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดฐานเสพยาเสพติด เสพและมีไว้ในครอบครอง เสพและมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย หรือเสพและจำหน่ายยาเสพติดตามลักษณะชนิด ประเภท และปริมาณที่กำหนดในกฎกระทรวง และไม่ปรากฏว่าต้องหาหรืออยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกหรืออยู่ในระหว่างรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาล ให้พนักงานสอบสวนนำตัวผู้ต้องหาไปศาลภายในสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่ผู้ต้องหานั้นมาถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวน เพื่อให้ศาลพิจารณามีคำสั่งให้ส่งตัวผู้นั้นไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติด เห็นได้ว่าเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าด้วยฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดได้บังคับให้พนักงานสอบสวนนำตัวผู้ต้องหาซึ่งเป็นบุคคลที่เข้าหลักเกณฑ์ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 19 วรรคหนึ่ง ไปศาลภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้ศาลพิจารณามีคำสั่งให้ส่งตัวผู้นั้นไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติดเพื่อดำเนินการต่อไปตามมาตรา 22 โดยให้คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดได้ตรวจวินิจฉัยว่า ผู้ต้องหานั้นเป็นผู้เสพหรือติดยาเสพติดหรือไม่ เพื่อจะได้คัดแยกว่าผู้ต้องหานั้นเป็นผู้มีสิทธิเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด หรือต้องถูกดำเนินคดีต่อไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาดังเช่นผู้กระทำความผิดทางอาญาอื่น ๆ ซึ่งขั้นตอนดังกล่าวจึงเป็นขั้นตอนสำคัญที่พนักงานสอบสวนจะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย เมื่อผู้กระทำความผิดต้องหาว่ากระทำความผิดฐานเสพยาเสพติด เสพและมีไว้ในครองครอง เสพและมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย หรือเสพและจำหน่ายยาเสพติดตามลักษณะชนิด ประเภท และปริมาณที่กำหนดในกฎกระทรวงและถูกจำคุกในขณะกระทำความผิดเช่นนี้ พนักงานสอบสวนย่อมไม่อาจนำตัวไปดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดดังกล่าวข้างต้นได้ ดังนี้ ข้อเท็จจริงที่ว่าถ้าไม่ปรากฏว่าต้องหาหรืออยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกหรืออยู่ในระหว่างรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาลตามมาตรา 19 วรรคหนึ่งนั้น จึงหมายความถึงในขณะที่ผู้ต้องหากระทำความผิดฐานเสพยาเสพติด เสพและมีไว้ในครอบครองเสพและมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย หรือเสพและจำหน่ายยาเสพติด ถ้าไม่ปรากฏว่าผู้ต้องหาต้องหาหรืออยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกหรืออยู่ในระหว่างรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาลก็อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด หาใช่วันที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาแก่ผู้ต้องหาตามที่จำเลยแก้ฎีกาไม่ คดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความตามฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดวันที่ 13 ธันวาคม 2554 ซึ่งในขณะนั้นจำเลยต้องคำพิพากษาคดีถึงที่สุดให้จำคุกมีกำหนด 1 ปี 9 เดือน ตั้งแต่วันที่ 14 ธันวาคม 2553 ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1801/2553 ของศาลชั้นต้น จำเลยจึงเป็นผู้อยู่ในระหว่างรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาล ดังนี้ การที่พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนจำเลยโดยมิได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวจึงเป็นการสอบสวนโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น แต่ศาลอุทธรณ์ยังไม่ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลย ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยโดยไม่จำต้องย้อนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอีก ที่จำเลยอุทธรณ์ขอให้ลดโทษและรอการลงโทษให้แก่จำเลยนั้น เห็นว่า ที่ศาลชั้นต้นกำหนดโทษและลดโทษจำคุกนั้นเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีและเป็นการลดโทษขั้นสูงตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว และเมื่อจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
อนึ่ง จำเลยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกสำหรับความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 และจำเลยกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 อีกในระหว่างที่ยังต้องรับโทษอยู่ เมื่อศาลพิพากษาลงโทษจำคุกในคดีนี้จึงต้องเพิ่มโทษที่จะลงแก่จำเลยกึ่งหนึ่งสำหรับความผิดในคดีนี้ ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 97 ที่ศาลชั้นต้นเพิ่มโทษจำเลยหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 จึงเป็นการไม่ชอบ แต่เมื่อโจทก์ไม่อุทธรณ์ ศาลฎีกาก็ไม่อาจเพิ่มโทษจำเลยกึ่งหนึ่งได้เพราะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3
พิพากษากลับ โดยให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share