คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4948/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเพียงแต่พาผู้เสียหายที่ 1 ไปที่โรงครัวและห้องน้ำภายในวัดศรีบุญเรืองที่ผู้เสียหายที่ 1 เล่นชิงช้าอยู่เพื่อกระทำอนาจาร เมื่อจำเลยกระทำอนาจารผู้เสียหายที่ 1 แล้ว ส. มาเรียก จำเลยก็ปล่อยผู้เสียหายที่ 1 กลับไปโดยดี โดยมิได้มีการหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายที่ 1 แต่อย่างใด การที่จะเป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดาหรือผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร จะต้องเป็นการพาไปหรือแยกเด็กออกไปจากความปกครองดูแล ทำให้ความปกครองดูแลของบิดามารดาหรือผู้ปกครองเด็กถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือน ซึ่งคำว่า “พราก” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 หมายความว่า จากไป พา เอาไปจาก แยกออกจากกัน หรือเอาออกจากกัน ดังนั้น การกระทำของจำเลยดังกล่าวยังไม่เข้าลักษณะพาหรือแยกเด็กไปจากความปกครองดูแลของผู้ปกครองเด็กอันทำให้ความปกครองดูแลของผู้ปกครองเด็กถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือนสิทธิ จึงไม่เป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา หรือผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 279, 283 ทวิ วรรคสอง, 317 ริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 279 วรรคแรก, 283 ทวิ วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี ริบของกลาง ข้อหาอื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม จำคุก 5 ปี อีกกระทงหนึ่ง เมื่อรวมกับโทษจำคุก 1 ปี ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วเป็นจำคุกจำเลย 6 ปี ไม่ริบแปรงขัดห้องน้ำของกลางและให้คืนเจ้าของ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความทั้งสองฝ่ายไม่ได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า เด็กหญิง น. ผู้เสียหายที่ 1 เกิดวันที่ 28 มีนาคม 2535 และอยู่ในความปกครองดูแลของนางคูณ ผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นยาย เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2546 แพทย์ตรวจร่างกายของผู้เสียหายที่ 1 พบรอยบวมแดงและถลอกที่บริเวณแคมเล็กและปากช่องคลอด
คดีคงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยโดยปราศจากเหตุอันสมควรพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ไปเสียจากผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจารหรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหายที่ 1 เบิกความว่า วันเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 1 ถีบรถจักรยานไปจอดที่บ้านนางสมพรซึ่งอยู่ใกล้วัดศรีบุญเรือง แล้วเดินไปเล่นชิงช้าที่วัดศรีบุญเรือง ระหว่างนั้นจำเลยเข้ามาพูดกับผู้เสียหายว่าจะเอาขนมมาให้ แล้วพาผู้เสียหายที่ 1 ไปที่โรงครัวของวัด จำเลยให้ผู้เสียหายที่ 1 นอนลงที่พื้นห้องครัวแล้วถอดกางเกงของผู้เสียหายที่ 1 ออก จำเลยบีบหน้าอกอย่างแรงแล้วใช้นิ้วแหย่เข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหายที่ 1 จนผู้เสียหายที่ 1 เจ็บและร้องขึ้น จากนั้นจำเลยชวนผู้เสียหายที่ 1 ไปเอาขนมในห้องน้ำใกล้กับโรงครัว จำเลยให้ผู้เสียหายที่ 1 นอนลงที่พื้นห้องน้ำ จำเลยบีบหน้าอกกับใช้นิ้วมือและด้ามแปรงขัดห้องน้ำแหย่เข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหายที่ 1 ผู้เสียหายที่ 1 รู้สึกเจ็บและร้องขึ้น จำเลยพาผู้เสียหายที่ 1 กลับไปนั่งชิงช้าตามเดิม นางสมพรเรียกผู้เสียหายที่ 1 กลับบ้าน ผู้เสียหายที่ 1 เล่าเรื่องให้นางสมพรฟังและพาไปดูห้องครัวและห้องน้ำที่เกิดเหตุ จากคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 จะเห็นว่าจำเลยเพียงแต่พาผู้เสียหายที่ 1 ไปที่โรงครัวและห้องน้ำภายในวัดศรีบุญเรืองที่ผู้เสียหายที่ 1 เล่นชิงช้าอยู่เพื่อกระทำอนาจาร เมื่อจำเลยกระทำอนาจารผู้เสียหายที่ 1 แล้ว นางสมพรมาเรียก จำเลยก็ปล่อยผู้เสียหายที่ 1 กลับไปโดยดี โดยมิได้มีการหน่วงเหนี่ยว กักขังผู้เสียหายที่ 1 แต่อย่างใด การที่จะเป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ไปเสียจากบิดามารดาหรือผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร จะต้องเป็นการพาไปหรือแยกเด็กออกไปจากความปกครองดูแล ทำให้ความปกครองดูแลของบิดามารดาหรือผู้ปกครองเด็กถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือน ซึ่งคำว่า “พราก” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 หมายความว่า จากไป พา เอาไปจาก แยกออกจากกัน หรือเอาออกจากกัน ดังนั้น การกระทำของจำเลยดังกล่าวยังไม่เข้าลักษณะพาและแยกเด็กไปจากความปกครองดูแลของผู้ปกครองเด็กอันทำให้ความปกครองดูแลของผู้ปกครองเด็กถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือนสิทธิ จึงไม่เป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ไปเสียจากบิดามารดา หรือผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4

Share