คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 288/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ถูกกล่าวหาว่าทุจริต และปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และถูกดำเนินคดีทั้งทางอาญาและทางแพ่ง จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างจึงมีคำสั่งพักงานโจทก์ เพื่อรอฟังผลของคดี สำหรับคดีอาญา ศาลพิพากษายกฟ้องคดีถึงที่สุดส่วนคดีแพ่งอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาดังนี้ โจทก์จึงเป็นผู้สุจริตและไม่มีมลทินมัวหมอง การสอบสวนเป็นอันสิ้นสุดเพราะตามข้อบังคับฯ จำเลยไม่มีอำนาจพักงานเพื่อรอฟังผลในคดีแพ่ง โจทก์จึงมีสิทธิกลับเข้าทำงานดังเดิม มีสิทธิได้รับค่าจ้างในระหว่างพักงานมีสิทธิขอลาออกและมีสิทธิขอให้จำเลยพิจารณาการลาออก แต่ขณะที่พิพาทเป็นคดีนี้ โจทก์หาได้กลับเข้าทำงานไม่ และยังไม่ได้รับการอนุมัติให้ลาออก ก็กลับมาฟ้องเสียก่อนว่าโจทก์ได้กลับเข้าทำงานแล้ว และได้รับอนุมัติให้ลาออกแล้ว มีสิทธิได้รับเงินต่าง ๆ ในระหว่างถูกพักงาน และเงินต่าง ๆ ที่จะได้หลังจากลาออกแล้ว ซึ่งเป็นการฟ้องก่อนสิทธิเกิดขึ้น ชั้นนี้โจทก์พึงดำเนินการตามสิทธิต่าง ๆ นั้นให้เรียบร้อยก่อน จึงจะมีอำนาจฟ้องคดีนี้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยดำเนินคดีอาญาแก่โจทก์กับพวกและพักงานโจทก์ในคดีดังกล่าว ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง จำเลยมีหน้าที่จะต้องรับโจทก์กลับเข้าทำงานและจ่ายค่าจ้างค่าสวัสดิการและเงินเพิ่มช่วยเหลือต่าง ๆ แต่โจทก์ไม่ประสงค์กลับเข้าทำงาน จึงได้ขอลาออกและขอรับเงินค่าจ้างและเงินอื่น ๆ ตามสิทธิ จำเลยไม่ชำระ ขอให้ศาลบังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 920,565.56 บาทพร้อมดอกเบี้ย จำเลยให้การว่าโจทก์ถูกฟ้องเป็นคดีแพ่งซึ่งยังไม่ถึงที่สุดและอยู่ในระหว่างการสอบสวนทางวินัย โจทก์ยังไม่มีสิทธิลาออก การลาออกของโจทก์ยังไม่รับอนุมัติ และโจทก์ไม่มีสิทธิขอเรียกค่าจ้างระหว่างพักงานศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ตามข้อบังคับฯ เอกสารหมาย จ.1 (ข้อบังคับองค์การทอผ้าว่าด้วยการพักงาน พ.