แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การประดิษฐ์ที่จะขอรับอนุสิทธิบัตรได้นั้น พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 65 ทวิ บัญญัติไว้ 2 อนุมาตรา รวมความว่า ต้องเป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ และเป็นการประดิษฐ์ที่สามารถประยุกต์ในทางอุตสาหกรรมได้ ซึ่งปัญหาความใหม่นั้น เมื่อพิจารณามาตรา 65 ทศ ที่ให้นำบทบัญญัติมาตรา 6 และอีกหลายมาตราในหมวด 2 ว่าด้วยสิทธิบัตรการประดิษฐ์มาใช้บังคับกับหมวดว่าด้วยอนุสิทธิบัตรโดยอนุโลม โดยในมาตรา 6 วรรคแรก บัญญัติว่า การประดิษฐ์ขึ้นใหม่ ได้แก่ ประดิษฐ์ที่ไม่เป็นงานที่ปรากฏอยู่แล้ว และในวรรคสองบัญญัติว่า งานที่ปรากฏอยู่แล้วให้หมายความถึงการประดิษฐ์ดังต่อไปนี้ด้วย (1) การประดิษฐ์ที่มีหรือใช้แพร่หลายอยู่แล้วในราชอาณาจักรก่อนวันขอรับสิทธิบัตร (2) การประดิษฐ์ที่ได้มีการเปิดเผยสาระสำคัญหรือรายละเอียดในเอกสารหรือสิ่งพิมพ์ที่ได้เผยแพร่อยู่แล้วไม่ว่าในหรือนอกราชอาณาจักรก่อนวันขอรับสิทธิบัตร และไม่ว่าการเปิดเผยนั้นจะกระทำโดยเอกสาร สิ่งพิมพ์ การนำออกแสดง หรือการเปิดเผยต่อสาธารณชนด้วยประการใด ๆ นอกจากนี้ ในมาตรา 6 วรรคท้าย บัญญัติความตอนหนึ่งว่า การเปิดเผยสาระสำคัญหรือรายละเอียดโดยผู้ประดิษฐ์ภายในสิบสองเดือนก่อนที่จะมีการขอรับสิทธิบัตรมิให้ถือว่าเป็นการเปิดเผยสาระสำคัญหรือรายละเอียดตาม (2) ข้อเท็จจริงปรากฏว่า โจทก์จำหน่ายเทปโฟมกาวสองหน้ามาตั้งแต่ปี 2538 ก่อนวันที่โจทก์ยื่นคำขอรับอนุสิทธิบัตรเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2547 แล้ว การประดิษฐ์ดังกล่าวของโจทก์จึงมีหรือใช้อยู่แล้วในราชอาณาจักรก่อนวันขอรับอนุสิทธิบัตร และการที่โจทก์จำหน่ายอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดย่อมเป็นการจำหน่ายแพร่หลายตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 6 วรรคสอง อนุมาตรา (1) ดังกล่าว และถือว่าเป็นการเปิดเผยสาระสำคัญหรือรายละเอียดของการประดิษฐ์ต่อสาธารณชนด้วยประการใด ๆ ตามอนุมาตรา (2) ด้วย เพราะบุคคลทั่วไปสามารถมองเห็นได้ว่าการประดิษฐ์ของโจทก์ใช้กรรมวิธีการผลิตที่ไม่ยุ่งมาก การประดิษฐ์ของโจทก์จึงเป็นงานที่ปรากฏอยู่แล้ว ถึงแม้โจทก์จะเป็นผู้ทำให้เทปโฟมกาวสองหน้านั้นมีหรือใช้แพร่หลาย และเป็นผู้เปิดเผยสาระสำคัญหรือรายละเอียดของการประดิษฐ์นั้นเองดังที่โจทก์อุทธรณ์ แต่ก็เป็นการกระทำเกินกว่ากำหนดเวลาสิบสองเดือนก่อนโจทก์ขอรับอนุสิทธิบัตร กรณีจึงไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 6 วรรคท้าย ที่จะไม่ถือว่าเป็นการทำให้แพร่หลายและเปิดเผยสาระสำคัญหรือรายละเอียดการประดิษฐ์ก่อนวันขอรับอนุสิทธิบัตร