แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ถ้อยคำที่ผู้ตายที่ 1 ด่าจำเลยว่า “โคตรพ่อโคตรแม่” แม้จะเป็นถ้อยคำก้าวร้าวหยาบคายเป็นที่ระคายเคืองแก่จำเลยอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ถึงขนาดที่จะถือว่าเป็นการข่มเหงจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมตาม ป.อ. มาตรา 72
ในชั้นสอบคำให้การจำเลย จำเลยให้การต่อสู้โดยอ้างเหตุบันดาลโทสะสำหรับความผิดฐานฆ่าผู้ตายที่ 2 เท่านั้น มิได้ต่อสู้ว่าเป็นการกระทำโดยป้องกันโดยสำคัญผิด ส่วนในชั้นสืบพยาน จำเลยนำสืบต่อสู้ไม่ชัดแจ้งว่าจำเลยประสงค์จะต่อสู้ว่าจำเลยยิงผู้ตายที่ 2 เพื่อป้องกันตัวโดยสำคัญผิดว่าผู้ตายที่ 2 จะเข้ามาทำรายจำเลย และในชั้นอุทธรณ์จำเลยอุทธรณ์โดยมิได้อ้างเหตุสำคัญผิดในข้อเท็จจริง ดังนั้น ฎีกาของจำเลยที่อ้างว่าการที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายที่ 2 เป็นการกระทำโดยป้องกันเกินสมควรแก่เหตุโดยสำคัญผิดว่าผู้ตายที่ 2 ได้นำเครื่องมือทำงานที่เป็นเหล็กแหลมและค้อนติดตัวมาด้วย จำเลยจึงใช้อาวุธปืนยิงสกัดมิให้ผู้ตายกับพวกเข้ามาทำร้ายจำเลยซึ่งมีขาพิการนั้น เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่าง
หลังจากจำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายที่ 1 แล้ว จำเลยเห็นผู้ตายที่ 2 และหลานชายผู้ตายที่ 2 กรูเข้ามาหาจำเลยโดยวิ่งลงบันไดมา จำเลยจึงใช้อาวุธปืนยิงสกัดขึ้นไป รวมทั้งใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายที่ 2 ด้วย แสดงว่าจำเลยมีเจตนายิงผู้ตายที่ 1 ก่อน ต่อมาเมื่อจำเลยเห็นผู้ตายที่ 2 วิ่งลงบันไดมา จำเลยจึงเกิดมีเจตนายิงผู้ตายที่ 2 เสียด้วย ซึ่งเป็นเจตนาที่เกิดขึ้นใหม่ในภายหลัง แม้จะเป็นการกระทำความผิดในเวลาต่อเนื่องกัน แต่ก็เป็นการกระทำความผิดที่อาศัยเจตนาที่แยกต่างหากจากกันได้ จึงเป็นความผิดสองกรรม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้กระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ
(ก) จำเลยพาอาวุธปืนพกรีวอลเวอร์ ขนาด .38 เครื่องหมายทะเบียน นว.8/7854 จำนวน 1 กระบอก
ซึ่งเป็นอาวุธปืนของจำเลยที่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานให้มีและใช้โดยชอบด้วยกฎหมาย พร้อมกระสุนปืนรีวอลเวอร์ ขนาด .38 จำนวนหลายนัด ติดตัวไปในบริเวณถนนตรีเพชร แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นเมือง หมู่บ้าน และทางสาธารณะ โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานตามกฎหมายให้พาอาวุธปืนติดตัวไปได้ และไม่เป็นกรณีมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์
(ข) จำเลยโดยมีเจตนาฆ่าและโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ได้ใช้อาวุธปืนพร้อมเครื่องกระสุนปืนดังกล่าว
ในข้อ (ก) ยิงประทุษร้ายนางปรียา พลกลาง ผู้ตายที่ 1 จำนวนหลายนัด กระสุนปืนถูกผู้ตายที่ 1 ที่บริเวณราวนม ปอด ตับ และกระเพาะอาหารอันเป็นอวัยวะส่วนสำคัญของร่างกาย เป็นเหตุให้ผู้ตายที่ 1 ถึงแก่ความตาย
