แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
การบอกเลิกสัญญาฝ่ายเดียวจะกระทำได้ต่อเมื่อมีข้อสัญญาหรือมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายบัญญัติให้อำนาจไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา386วรรคหนึ่งเท่านั้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2533 โจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเป็นบันทึกข้อตกลงเบื้องต้นเพื่อดำเนินกิจการร้านซุปเปอร์มาร์เก็ตภายใต้ระบบเซ็นทรัลมินิมาร์ทโดยโจทก์ยินยอมให้จำเลยที่ 1 มีสิทธิใช้ชื่อทางการค้า เครื่องหมายบริการเครื่องหมายการค้า รวมทั้งสัญญาลักษณ์รูปรอยประดิษฐ์ ดวงตราเครื่องแบบตลอดจนเครื่องหมายอื่น ๆ ของโจทก์ได้โดยเรียกรวมว่า”ระบบแฟรนไชส์” แต่ในวันดังกล่าวยังไม่ได้เข้าทำในรูปลักษณะสัญญาเนื่องจากจะต้องจดทะเบียนบริษัทจำเลยที่ 2 ก่อน วันที่ 10ตุลาคม 2533 จำเลยที่ 1 เปิดดำเนินกิจการค้าร้านซุปเปอร์มาร์เก็ตภายใต้ระบบเซ็นทรัลมินิมาร์ท และให้จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนผู้ติดต่อการค้ากับโจทก์ โจทก์คิดค่าแฟรนไชส์ในอัตราร้อยละ 3 ของยอดขายแต่ละเดือน จำเลยทั้งสองชำระค่าแฟรนไชส์ตลอดมาระหว่างวันที่ 25 กันยายน 2534 ถึงเดือนตุลาคม 2534 จำเลยทั้งสองได้ถอดป้ายชื่อร้านเซ็นทรัลมินิมาร์ทของโจทก์ออกแล้วนำป้ายชื่อร้านของจำเลยทั้งสองขึ้นติดตั้งแทน แต่ยังคงจัดร้านในรูปแบบเดิม โจทก์แจ้งให้จำเลยทั้งสองติดตั้งป้ายชื่อร้านของโจทก์ตามเดิม และให้จำเลยทั้งสองเข้าทำในลักษณะสัญญาใช้ชื่อทางการค้าของโจทก์ แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย การกระทำของจำเลยทั้งสองในฐานะตัวแทนสร้างความเสียหายแก่โจทก์ จำเลยทั้งสองต้องชำระค่าปรับแก่โจทก์เป็นเงิน 250,000 บาท จำเลยทั้งสองไม่มีสิทธิดำเนินกิจการโดยมีวัตถุประสงค์ดำเนินการค้าในรูปแบบซุปเปอร์มาร์เก็ตอันเป็นการผิดข้อตกลงเบื้องต้น การที่จำเลยทั้งสองปลดป้ายชื่อและเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทำให้ประชาชนเข้าใจว่าการค้าของโจทก์ประสบความล้มเหลว โจทก์คิดค่าเสียหายในส่วนนี้เป็นพิเศษเป็นเงิน 20,000,000 บาท จำเลยทั้งสองค้างชำระค่าสินค้าแก่โจทก์อยู่เป็นเงิน 328,292.76 บาทและค้างชำระค่าแฟรนไชส์ประจำเดือนสิงหาคม 2534 เป็นเงิน45,900.78 บาท กับค้างชำระค่าแฟรนไชส์งวดประจำเดือนกันยายน 2534 เป็นเงิน 45,900.78 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายกรณีไม่เข้าทำสัญญาใช้ชื่อทางการค้าของโจทก์เป็นเงิน 250,000 บาท กับให้ใช้ค่าเสียหายที่ทำให้โจทก์เสียชื่อเสียงและระบบการค้าแบบแฟรนไชส์เป็นเงิน 20,000,000บาท รวมทั้งให้ใช้ค่าสินค้าที่ค้างชำระเป็นเงิน 328,292.76 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดถึงวันฟ้องเป็นดอกเบี้ย 5,469.91 บาท รวมเป็นเงิน 333,762.67 บาทกับให้ใช้ค่าสิทธิในการใช้เครื่องหมายการค้าและค่าบริการ 2 งวดเป็นเงิน 91,801.56 