ศ. 2522) การพักงานมีปรากฏอยู่ในหมวด 7 การลงโทษทางวินัย ข้อ 45 ซึ่งมีความว่า”เมื่อพนักงานผู้ใดถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงจนถูกตั้งกรรมการสอบสวน หรือต้องหาว่ากระทำผิดอาญา เว้นแต่คดีความผิดที่เป็นลหุโทษหรือความผิดที่มีกำหนดชั้นลหุโทษ หรือความผิดอันได้กระทำโดยประมาทถ้าผู้อำนวยการเห็นว่าจะให้คงอยู่ในหน้าที่จะเป็นการเสียหายแก่งานแล้ว จะสั่งให้ผู้นั้นพักงานเพื่อรอฟังผลแห่งการพิจารณาหรือสอบสวนก็ได้ เว้นแต่เป็นพนักงานชั้นที่ขึ้นตรงต่อผู้อำนวยการ ให้อยู่ในดุลพินิจของคณะกรรมการ”ตามข้อบังคับดังกล่าวข้างต้น การพักงานจะมีได้แต่กรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงจนถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนกรณีหนึ่ง กับกรณีต้องหาว่าทำผิดอาญาอีกกรณีหนึ่งเท่านั้น ส่วนการถูกฟ้องคดีแพ่งหาได้มีข้อกำหนดให้จำเลยสั่งพักงานพนักงานผู้ถูกฟ้องไม่ อุทธรณ์โจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
ตามอุทธรณ์ข้อ 5 ที่โจทก์อ้างเอกสารที่ ก.ห.5300.1/5688 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2529 นั้นเมื่อตรวจพิเคราะห์ข้อความที่โจทก์อ้างอิงแล้ว เห็นว่า น่าจะหมายถึงเรื่องที่คณะกรรมการพิจารณาการจ่ายเงินตามสิทธิต่าง ๆ และการขอกลับเข้าทำงานของพนักงานที่ถูกพักงานที่จำเลยแต่งตั้งขึ้นแล้วนำเสนอที่ประชุมสามัญครั้งที่ 2งป.2530 เมื่อวันอังคารที่ 25 พฤศจิกายน 2529 เอกสารหมาย จ.2มากกว่า (ซึ่งจำเลยได้อ้างมาอีกฉบับหนึ่งเช่นกันตามเอกสารหมาย ล.2)เพราะข้อความในบรรทัดที่โจทก์ระบุอ้างอิงนั้นตรงกับข้อความในเอกสารหมาย จ.2 ทุกประการ ข้อความดังกล่าวนั้นมีปรากฏอยู่ในข้อ 3 ที่ว่า”…ส่วนพนักงานอีก 4 คนที่เกี่ยวข้องคือ นายสมบุญฯนายประเสริฐฯ นายไพโรจน์ฯ และนางนุจรินทร์ฯ นั้น ให้ส่งเรื่องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีทางอาญา โดยไม่ลงโทษทางวินัยตามที่คณะกรรมการสอบสวนฯ ได้พิจารณาเสนอมาก่อนแล้ว จึงเป็นการสละสิทธิที่จะพิจารณาลงโทษพนักงานดังกล่าวโดยมอบให้ศาลเป็นผู้พิจารณาซึ่งความผิดของพนักงานทั้ง 4 แทน ดังนั้น เมื่อคดีถึงที่สุดแล้วและศาลมีคำสั่งพิพากษายกฟ้อง จึงถือได้ว่า พนักงานทั้ง 4นั้นเป็นผู้สุจริตและไม่มีมลทินมัวหมอง” อุทธรณ์โจทก์ที่ว่าโจทก์เป็นผู้สุจริตและไม่มีมลทินมัวหมองจึงฟังขึ้นว่าโดยปกติโจทก์ก็ควรจะได้รับกลับเข้าทำงานและได้รับค่าจ้างระหว่างถูกพักงานเช่นเดียวกับผู้ที่ถูกพักงานและถูกฟ้องเป็นคดีอาญาร่วมกันตามอุทธรณ์ข้อ 2 ดังที่เอกสารหมาย จ.2 ข้อ 4 ระบุว่า “…เมื่อปรากฏตามคำพิพากษาว่าพนักงานทั้ง 4 ไม่มีความผิด อ.ท.ผ. จึงต้องออกคำสั่งให้พนักงานทั้ง 4 กลับเข้าทำงานใหม่โดยทำงานในตำแหน่งเดิมหรือเทียบเท่าตามข้อบังคับองค์การทอผ้า ว่าด้วยการพนักงาน พ.