(ค) หลังจากใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายที่ 1 แล้ว จำเลยโดยมีเจตนาฆ่าและโดยมีเจตนาฆ่าและโดยไตร่ตรองไว้ก่อนได้ใช้อาวุธปืนพร้อมเครื่องกระสุนปืนดังกล่าวในข้อ (ก) เป็นอาวุธยิงประทุษร้ายนายบุญส่ง พลกลางหรือพรกลาง ผู้ตายที่ 2 ซึ่งเป็นสามีของผู้ตายที่ 1 จำนวน 2 นัด กระสุนปืนถูกผู้ตายที่ 2 ที่บริเวณชายโครงทะลุกระเพาะอาหาร ตับและปอด อันเป็นอวัยวะส่วนสำคัญของร่างกาย เป็นเหตุให้ผู้ตายที่ 2 ถึงแก่ความตาย
ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 91, 289, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 8 ทวิ, 72 ทวิ และริบของกลางทั้งหมด
จำเลยให้การต่อสู้อ้างเหตุบันดาลโทสะในข้อหาฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและให้การปฏิเสธในข้อหาฐานพาอาวุธปืน
ระหว่างพิจารณา นายอุ่น พลกลาง บิดาของนายบุญส่ง พลกลาง ผู้ตายที่ 2 และนายบุญส่ง พันธ์วิเศษศักดิ์ บิดาของนางปรียา พลกลาง ผู้ตายที่ 1 ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตโดยให้เรียกนายอุ่นว่า โจทก์ร่วมที่ 1 และเรียกนายบุญส่งว่า โจทก์ร่วมที่ 2 (ที่ถูกต้องระบุว่า อนุญาตให้โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 เข้าร่วมเป็นโจทก์ได้เฉพาะข้อหาฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามฟ้องข้อ (ค) และข้อ (ข) ตามลำดับเท่านั้น)
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4), 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง เป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนรวม 2 กระทง ลงโทษประหารชีวิตทั้งสองกระทง ฐานพาอาวุธปืน ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน คำให้การของจำเลยในชั้นจับกุมตลอดจนทางนำสืบ (ของจำเลย) เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (1) ฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน จำคุกตลอดชีวิตทั้งสองกระทง ฐานพาอาวุธปืน จำคุก 4 เดือน เมื่อรวมโทษทั้งสามกระทงแล้วให้จำคุกตลอดชีวิตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) ริบอาวุธปืน ปลอกกระสุนปืน และลูกกระสุนปืนของกลาง คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นที่ยุติได้ในเบื้องต้นว่า นางปรียา พลกลาง ผู้ตายที่ 1 เป็นภริยาของนายบุญส่ง พลกลาง ผู้ตายที่ 2 ผู้ตายทั้งสองและจำเลยต่างก็มีอาชีพเป็นช่างทำทองรูปพรรณ ผู้ตายทั้งสองได้เช่าตึกแถวเลขที่ 14/4 ตรอกหลังตรีเพชรเทรดดิ้ง ถนนตรีเพชร แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร เป็นสถานที่ประกอบกิจการและพักอาศัยโดยผู้ตายทั้งสองได้แบ่งตึกแถวชั้นที่ 4 ให้จำเลยเช่า และยินยอมให้จำเลยตั้งโต๊ะทำงานอยู่ที่ชั้นล่างของตึกแถวดังกล่าวด้วย ตามวันเวลาเกิดเหตุที่โจทก์ฟ้องขณะที่ผู้ตายทั้งสองอยู่ที่ตึกแถวดังกล่าวข้างต้น จำเลยได้ใช้อาวุธปืนตามฟ้องยิงผู้ตายที่ 1 และที่ 2 ถึงแก่ความตาย และคดีฟังยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยที่คู่ความมิได้ฎีกาคัดค้านว่า จำเลยมีความผิดฐานพาอาวุธปืนตามฟ้องข้อ (ก) แต่จำเลยไม่มีความผิดฐานฆ่าผู้ตายทั้งสองโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามที่โจทก์ฟ้อง
