คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 532/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 2 ไปแล้ว การที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์รวมกันมาซึ่งอุทธรณ์แต่ละข้อเป็นการกล่าวอ้างเหตุเพื่อไม่ให้จำเลยทั้งสองต้องรับผิดตามฟ้อง ดังนี้ อุทธรณ์เฉพาะในส่วนของจำเลยที่ 2 ถือได้ว่าเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ได้โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ชอบที่จะไม่รับวินิจฉัย การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 มาด้วยจึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาย่อมยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในส่วนนี้เสียและในชั้นฎีกาจำเลยที่ 2 ยังยื่นฎีการวมกันมากับจำเลยที่ 1 อีกในปัญหาเดียวกันกับในชั้นอุทธรณ์ ดังนั้นฎีกาในส่วนของจำเลยที่ 2จึงเป็นฎีกาที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ต้องห้ามฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ฟ้องที่ไม่มีลายมือชื่อผู้เรียงและพิมพ์นั้น เพียงเป็นฟ้องที่ไม่บริบูรณ์ ซึ่งศาลมีอำนาจที่จะสั่งให้แก้ไขให้บริบูรณ์ได้ได้ความว่า ทนายโจทก์ได้ลงลายมือชื่อในฐานะโจทก์ในคำฟ้องเพียงแต่ได้พิมพ์ชื่อ อ. ทนายความในสำนักงานเดียวกันในช่องผู้เรียงและพิมพ์โดยไม่ได้ลงลายมือชื่อ ซึ่งศาลชั้นต้นตรวจสั่งรับคำฟ้องไว้แล้ว และต่อมาทนายโจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องว่า ทนายโจทก์เป็นผู้เรียงและพิมพ์ แม้ศาลชั้นต้นจะมิได้สั่งคำร้องดังกล่าวก็ถือได้ว่าโจทก์ได้แก้ไขคำฟ้องให้บริบูรณ์และชอบด้วยกฎหมายแล้ว จำเลยที่ 1 ให้การว่าจำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดชำระค่าดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกร้องเพราะโจทก์ไม่มีนิติสัมพันธ์ใดกับจำเลยที่ 1จำเลยที่ 1 ได้หักกลบลบหนี้ที่มีอยู่กับโจทก์หมดสิ้นแล้ว ดังนี้คำให้การของจำเลยที่ 1 เป็นคำให้การปฏิเสธโดยชัดแจ้งว่าโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 เพราะโจทก์จำเลยที่ 1 ไม่มีหนี้สินต่อกัน คำให้การของจำเลยที่ 1 จึงก่อให้เกิดประเด็นว่าโจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 หรือไม่ ส่วนที่จำเลยที่ 1ให้การว่าดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกร้องมาก็คำนวณอย่างคลุมเครือเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดนั้น ศาลชั้นต้นมิได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ และจำเลยที่ 1 มิได้โต้แย้งคัดค้าน จึงถือว่าเป็นข้อที่ไม่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้น จะยกขึ้นอุทธรณ์ฎีกาไม่ได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีนายนาโอมาซะ ทานากา หรือนายยาซูฮิโร คาโต เป็นผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัท กระทำการแทนโจทก์โจทก์ได้มอบอำนาจให้นายวีระวุฒิ วีระกันต์ ฟ้องและดำเนินคดีแทนตามหนังสือมอบอำนาจท้ายฟ้อง จำเลยทั้งสองได้สั่งซื้อสินค้าประเภทเคมีภัณฑ์จากโจทก์รวม 25 ครั้ง คิดเป็นเงิน 962,225 บาท ซึ่งสินค้าทั้งหมดถึงกำหนดชำระแล้ว ต่อมาประมาณเดือนกันยายน 2529 โจทก์ได้รับสินค้าคืนจากจำเลยคิดเป็นเงิน 96,000 บาท หักกลบลบหนี้แล้วเหลือค่าสินค้าที่ค้างชำระอยู่อีกเป็นเงิน 866,225 บาท โจทก์ทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้แล้วแต่ยังเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงิน 943,413 บาท และดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองให้การและแก้ไขคำให้การว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลมีนายนาโอมาซะ ทานากา หรือนายยาซูฮิโร คาโต เป็นกรรมการผู้มีอำนาจหรือไม่ไม่รับรอง เพราะปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงคณะกรรมการชุดใหม่แล้ว ลายมือชื่อผู้มอบอำนาจเป็นลายมือชื่อปลอม เพราะผู้มอบอำนาจเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นนานแล้ว ทนายโจทก์ที่ลงชื่อในคำขอท้ายฟ้อง เป็นคนละคนกับที่พิมพ์ชื่อในช่องผู้เรียงและพิมพ์และทนายโจทก์ไม่ได้ลงชื่อในช่องผู้เรียงและพิมพ์ ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องที่มิชอบด้วยกฎหมาย จำเลยทั้งสองได้ชำระหนี้ค่าสินค้าแก่โจทก์ และยังมีการหักกลบลบหนี้กันจนจำเลยไม่ได้ติดค้างแก่โจทก์จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2จำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์เพราะไม่มีนิติสัมพันธ์ใด ๆ กับโจทก์ ทั้งดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกมาก็คำนวณคลุมเครือ เกินอัตราที่กฎหมายกำหนด จึงเป็นโมฆะ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินให้โจทก์866,225 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับตั้งแต่หนี้ตามสินค้าแต่ละครั้งถึงกำหนด (ตามเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.10โดยหักหนี้ 96,000 บาท จากหนี้ตามเอกสารหมาย จ.2) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง (5 กุมภาพันธ์ 2530) ต้องไม่เกินจำนวน 77,188 บาท ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความให้ 9,000 บาท ยกคำขออื่นนอกจากนี้
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ 9,000 บาท
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2ไม่ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัวพิพากษายกฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 2 ไปแล้วการที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์รวมกันมาทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายซึ่งอุทธรณ์แต่ละข้อเป็นการกล่าวอ้างเหตุเพื่อไม่ให้จำเลยทั้งสองต้องรับผิดตามฟ้อง ดังนั้น อุทธรณ์เฉพาะในส่วนของจำเลยที่ 2จึงถือได้ว่าเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ได้โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ชอบที่จะไม่รับวินิจฉัย การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 มาด้วย จึงเป็นการไม่ชอบ สมควรที่จะยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในส่วนนี้เสีย และในชั้นฎีกา จำเลยที่ 2ก็ได้ยื่นฎีการวมกันมากับจำเลยที่ 1 อีก โดยฎีกาในปัญหาเดียวกันกับในชั้นอุทธรณ์ ดังนั้น ฎีกาในส่วนของจำเลยที่ 2 จึงถือว่าเป็นฎีกาที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย คดีคงมีปัญหาวินิจฉัยเฉพาะตามฎีกาในส่วนของจำเลยที่ 1 เท่านั้น
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ คำให้การของจำเลยที่ 1 ก่อให้เกิดประเด็นเรื่องดอกเบี้ยตามที่โจทก์ฟ้องเรียกหรือไม่ เพียงใด และจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์หรือไม่ จำนวนเท่าใด ในปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องนั้น จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าลายมือชื่อผู้มอบอำนาจเป็นลายมือชื่อปลอมและฟ้องโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะไม่มีชื่อผู้เรียงและพิมพ์ เห็นว่า ในเรื่องการมอบอำนาจโจทก์มีนายวีระวุฒิ วีระกันต์ ผู้รับมอบอำนาจเบิกความยืนยันว่าโจทก์มอบอำนาจให้นายวีระวุฒิฟ้องคดีตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.12 ซึ่งตามเอกสารหมาย จ.12 นี้ ระบุว่าบริษัทโจทก์โดยนายโอมาซะ ทานากา กรรมการเป็นผู้มอบอำนาจและในช่องลายมือชื่อผู้มอบอำนาจก็มีลายมือชื่อระบุว่าเป็นลายมือชื่อของนายนาโอมาซะทานากา และประทับตราสำคัญของบริษัทโจทก์ ที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าลายมือชื่อของผู้มอบอำนาจเป็นลายมือชื่อปลอมนั้น ก็เพียงให้การลอยไม่มีพยานหลักฐานสนับสนุน จึงรับฟังไม่ได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่านายนาโอมาซะ ทานากา ได้ลงลายมือชื่อในช่องผู้มอบอำนาจและประทับตราสำคัญของบริษัทโจทก์ นอกจากนี้นายนาโอมาซะ ทานากา ก็เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัทโจทก์กระทำการแทนโจทก์ในระหว่างวันที่ 19 พฤษภาคม 2529 ถึง 15 มิถุนายน 2530ตามหนังสือรับรองของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครเอกสารหมาย จ.11 แผ่นที่สอง หนังสือมอบอำนาจตามเอกสารหมาย จ.12ทำขึ้นเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2530 และโจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่5 กุมภาพันธ์ 2530 เช่นนี้ ฟังได้ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้อง ฎีกาของจำเลยที่ 1 ในเรื่องนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าฟ้องโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะไม่มีลายมือชื่อผู้เรียงและพิมพ์ นั้น เห็นว่าฟ้องที่ไม่มีลายมือชื่อผู้เรียงและพิมพ์ นั้น เพียงเป็นฟ้องที่ไม่บริบูรณ์ ซึ่งศาลมีอำนาจที่จะสั่งให้แก้ไขให้บริบูรณ์ได้ทั้งข้อเท็จจริงได้ความว่าทนายโจทก์ได้ลงลายมือชื่อในฐานะโจทก์ในคำฟ้อง เพียงแต่ได้พิมพ์ชื่อนายอนุรักษ์ทนายความในสำนักงานเดียวกันในช่องผู้เรียงและพิมพ์โดยไม่ได้ลงลายมือชื่อ ซึ่งศาลชั้นต้นตรวจสั่งรับคำฟ้องไว้แล้ว และต่อมาทนายโจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องว่าทนายโจทก์เป็นผู้เรียงและพิมพ์ แม้ศาลชั้นต้นจะมิได้สั่งคำร้องดังกล่าวก็ถือได้ว่า โจทก์ได้แก้ไขคำฟ้องให้บริบูรณ์และชอบด้วยกฎหมายแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน
ปัญหาต่อไปที่ว่าคำให้การของจำเลยที่ 1 ก่อให้เกิดประเด็นเรื่องดอกเบี้ยตามที่โจทก์ฟ้องเรียกหรือไม่ เพียงใด นั้น เห็นว่าจำเลยที่ 1 ให้การว่าจำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดชำระค่าดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกร้อง เพราะโจทก์ไม่มีนิติสัมพันธ์ใดกับจำเลยที่ 1จำเลยที่ 1 ได้หักกลบลบหนี้ที่มีอยู่กับโจทก์หมดสิ้นแล้ว เห็นได้ว่าคำให้การของจำเลยที่ 1 เป็นคำให้การปฏิเสธโดยชัดแจ้งว่าโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 เพราะโจทก์จำเลยที่ 1ไม่มีหนี้สินต่อกัน คำให้การของจำเลยที่ 1 จึงก่อให้เกิดประเด็นว่าโจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 หรือไม่ ตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้และได้วินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยให้ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยที่ 1 ในเรื่องนี้ฟังขึ้น และศาลฎีกาจะได้วินิจฉัยในประเด็นข้อนี้ไปเสียทีเดียวภายหลังจากวินิจฉัยปัญหาว่าจำเลยที่ 1เป็นหนี้โจทก์หรือไม่ ส่วนที่จำเลยที่ 1 ให้การว่าดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกร้องมาก็คำนวณอย่างคลุมเครือ เกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดนั้น ศาลชั้นต้นมิได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้และจำเลยที่ 1มิได้โต้แย้งคัดค้าน จึงถือว่าเป็นข้อที่ไม่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้นจะยกขึ้นอุทธรณ์ฎีกาไม่ได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ปัญหาต่อไปที่ว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์หรือไม่ จำนวนเท่าใด…ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เฉพาะในส่วนของจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share