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีคิดแต่วันผิดนัดจนถึงวันฟ้องเป็นดอกเบี้ย 1,329.87 บาทรวมเป็นเงิน 93,131.43 บาท รวมค่าเสียหายที่จำเลยทั้งสองจะต้องชำระแก่โจทก์เป็นเงินทั้งสิ้น 20,676,894.10 บาท ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของเงินจำนวน28,292.76 บาท และเงินจำนวน 91,801.56 บาท และอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินจำนวน 250,000 บาท และ20,000,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ให้จำเลยทั้งสองหยุดประกอบกิจการค้าซุปเปอร์มาร์เก็ต ไม่ดำเนินกิจการเอง หรือร่วมลงทุน หรือมีผลประโยชน์ร่วม หรือมีส่วนได้เสียหรือเข้าเกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นในรูปการเข้าเป็นหุ้นส่วนถือหุ้นร่วมทุนหรือเป็นลูกจ้างกับองค์การธุรกิจใด ๆ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการในลักษณะเดียวกับแบบซุปเปอร์มาร์เก็ตหรือมีความคล้ายคลึงกันกับกิจการที่โจทก์ดำเนินการอยู่เป็นเวลา 2 ปีนับแต่เดือนตุลาคม 2534 หากไม่หยุดประกอบกิจการให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าเสียหายตลอดเวลาที่ยังคงประกอบกิจการในอัตราร้อยละ 3 ของยอดขายแต่ละเดือนแก่โจทก์ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2534 จนกว่าจะหยุดประกอบกิจการ
จำเลยทั้งสองให้การว่า วิธีดำเนินการค้าของโจทก์มีข้อบกพร่อง โจทก์มิได้ปรับปรุงวิธีการดำเนินการค้าหรือให้ความช่วยเหลือแก่จำเลยทั้งสอง การค้าของจำเลยทั้งสองขาดทุนบ้างกำไรบ้าง โจทก์ไม่เคยทวงถามให้จำเลยทั้งสองเข้าทำสัญญาให้ใช้ชื่อทางการค้าของโจทก์ จำเลยทั้งสองไม่เคยเรียนรู้การค้าในระบบซุปเปอร์มาร์เก็ตจากโจทก์โจทก์เพียงแต่แนะนำให้บริษัทผู้ผลิตสินค้าส่งผู้แทนฝ่ายขายสินค้าแก่จำเลยทั้งสองโดยโจทก์ควบคุมราคาและเอากำไรจากจำเลยทั้งสอง ต่อมาวันที่17 กันยายน 2534 จำเลยทั้งสองมอบอำนาจให้ทนายความมีหนังสือขอบอกเลิกข้อตกลงเบื้องต้นแล้วเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าเสียหาย 250,000 บาทค่าสินค้าที่ค้างชำระ 328,292.76 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2534 ค่าใช้สิทธิ (แฟรนไชส์)เป็นเงิน 91,801.56 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 18 ตุลาคม 2534 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์และค่าเสียหายที่จำเลยที่ 2 ดำเนินกิจการซุปเปอร์มาร์เก็ตในลักษณะเดียวกับโจทก์ 480,000 บาท คำขออื่นให้ยกให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1
จำเลย ที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