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า ที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิง ฆ่าผู้ตายที่ 1 นั้น เป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะหรือไม่ ในปัญหาข้อนี้คดีคงฟังยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยที่โจทก์และโจทก์ร่วมมิได้ฎีกาคัดค้านว่าขณะเกิดเหตุผู้ตายที่ 1 ได้ด่าว่าบุพการีของจำเลย โดยจำเลยนำสืบว่า ถ้อยคำที่ผู้ตายที่ 1 ด่าจำเลยคือคำว่า “โคตรพ่อโคตรแม่” เห็นว่า คำด่าดังกล่าวแม้จะเป็นถ้อยคำก้าวร้าวหยาบคายเป็นที่ระคายเคืองแก่จำเลยอยู่บ้างแต่ก็ไม่ถึงขนาดที่จะถือว่าเป็นการข่มเหงจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 72 ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย แม้จำเลยจะนำสืบและฎีกาว่า ก่อนด่าว่าบุพการีของจำเลย ผู้ตายที่ 1 ยังได้ผลักอกและพูดจาท้าทายยั่วยุชวนทะเลาะวิวาทและดูหมิ่นเหยียดหยามจำเลยซึ่งหน้าด้วย แต่ฎีกาของจำเลยข้อนี้ก็ไม่อาจรับฟังได้ คดีนี้จึงฟังไม่ได้ว่าที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงฆ่าผู้ตายที่ 1 เป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะเนื่องจากผู้ตายที่ 1 ข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 72 ดังที่จำเลยอ้างมาในฎีกา
ที่จำเลยฎีกาข้อต่อมาว่า การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายที่ 2 เป็นการกระทำโดยป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ โดยสำคัญผิดว่า ผู้ตายที่ 2 ได้นำเครื่องมือทำงานที่เป็นเหล็กแหลมและค้อนติดตัวมาด้วย จำเลยจึงใช้อาวุธปืนยิงสกัดมิให้ผู้ตายกับพวกเข้ามาทำร้ายจำเลยซึ่งมีขาพิการ จำเลยย่อมได้รับประโยชน์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 62 และมาตรา 69 นั้น เห็นว่า ในชั้นสอบคำให้การจำเลย จำเลยคงให้การต่อสู้โดยอ้างเหตุบันดาลโทสะสำหรับความผิดฐานฆ่าผู้ตายที่ 2 เท่านั้น มิได้ต่อสู้ว่าเป็นการกระทำโดยป้องกันโดยสำคัญผิด ในชั้นสืบพยานจำเลย จำเลยนำสืบต่อสู้แต่เพียงว่าขณะเกิดเหตุจำเลยเห็นผู้ตายที่ 2 กับหลานผู้ตายที่ 2 วิ่งกรูลงบันไดมา จำเลยจึงยิงสกัดขึ้นไปและนำสืบว่าเท่าที่จำเลยทราบนั้น เครื่องมือการทำงานของผู้ตายที่ 2 จะมีเหล็กแหลมและค้อนไว้ทุบแหวน ตามทางนำสืบของจำเลยดังกล่าวก็ไม่ชัดแจ้งว่าจำเลยประสงค์จะนำสืบต่อสู้ว่าจำเลยยิงผู้ตายที่ 2 เพื่อป้องกันตัวโดยสำคัญผิดว่าผู้ตายที่ 2 ถือเหล็กแหลมและค้อนจะเข้ามาทำร้ายจำเลย และในชั้นอุทธรณ์จำเลยก็อุทธรณ์ว่าขณะเกิดเหตุผู้ตายที่ 2 วิ่งลงมาจากชั้นบนพร้อมกับนายสุชิน โดยในมือของผู้ตายที่ 2 ถือไม้ซึ่งเป็นอาวุธโดยสภาพลงมาด้วยโดยมีพฤติการณ์จะทำร้ายจำเลย เนื่องด้วยความแค้นที่เห็นจำเลยยิงผู้ตายที่ 1 เมื่อเข้าประชิดตัวจำเลย ผู้ตายที่ 2 ก็เงื้อไม้จะตีจำเลย จำเลยจึงใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายที่ 2 จำนวน 2 นัด โดยจำเลยมิได้อ้างเหตุสำคัญผิดในข้อเท็จจริง จึงเห็นได้ชัดว่าฎีกาของจำเลยในข้อนี้ เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง แม้ศาลชั้นต้นจะสั่งรับฎีกาของจำเลยข้อนี้มาด้วย ก็เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่อาจรับวินิจฉัยให้ได้
