แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
แม้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 573 จะเป็นบทบัญญัติให้สิทธิผู้เช่าซื้อเลิกสัญญาในกรณีที่ไม่มีการผิดนัดสัญญา แต่เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ให้เช่าซื้อผิดสัญญาเพราะไม่จัดการแก้ไขให้ทรัพย์ที่ให้เช่าซื้ออยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ จำเลยก็มีสิทธิเลิกสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 ได้ เมื่อจำเลยผู้เช่าซื้อใช้สิทธิเลิกสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 แล้ว การชำระหนี้อันเกิดแต่การเลิกสัญญามาตรา 392 บัญญัติให้เป็นไปตามมาตรา 369 และคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจึงต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตามมาตรา 391 โจทก์ต้องคืนเงินค่าเช่าซื้อที่ได้รับคืนให้แก่จำเลยแต่เงินค่าเช่าซื้อมิใช่ราคาทรัพย์อย่างเดียว หากแต่เป็นค่าเช่ารวมอยู่ด้วย ซึ่งโจทก์มีสิทธิได้รับค่าเช่าในระหว่างที่จำเลยครอบครองและใช้ประโยชน์ในทรัพย์ที่เช่าซื้ออยู่ จึงต้องหักค่าเช่าออกจากจำนวนค่าเช่าซื้อที่ต้องคืนจำเลยให้โจทก์เสียก่อน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเช่าซื้อเครื่องฟรีสครูสแอร์ จากโจทก์ 2 เครื่อง โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อบางส่วนแล้วผิดสัญญา ต่อมาจำเลยที่ 1บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อโจทก์จึงมีสิทธิริบค่าเช่าซื้อที่ได้ชำระแล้วและจำเลยมีหน้าที่ต้องส่งมอบเครื่องฟรีสดังกล่าวคืนโจทก์ จำเลยไม่ส่งคืน ขอให้จำเลยทั้งสองคืนเครื่องฟรีสและชดใช้ค่าเสียหายจำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้งว่า เครื่องฟรีสทั้งสองเครื่องใช้การไม่ได้ จำเลยที่ 1 ให้โจทก์จัดการแก้ไข โจทก์ก็ไม่จัดการจำเลยที่ 1 จึงบอกเลิกสัญญาและให้โจทก์มารับเครื่องฟรีสคืนโจทก์ไม่มารับคืน จำเลยมีสิทธิได้รับเงินค่าเช่าซื้อที่ได้ชำระไปแล้วคืน ขอให้ยกฟ้องและบังคับโจทก์ชำระเงินคืนพร้อมดอกเบี้ยโจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า เมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกัน โจทก์มีสิทธิริบเงินค่าเช่าซื้อที่ได้ชำระไปแล้วทั้งหมด ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองคืนเครื่องฟรีสแก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ก็ให้ชำระราคา คำขออื่นให้ยก โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้โจทก์คืนเงินค่าเช่าซื้อแก่จำเลยพร้อมดอกเบี้ย โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงตามฟ้องคำให้การและที่คู่ความนำสืบรับกันฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2522 และวันที่30 มีนาคม 2522 จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเช่าซื้อเครื่องฟรีส ครูสแอร์ ของโจทก์ไป 2 เครื่อง ราคาเครื่องละ475,000 บาท ชำระเงินวันสั่งจองเครื่องละ 20,000 บาท วันรับสินค้าเครื่องละ 80,000 บาท ส่วนที่เหลือเครื่องละ 375,000 บาท ชำระงวดละ 31,250 บาท มีกำหนด 12 งวด งวดแรกชำระหลังจากส่งสินค้าแล้ว 60 วัน จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันปรากฏตามหนังสือสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.4จำเลยที่ 1 ได้ชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์ไปแล้วรวมเป็นเงิน456,250 บาท คงค้างชำระอยู่ 493,750 บาท เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน2523 