ศ. 2523ข้อ 46” และตามเอกสารหมาย จ.2 ข้อ 5 ที่ว่า “เมื่อ อ.ท.ผ.มีคำสั่งให้พนักงาน 4 คนกลับเข้าทำงานใหม่แล้ว จึงพิจารณาจ่ายเงินตามสิทธิของพนักงานดังกล่าวคือ เงินเดือนในระหว่างถูกพักงาน…”ซึ่งต่อมาวันที่ 1 ธันวาคม 2529 จำเลยก็ได้มีคำสั่งให้นายสมบุญแก้วความครัญ และนายไพโรจน์ สุทธินันท์ กลับเข้าทำงานและรับค่าจ้างในระหว่างถูกพักงาน ดังปรากฏตามคำสั่งองค์การทอผ้าที่ 258/2529 เอกสารหมาย จ.7 แผ่นแรก และให้นางนุจรินทร์ ทองสนิทกลับเข้าทำงานเช่นกันโดยให้จ่ายค่าจ้างครึ่งหนึ่ง ดังคำสั่งองค์การทอผ้าที่ 257/2529 เอกสารหมาย จ.7 แผ่นที่ 2 แต่สำหรับกรณีของโจทก์นี้ เอกสารหมาย จ.2 ข้อ 6 ระบุว่า “…ส่วนนายประเสริฐฯซึ่งขอลาออกนั้น อ.ท.ผ. จะต้องออกคำสั่งให้กลับเข้าทำงานใหม่ด้วยจึงมีคำสั่งอนุมัติให้ลาออกได้ แล้วจึงพิจารณาจ่ายเงินตามข้อบังคับองค์การทอผ้าว่าด้วยการพนักงาน พ.ศ. 2523 ข้อ 47(1) ต่อไป”เอกสารหมาย จ.2 นี้ทำเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2529 แต่แล้วจำเลยก็หาได้มีคำสั่งให้โจทก์กลับเข้าทำงานดังเช่น นายสมบุญแก้วความครัญ นายไพโรจน์ สุทธินันท์ และนางนุจรินทร์ ทองสนิทไม่ กรรมการและเลขานุการกลับเสนอแนะต่อประธานกรรมการของจำเลยให้พักงานรอฟังผลคดีแพ่งต่อไปอีกดังปรากฏตามเอกสารหมาย จ.2แผ่นที่ 4 ข้อ 3 ที่ว่า “สำหรับนายประเสริฐ แจ่มใจ ได้ขอลาออกโดยไม่กลับเข้าทำงานและคดีแพ่งยังไม่ถึงที่สุด ให้รอไว้ก่อน หากคดีแพ่งถึงที่สุด และไม่มีความผิดก็สั่งให้กลับเข้าทำงานตั้งแต่วันสั่งพักงานเช่นเดียวกับนายสมบุญ แก้วความครัญและนายไพโรจน์สุทธินันท์ แล้วให้ออกจากงานตามที่ขอลาตั้งแต่วันขอลาออกหากคดีแพ่งถึงที่สุด และมีความผิดก็ไม่สั่งให้กลับเข้าทำงาน เพราะเลยกำหนดวันลาออกไปแล้ว คงให้ออกจากงานตามที่ขอลาในระหว่างพักงานโดยไม่ได้รับเงินเดือนระหว่างพักงานคงได้แต่เงินบำเหน็จเช่นผู้ขอลาออกทั่วไป” ศาลฎีกาเห็นว่าข้อเสนอแนะเช่นว่านั้นจำเลยจะปฏิบัติตามหาได้ไม่ ด้วยเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับฯ เอกสารหมาย จ.1 ข้อ45 ตามที่ได้วินิจฉัยไว้แล้วในอุทธรณ์ข้อ 1 และเป็นการฝ่าฝืนต่อคำสั่งพักงานเอกสารหมาย ล.6 จำเลยชอบที่จะมีคำสั่งให้รับโจทก์กลับเข้าทำงานดุจเดียวกับ นายสมบุญ แก้วความครัญ นายไพโรจน์สิทธินันท์ และนางนุจรินทร์ ทองสนิท ส่วนการขอลาออกย่อมเป็นเรื่องที่จะพิจารณาในชั้นหลังอีกครั้งหนึ่งตามความเห็นของคณะกรรมการพิจารณาการจ่ายเงินตามสิทธิต่าง ๆ และการขอกลับเข้าทำงาน เอกสารหมาย จ.2 ข้อ 3 ข้อ 4 และข้อ 5