ที่จำเลยฎีกาข้อต่อมาว่า การกระทำของจำเลยฐานฆ่าผู้ตายที่ 1 และฐานฆ่าผู้ตายที่ 2 ตามฟ้องข้อ (ข) และ (ค) จำเลยได้กระทำในวาระกระชั้นชิดเกี่ยวเนื่องให้เหตุการณ์เดียวกันจึงเป็นความผิดกรรมเดียวกันนั้น เห็นว่า ความในข้อนี้จำเลยได้เบิกความยอมรับว่า หลังจากจำเลยใช้อาวุธปืนของกลางยิงผู้ตายที่ 1 แล้ว จำเลยเห็นผู้ตายที่ 2 และหลานชายผู้ตายที่ 2 กรูเข้ามาหาจำเลยโดยวิ่งลงบันไดมา จำเลยจึงใช้อาวุธปืนยิงสกัดขึ้นไป รวมทั้งจำเลยได้ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายที่ 2 ด้วย ตามคำเบิกความของจำเลยดังกล่าวแสดงว่า จำเลยมีเจตนายิงผู้ตายที่ 1 ก่อน ต่อมาเมื่อจำเลยเห็นผู้ตายที่ 2 วิ่งลงบันไดมา จำเลยจึงเกิดมีเจตนายิงผู้ตายที่ 2 เสียด้วย ซึ่งเป็นเจตนาที่เกิดขึ้นใหม่ในภายหลัง แม้จะเป็นการกระทำความผิดในเวลาต่อเนื่องกัน แต่ก็เป็นการกระทำความผิดที่อาศัยเจตนาที่แยกต่างหากจากกันได้ จึงเป็นความผิดสองกรรมดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย
ที่จำเลยฎีกาข้อสุดท้ายขอให้ลงโทษสถานเบานั้น ศาลฎีกาได้พิเคราะห์พฤติการณ์ต่างๆ แห่งคดีตามที่คู่ความนำสืบประกอบฎีกาของจำเลยแล้ว เห็นว่า ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดโทษจำเลยสำหรับความผิดฐานฆ่าผู้ตายที่ 1 และฐานฆ่าผู้ตายที่ 2 ตามฟ้องข้อ (ข) และ (ค) แต่ละกระทงให้ประหารชีวิตนั้น เป็นการลงโทษที่หนักเกินไป เห็นสมควรแก้ไขกำหนดโทษจำเลยสำหรับความผิดทั้งสองกระทงนี้เสียใหม่ให้เหมาะสมแก่สภาพความผิดของจำเลย ส่วนที่จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและนำสืบเป็นประโยชน์แก่การพิจารณานั้น ก็ปรากฏว่าศาลล่างทั้งสองได้นำมาเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้จำเลยหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ซึ่งนับว่าเป็นคุณแก่จำเลยอย่างมากแล้ว ศาลฎีกาไม่เห็นสมควรที่จะนำเหตุดังกล่าวมาลดโทษให้จำเลยมากกว่านี้อีก และที่จำเลยฎีกาอ้างว่า ศาลจังหวัดนนทบุรีมีคำพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บุตรผู้ตายทั้งสองเพราะต้องขาดไร้อุปการะและชดใช้ค่าปลงศพผู้ตายทั้งสองรวมเป็นเงิน 880,000 บาท อันสืบเนื่องมาจากจำเลยทำละเมิดใช้อาวุธปืนยิงฆ่าผู้ตายทั้งสองตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 2029/2544 ของศาลจังหวัดนนทบุรี และจำเลยได้ถูกบังคับคดียึดทรัพย์แล้วนั้น เห็นว่า เป็นกรณีที่จำเลยจะต้องรับผิดในทางแพ่งต่อทายาทของผู้ตายทั้งสองตามกฎหมายอยู่แล้วจำเลยจึงไม่อาจนำเหตุดังกล่าวมาอ้างเป็นประโยชน์แก่จำเลยในคดีนี้ได้
สรุปแล้วที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาคงเห็นพ้องด้วยบางส่วน และไม่เห็นพ้องด้วยบางส่วน ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้นบางส่วนและฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตามฟ้องข้อ (ข) และ (ค) ให้ลงโทษจำเลยแต่ละกระทงจำคุกตลอดชีวิต เมื่อลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุกกระทงละ 33 ปี 4 เดือน รวมโทษ 2 กระทง เป็นจำคุก 66 ปี 8 เดือน รวมกับโทษจำคุกอีก 4 เดือน ในความผิดฐานพาอาวุธปืนตามฟ้องข้อ (ก) แล้ว เป็นจำคุก 66 ปี 12 เดือน เมื่อรวมโทษจำคุกทุกกระทงแล้วเกิน 50 ปี จึงต้องลงโทษจำคุกจำเลยเหลือเพียง 50 ปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์