จำเลย ที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยที่ 2 เป็นฝ่ายผิดสัญญาด้วยการไม่ยอมทำสัญญาใช้ชื่อทางการค้าตามบันทึกข้อตกลงเบื้องต้นเอกสารหมาย จ.5 ให้แก่โจทก์ และจำเลยที่ 2 ได้ปลดป้ายชื่อร้านเซ็นทรัลมินิมาร์ทออกจากร้านค้าของจำเลยที่ 2 แล้วติดตั้งชื่อร้านของจำเลยที่ 2 แทนโดยยังคงดำเนินธุรกิจร้านค้ารูปแบบและจำหน่ายสินค้าเช่นเดียวกับร้านเซ็นทรัลมินิมาร์ทของโจทก์ตามเดิมจำเลยที่ 2 จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาต่อโจทก์ ส่วนที่จำเลยที่ 2อ้างว่าจำเลยที่ 2 ได้บอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ตามหนังสือบอกเลิกสัญญาเอกสารหมาย ล.5 แล้วนั้น เห็นว่า การบอกเลิกสัญญาฝ่ายเดียวได้จะต้องมีข้อสัญญาหรือมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายบัญญัติให้อำนาจไว้ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 386 วรรคหนึ่ง เท่านั้น แต่ตามสัญญาบันทึกข้อตกลงเบื้องต้นเอกสารหมาย จ.5 ไม่มีข้อกำหนดว่า จำเลยที่ 2 จะเลิกสัญญาได้ในกรณีใดบ้าง แม้จำเลยที่ 2 จะนำสืบว่าจำเลยที่ 2 ได้มีหนังสือติเตียนและต่อว่าโจทก์ไปยังโจทก์ให้จัดการบริหารงานในร้านค้าเซ็นทรัลมินิมาร์ทที่จำเลยที่ 2 ดำเนินการอยู่ให้เรียบร้อยและจำเลยที่ 2 ได้ขอคำชี้แจงจากโจทก์แล้วตามเอกสารหมาย ล.2และ ล.3 ก็ตาม แต่โจทก์ก็อ้างว่าโจทก์ได้มีหนังสือเอกสารหมายล.4 ชี้แจงและเสนอแนะแก่จำเลยที่ 2 เกี่ยวกับการจัดหน้าร้านการจัดวางสินค้า รวมทั้งการสั่งซื้อและการคืนสินค้าแล้ว ซึ่งจำเลยที่ 2 ก็ไม่ได้ปฏิเสธความข้อนี้ แสดงว่าโจทก์ได้ให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาแก่จำเลยที่ 2 เป็นอย่างดีกรณีจึงมิได้เป็นดังที่จำเลยที่ 2 อ้าง นอกจากนี้ยังได้ความว่าหลังจากจำเลยที่ 2 บอกเลิกสัญญาแก่โจทก์แล้วจำเลยที่ 2ก็ยังคงดำเนินธุรกิจร้านค้าซุปเปอร์มาร์เก็ตในรูปแบบเดิมเช่นเดียวกับร้านค้าซุปเปอร์มาร์เก็ตเซ็นทรัลมินิมาร์ทที่จำเลยที่ 2ดำเนินกิจการอยู่เดิมทุกประการ จากคำเบิกความของจำเลยที่ 1ที่ว่าถ้าปิดกิจการจำเลยที่ 2 ก็จะขาดทุนหากเปิดกิจการให้ดำเนินการต่อไปอาจฟื้นทุนได้ แสดงให้เห็นว่าการดำเนินกิจการร้านค้าเซ็นทัลมินิมาร์ทที่จำเลยที่ 2 ดำเนินกิจการอยู่ย่อมมีผลกำไรหาได้ขาดทุนดังที่จำเลยที่ 2 นำสืบไม่ จึงไม่มีเหตุตามกฎหมายที่จำเลยที่ 2 จะบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ได้การที่จำเลยที่ 2 บอกเลิกสัญญาแต่ฝ่ายเดียวจึงไม่ชอบ เมื่อโจทก์เรียกร้องให้จำเลยที่ 2 ทำสัญญาใช้ชื่อทางการค้าของโจทก์ในรูปแบบของหนังสือสัญญา แต่จำเลยที่ 2ไม่ยอมปฏิบัติตาม และจำเลยที่ 2 ยังคงดำเนินกิจการค้าในรูปแบบร้านค้าซุปเปอร์มาร์เก็ตเช่นเดียวกับร้านเซ็นทรัลมินิมาร์ทที่จำเลยที่ 2 ดำเนินกิจการอยู่เดิมจำเลยที่ 2 ก็ได้ชื่อว่าเป็นฝ่ายผิดสัญญาตามบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย จ.5 จำเลยที่ 2จะต้องชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินค่าปรับตามสัญญาจำนวน250,000 บาท ให้แก่โจทก์ และจำเลยที่ 2 ยังคงมีความผูกพันตามสัญญาต่อโจทก์อยู่ จำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิที่จะดำเนินธุรกิจการค้าในรูปแบบร้านค้าซุปเปอร์มาร์เก็ตลักษณะเดียวกันกับร้านค้าซุปเปอร์มาร์เก็ตเซ็นทรัลมินิมาร์ทของโจทก์”
พิพากษายืน