โจทก์กับจำเลยทั้งสองได้ทำสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาเช่าซื้อจำเลยที่ 1 ยอมชำระค่าเช่าซื้อเดือนละ 45,000 บาท มีกำหนด 10 เดือนเดือนที่ 11 ชำระค่าเช่าซื้อ 43,750 บาท และได้สั่งจ่ายเช็ครวม11 ฉบับมอบให้โจทก์ไว้ ปรากฏตามสัญญาเอกสารหมาย ล.1 หลังจากทำสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาเช่าซื้อ จำเลยที่ 1 ไม่ได้ชำระค่าเช่าซื้อ และต่อมาวันที่ 9 มีนาคม 2525 จำเลยที่ 1 ได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาตามเอกสารหมาย ล.2 ประเด็นข้อพิพาทมีว่าโจทก์หรือจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญา และจะต้องรับผิดต่อกันเพียงใด ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยนำสืบก่อน จำเลยทั้งสองนำสืบว่าจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเช่าซื้อเครื่องฟรีส ครูสแอร์ ไปจากโจทก์2 เครื่อง ราคา 950,000 บาท ชำระเงินครั้งแรกเครื่องละ 100,000 บาทชำระค่าเช่าซื้องวดละ 31,250 บาทต่อเครื่อง จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน จำเลยที่ 1 ได้ชำระเงินให้โจทก์ไปรวมเป็นเงิน 456,250บาท คงค้างชำระ 493,750 บาท เครื่องฟรีสเสียใช้การไม่ได้โจทก์กับจำเลยทั้งสองจึงได้ตกลงทำสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาเช่าซื้อเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2523 ตามเอกสารหมาย ล.1 ตามสัญญาโจทก์จะต้องแก้ไขปรับปรุงเครื่องฟรีสให้อยู่ในสภาพใช้งานได้ โจทก์ไม่จัดการแก้ไขปรับปรุง ต่อมาวันที่ 9 มีนาคม 2524 จำเลยที่ 1จึงได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาแจ้งให้โจทก์มารับเครื่องฟรีสคืนไปพร้อมกับชำระเงินคืนแก่จำเลยที่ 1 โจทก์ไม่ไปรับเครื่องฟรีสคืนและฟ้องจำเลยทั้งสอง
โจทก์นำสืบว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเช่าซื้อเครื่องฟรีส ครูสแอร์ ไปจากโจทก์ จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันและเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2523 โจทก์จำเลยทั้งสองได้ทำสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาเช่าซื้อตามเอกสารหมาย ล.1 จำเลยที่ 1ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อแก่โจทก์ และวันที่ 9 มีนาคม 2524จำเลยที่ 1 ได้บอกเลิกสัญญาตามเอกสารหมาย ล.2 อ้างว่าเครื่องฟรีสใช้การไม่ได้ ให้โจทก์ไปรับเครื่องฟรีสคืนและให้คืนเงินที่ได้ชำระไปแล้ว โจทก์เห็นว่าโจทก์มีสิทธิริบเงินค่าเช่าซื้อที่ชำระมาแล้วและมีสิทธิเรียกค่าเสียหายจึงได้แจ้งให้จำเลยทั้งสองทราบ และได้ฟ้องให้ จำเลยทั้งสองรับผิด
พิเคราะห์แล้ว ที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ได้จัดการแก้ไขปรับปรุงเครื่องฟรีสให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้แล้ว ไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญานั้น ตามคำเบิกความของนายเหม มาลาไพบูลย์ พยานโจทก์ว่าก่อนติดตั้งเครื่องฟรีสโจทก์ได้ส่งช่างเทคนิคไปสำรวจห้องเย็นในเรือของจำเลยที่ 1 แนะนำให้จำเลยที่ 1 ซื้อเครื่องฉุดที่มีกำลังสูงกว่าเครื่องฟรีส พยานได้ไปติดตั้งเครื่องฟรีสในเรือพาราสมุทร 5และพาราสมุทร 7 ให้จำเลยที่ 1 นายสารวิทย์ วัฒนวิทย์ พยานโจทก์เบิกความว่าติดตั้งแต่ระยะแรกไม่มีปัญหา และนายเลิศ เวียร่าพยานโจทก์เบิกความว่า ได้ร่วมติดตั้งเครื่องฟรีสในเรือพาราสมุทร 5และพาราสมุทร 7 ของจำเลยที่ 1 เรียบร้อยแล้ว เรือได้ออกไปจับปลาที่ประเทศบาห์เรน ต่อมาอีก 2-3 เดือน มีปัญหาขัดข้อง