เทปโฟมกาวสองหน้าซึ่งเป็นการประดิษฐ์ของโจทก์จึงไม่เป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ตามพ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 65 ทวิ, 65 ทศ ประกอบมาตรา 6 แม้โจทก์ได้รับอนุสิทธิบัตรการประดิษฐ์ก็เป็นอนุสิทธิบัตรที่ได้ออกให้โดยไม่ชอบด้วยมาตรา 65 ทวิ, 65 ทศ ถือว่าอนุสิทธิบัตรนั้นไม่สมบูรณ์ ไม่ได้รับความคุ้มครองสิทธิตามอนุสิทธิบัตร โจทก์ไม่อาจกล่าวอ้างได้ว่าจำเลยทั้งสามฝ่าฝืนสิทธิเด็ดขาดของโจทก์ผู้ทรงอนุสิทธิบัตร และไม่อาจใช้มาตรการบังคับจำเลยทั้งสามตามสิทธิของอนุสิทธิบัตรนั้น ซึ่งศาลมีอำนาจยกความไม่สมบูรณ์นี้ขึ้นวินิจฉัยได้ตามมาตรา 65 ทวิ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ทศ, 36, 86, 88
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไต่สวนมูลฟ้องแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นผู้คิดค้นเทปโฟมกาวสองหน้าตั้งแต่ปี 2537 และนำออกจำหน่ายในปีถัดไปคือ ปี 2538 ต่อมา ในปี 2539 มีการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทอาคิเทคทูรอล เมททีเรียล จำกัด โดยมีตัวโจทก์เป็นกรรมการ ซึ่งบริษัทที่จัดตั้งขึ้นนี้ก็ได้นำผลิตภัณฑ์ที่โจทก์คิดค้นออกจำหน่าย กระทั่งปี 2547 โจทก์ทราบว่าจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ผลิตเทปโฟมกาวสองหน้าชนิดเดียวกันกับของโจทก์ออกจำหน่าย โจทก์จึงแจ้งให้จำเลยที่ 1 ยุติการทำละเมิดสินค้าของโจทก์ แต่จำเลยทั้งสามคงเพิกเฉย โจทก์จึงไปดำเนินการและได้รับอนุสิทธิบัตรเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2548 จากนั้นจึงได้มาดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสามเป็นคดีนี้
คดีมีปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่าอนุสิทธิบัตรการประดิษฐ์ของโจทก์มีความสมบูรณ์หรือไม่ เห็นว่า การประดิษฐ์ที่จะขอรับอนุสิทธิบัตรได้นั้น พระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 65 ทวิ บัญญัติไว้ 2 อนุมาตรา รวมความว่า ต้องเป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ และเป็นการประดิษฐ์ที่สามารถประยุกต์ในทางอุตสาหกรรมได้ ซึ่งปัญหาความใหม่นั้น เมื่อพิจารณามาตรา 65 ทศ ที่ให้นำบทบัญญัติมาตรา 6 และอีกหลายมาตราในหมวด 2 ว่าด้วยสิทธิบัตรการประดิษฐ์มาใช้บังคับกับหมวดว่าด้วยอนุสิทธิบัตรโดยอนุโลม โดยในมาตรา 6 วรรคแรก บัญญัติว่า การประดิษฐ์ขึ้นใหม่ได้แก่ การประดิษฐ์ที่ไม่เป็นงานที่ปรากฏอยู่แล้ว และในวรรคสองบัญญัติว่า งานที่ปรากฏอยู่แล้วให้หมายความถึงการประดิษฐ์ดังต่อไปนี้ (1) การประดิษฐ์ที่มีหรือใช้แพร่หลายอยู่แล้วในราชอาณาจักรก่อนวันขอรับสิทธิบัตร (2) การประดิษฐ์ที่ได้มีการเปิดเผยสาระสำคัญหรือรายละเอียดในเอกสารหรือสิ่งพิมพ์ที่ได้เผยแพร่อยู่แล้วไม่ว่าในหรือนอกราชอาณาจักรก่อนวันขอรับสิทธิบัตร และไม่ว่าการเปิดเผยนั้นจะกระทำโดยเอกสาร สิ่งพิมพ์ การนำออกแสดง หรือการเปิดเผยต่อสาธารณชนด้วยประการใด ๆ นอกจากนี้ ในมาตรา 6 วรรคท้าย บัญญัติความตอนหนึ่งว่า การเปิดเผยสาระสำคัญหรือรายละเอียดโดยผู้ประดิษฐ์ภายในสิบสองเดือนก่อนที่จะมีการขอรับสิทธิบัตรมิให้ถือว่าเป็นการเปิดเผยสาระสำคัญหรือรายละเอียดตาม (2) ข้อเท็จจริงปรากฏว่า โจทก์จำหน่ายเทปโฟมกาวสองหน้ามาตั้งแต่ปี 2538 ก่อนวันที่โจทก์ยื่นคำขอรับอนุสิทธิบัตรเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2547 แล้ว การประดิษฐ์ดังกล่าวของโจทก์จึงมีหรือใช้อยู่แล้วในราชอาณาจักรก่อนวันขอรับอนุสิทธิบัตร และการที่โจทก์จำหน่ายอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด รวมทั้งจำหน่ายให้แก่บริษัทโปรไฟล์ เทรดดิ้ง จำกัด บริษัทสแตนดาร์ด อลูมิเนียม แอนด์ กลาส จำกัด และบริษัท เอ. ยู. เอ็ม. จำกัด ลูกค้าของโจทก์ ย่อมเป็นการจำหน่ายแพร่หลายตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 6 วรรคสอง อนุมาตรา (1) ดังกล่าว และถือว่าเป็นการเปิดเผยสาระสำคัญหรือรายละเอียดของการประดิษฐ์ต่อสาธารณชนด้วยประการใด ๆ ตามอนุมาตรา (2) ด้วย เพราะบุคคลทั่วไปสามารถมองเห็นได้ว่าการประดิษฐ์ของโจทก์ใช้กรรมวิธีการผลิตที่ไม่ยุ่งมาก การประดิษฐ์ของโจทก์จึงเป็นงานที่ปรากฏอยู่แล้ว ถึงแม้โจทก์จะเป็นผู้ทำให้เทปโฟมกาวสองหน้านั้นมีหรือใช้แพร่หลาย และเป็นผู้เปิดเผยสาระสำคัญหรือรายละเอียดของการประดิษฐ์นั้นเองดังที่โจทก์อุทธรณ์ แต่ก็เป็นการกระทำเกินกว่ากำหนดเวลาสิบสองเดือนก่อนโจทก์ขอรับอนุสิทธิบัตร กรณีจึงไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 6 วรรคท้าย ที่จะไม่ถือว่าเป็นการทำให้แพร่หลายและเปิดเผยสาระสำคัญหรือรายละเอียดการประดิษฐ์ก่อนวันขอรับอนุสิทธิบัตร เทปโฟมกาวสองหน้าซึ่งเป็นการประดิษฐ์ของโจทก์จึงไม่เป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ ตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ทวิ, 65 ทศ ประกอบมาตรา 6 แม้โจทก์ได้รับอนุสิทธิบัตรการประดิษฐ์ ก็เป็นอนุสิทธิบัตรที่ได้ออกให้โดยไม่ชอบด้วยมาตรา 65 ทวิ, 65 ทศ ถือว่าอนุสิทธิบัตรนั้นไม่สมบูรณ์ ไม่ได้รับความคุ้มครองสิทธิตามอนุสิทธิบัตร โจทก์ไม่อาจกล่าวอ้างได้ว่าจำเลยทั้งสามฝ่าฝืนสิทธิบัตรนั้น ซึ่งศาลมีอำนาจยกความไม่สมบูรณ์นี้ขึ้นวินิจฉัยได้ตามมาตรา 65 ทวิ คดีของโจทก์จึงไม่มีมูลที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.