ที่โจทก์อุทธรณ์ตามข้อ 3 และข้อ 4 ว่า โจทก์ได้รับการอนุมัติให้ลาออกแล้วนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าไม่เป็นเช่นนั้น เพราะโจทก์ยังไม่ได้กลับเข้าทำงานใหม่เป็นประการแรก และตามบันทึกข้อความที่ขอลาออก ผู้รักษาการแทนผู้อำนวยการของจำเลยเกษียณสั่งเพียงว่า”เสนอฝ่ายการพนักงาน ขอทราบรายละเอียดและขอให้แนบสำเนาคำสั่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องมาด้วย” และมีการเกษียณสั่งต่อไปอีกว่า”ฝ. การพนักงาน ดำเนินการ” ศาลฎีกาเห็นว่าคำสั่งตามที่กล่าวข้างต้นนั้นยังถือไม่ได้ว่าเป็นคำสั่งให้โจทก์ลาออกได้เป็นประการที่สอง สำหรับคำสั่งของพลตรีประทวน กิตติรัตน์ ผู้อำนวยการของจำเลยในขณะนั้นมีเพียงว่า “ด่วนมาก เสนอฝ่ายบัญชี ขอทราบผลการคิดเงินของนายประเสริฐ แจ่มใจ ด่วนด้วยเพื่อรวบรวมเข้าที่ประชุมคณะกรรมการใน 29 ก.ค. 29″ นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า คำสั่งตามที่กล่าวข้างต้นเป็นเพียงขอทราบข้อเท็จจริงบางประการเท่านั้นจะถือเป็นคำสั่งอนุมัติการลาออกหาได้ไม่ เมื่อกรณีเป็นดังนี้บันทึกข้อความที่โจทก์ยอมให้หักเงินค่าจ้างอันจะพึงได้รับในระหว่างพักงานตามเอกสารหมาย จ.3 ที่ทำขึ้นภายหลังจึงไม่มีผลในตัวเองที่จะถือว่าบันทึกข้อความขอลาออกตามเอกสารหมาย จ.5 ได้รับการอนุมัติแล้ว
กล่าวโดยสรุป ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์เป็นผู้สุจริตและไม่มีมลทินมัวหมอง การสอบสวนเป็นอันสิ้นสุดตามข้อบังคับฯ เอกสารหมาย จ.1 จำเลยไม่มีอำนาจพักงานเพื่อรอฟังผลในคดีแพ่ง โจทก์มีสิทธิกลับเข้าทำงานดังเดิมมีสิทธิได้รับค่าจ้างในระหว่างพักงาน มีสิทธิขอลาออก มีสิทธิขอให้จำเลยพิจารณาการลาออก แต่ขณะที่พิพาทกันเป็นคดีนี้โจทก์ยังหาได้กลับเข้าทำงานไม่และยังไม่ได้รับการอนุมัติให้ลาออก โจทก์กลับด่วนมาฟ้องเสียก่อนว่าโจทก์ได้กลับเข้าทำงานแล้ว และได้รับอนุมัติให้ลาออกแล้ว มีสิทธิได้รับเงินต่าง ๆ ในระหว่างถูกพักงานและเงินต่าง ๆ ที่จะได้หลังจากลาออกแล้ว ซึ่งเป็นการฟ้องก่อนสิทธิเกิดขึ้น ชั้นนี้ โจทก์พึงดำเนินการตามสิทธิต่าง ๆ ตามที่กล่าวข้างต้นนั้นให้เรียบร้อยก่อน โจทก์จึงจะมีอำนาจฟ้องคดีนี้ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ตามประเด็นข้อแรกนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล”
พิพากษายืน

Share