เครื่องฉุดที่ซื้อมามีกำลังไม่พอเครื่องฟรีสไม่ทำความเย็นจำเลยที่ 1 ได้แจ้งให้โจทก์ไปจัดการแก้ไขปรับปรุงปรากฏตามคำเบิกความของนายเหมว่าได้แนะนำให้จำเลยที่ 1 ซื้อเครื่องฉุดที่มีกำลังสูงกว่าเครื่องฟรีสก่อนติดตั้งและนายเลิศเบิกความว่าได้แนะนำให้จำเลยติดตั้งเครื่องควบคุมระดับการเดินของเครื่องฉุด ตามคำเบิกความของนายเหมนายสารวิทย์และนายเลิศ ไม่ปรากฏว่าหลังจากทำสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาเช่าซื้อเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2523 แล้วโจทก์ได้จัดการแก้ไขปรับปรุงเครื่องฟรีสให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้แล้วแต่อย่างใดต่อมาเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2524 จำเลยที่ 1 จึงได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อตามเอกสารหมาย ล.2 และโจทก์ตกลงยอมเลิกสัญญาตามเอกสารหมาย ล.4 โดยมิได้โต้แย้งคัดค้านว่าจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญาแต่อย่างใด ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ไม่จัดการแก้ไขปรับปรุงเครื่องฟรีสให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ภายหลังจากทำสัญญาตามเอกสารหมาย ล.1 โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา
ที่โจทก์ฎีกาว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ เงินค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1 ได้ชำระไปแล้วจำเลยที่ 1 จะเรียกคืนไม่ได้และจะนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 369 ซึ่งเป็นบทบัญญัติทั่วไปมาใช้กับสัญญาเช่าซื้อมีบัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้วหาได้ไม่นั้น เห็นว่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 572 ผู้เช่าจะบอกเลิกสัญญาในเวลาใดเวลาหนึ่งก็ได้นั้นเป็นบทบัญญัติให้สิทธิผู้เช่าซื้อที่จะเลิกสัญญาในกรณีที่ไม่มีการผิดนัดผิดสัญญา ข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรากฏว่าโจทก์ไม่จัดการแก้ไขปรับปรุงเครื่องฟรีสให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ จำเลยที่ 1ได้บอกเลิกสัญญาตามความในมาตรา 387 การชำระหนี้ของคู่สัญญาอันเกิดแต่การเลิกสัญญานั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 392 ให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งมาตรา 369 และเมื่อจำเลยที่ 1ใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้ว คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม แต่เงินค่าเช่าซื้อจำนวน456,250 บาทที่จำเลยที่ 1 ได้ชำระแก่โจทก์ไปแล้ว มิใช่ราคาค่าเครื่องฟรีสแต่อย่างเดียว หากแต่เป็นค่าเช่าเครื่องฟรีสอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งโจทก์มีสิทธิได้รับค่าเช่าในระหว่างที่จำเลยที่ 1ครอบครองและใช้ประโยชน์เครื่องฟรีสอยู่ จึงต้องหักให้โจทก์เป็นค่าเช่าจากจำนวนเงินที่โจทก์จะต้องส่งคืนแก่จำเลยที่ 1เมื่อพิเคราะห์ถึงระยะเวลาที่จำเลยที่ 1 ได้ใช้เครื่องฟรีสของโจทก์ และทางได้เสียของโจทก์ประกอบแล้ว เห็นสมควรให้โจทก์ได้ค่าเช่าเป็นเงิน 96,000 บาท โจทก์จึงต้องคืนเงินจำนวน 360,250บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 23มิถุนายน 2523 แก่จำเลยที่ 1 ศาลฎีกาไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ฎีกาโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์คืนเงิน 360,250 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2523 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์