แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ปัญหาว่า โจทก์ทั้งสองไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายในส่วนค่ารักษาพยาบาล ค่าทนทุกข์ทรมานและค่าเสียหายอื่นหรือไม่ มิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่ได้ให้การไว้ จึงไม่ใช่ประเด็นข้อพิพาทแห่งคดี ข้อนำสืบของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ที่ว่าโจทก์แถลงข้อเท็จจริงดังกล่าวไว้ตามสำเนารายงานกระบวนพิจารณา จึงเป็นการนำสืบนอกประเด็นถือเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามไม่ให้อุทธรณ์ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกโจทก์ในสำนวนแรกว่า โจทก์ที่ 1 เรียกโจทก์ในสำนวนหลังว่า โจทก์ที่ 2 และเรียกจำเลยทั้งสามทั้งสองสำนวนว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ตามลำดับ
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 267,000 บาท แก่โจทก์ที่ 1 และชำระเงิน 190,000 บาท แก่โจทก์ที่ 2 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ทั้งสองสำนวนให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ระหว่างพิจารณา โจทก์ทั้งสองยื่นคำร้องขอให้เรียกบริษัทวิริยะประกันภัย จำกัด เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต แต่หลังจากจำเลยร่วมยื่นคำให้การ โจทก์ทั้งสองยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 145,000 บาท แก่โจทก์ที่ 1 และชำระเงิน 40,000 บาท แก่โจทก์ที่ 2 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินแต่ละจำนวนนับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 26 พฤษภาคม 2551) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง กับให้จำเลยทั้งสามใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 7,000 บาท และ 3,000 บาท ตามลำดับ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ชนะคดี
จำเลยที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงในสำนวนหลัง
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 10,000 บาท แก่โจทก์ที่ 2 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 26 พฤษภาคม 2551) จนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์ 3,000 บาท แทนโจทก์ที่ 1 ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ระหว่างโจทก์ที่ 2 กับจำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า คดีนี้ต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายศาลฎีกาจำต้องถือข้อเท็จจริง ตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238 ประกอบมาตรา 247 ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัยรถตู้หมายเลขทะเบียน อล 3853 กรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 1 ขับรถตู้ดังกล่าวในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 โดยประมาทปราศจากความระมัดระวังชนรถยนต์หมายเลขทะเบียน ษค 5849 กรุงเทพมหานคร ของโจทก์ที่ 1 ที่โจทก์ที่ 2 เป็นผู้ขับ เป็นเหตุให้รถยนต์ของโจทก์ที่ 1 ได้รับความเสียหาย และโจทก์ทั้งสองได้รับอันตรายแก่กาย หลังเกิดเหตุพนักงานอัยการฟ้องจำเลยที่ 1 ฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้บุคคลอื่นได้รับอันตรายแก่กายและอันตรายสาหัสและทรัพย์สินของผู้อื่นเสียหาย จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดลงโทษจำคุก 1 ปี 6 เดือน และปรับ 18,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ มีกำหนด 3 ปี ตามสำเนาคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 1283/2551 ของศาลชั้นต้น คดีถึงที่สุดแล้ว
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ข้อที่โต้แย้งว่า โจทก์ทั้งสองแถลงต่อศาลในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1283/2551 ของศาลชั้นต้นว่าได้รับชดใช้ค่าเสียหายในส่วนค่ารักษาพยาบาล ค่าทนทุกข์ทรมานและค่าเสียหายอื่นจนเป็นที่พอใจแล้ว ไม่ติดใจเรียกร้องจากจำเลยที่ 1 อีก คงติดใจที่จะเรียกร้องเฉพาะค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถจากจำเลยที่ 3 เท่านั้น จำเลยทั้งสามจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสอง โดยเห็นว่าเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นนั้นชอบหรือไม่ เห็นว่า ปัญหาว่า โจทก์ทั้งสองไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายในส่วนค่ารักษาพยาบาล ค่าทนทุกข์ทรมานและค่าเสียหายอื่นหรือไม่ มิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่ได้ให้การไว้ จึงไม่ใช่ประเด็นข้อพิพาทแห่งคดี ข้อนำสืบของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ที่ว่าโจทก์แถลงข้อเท็จจริงดังกล่าวไว้ตามสำเนารายงานกระบวนพิจารณาเอกสารหมาย ล.2 จึงเป็นการนำสืบนอกประเด็นถือเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามไม่ให้อุทธรณ์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