คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2572/2548

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตจากโจทก์ตามสัญญาให้ใช้ลิขสิทธิ์ให้นำงานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์เรื่อง ผีเสื้อและดอกไม้ ไปสร้างเป็นภาพยนตร์ภายใน 5 ปี นับแต่วันทำสัญญาดังกล่าว และจำเลยที่ 1 ได้นำงานวรรณกรรมนั้นไปสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง ผีเสื้อและดอกไม้เมื่อปี 2528 ซึ่งเป็นการสร้างภาพยนตร์ภายใน 5 ปี นับแต่วันทำสัญญาดังกล่าวในปี 2527 แสดงว่าจำเลยที่ 1 ได้ปฏิบัติถูกต้องตามสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ที่ได้ทำไว้กับโจทก์ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมนั้นแล้ว
จำเลยที่ 1 นำงานวรรณกรรมของโจทก์มาสร้างเป็นภาพยนตร์ เป็นการดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์โดยได้รับอนุญาตจากโจทก์ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ จำเลยที่ 1 จึงมีลิขสิทธิ์ในงานภาพยนตร์ เรื่อง ผีเสื้อและดอกไม้ที่ได้ดัดแปลงขึ้น จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิแต่ผู้เดียวที่จะทำซ้ำ หรือดัดแปลง หรือนำออกโฆษณาซึ่งงานภาพยนตร์ หรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานภาพยนตร์นั้น ให้ประโยชน์อันเกิดจากลิขสิทธิ์ในงานภาพยนตร์นั้นแก่ผู้อื่น และอนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิในการทำซ้ำหรือดัดแปลงหรือนำออกโฆษณาหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานภาพยนตร์นั้นตามมาตรา 13 แห่ง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 ทันทีที่สร้างสรรค์งานภาพยนตร์นั้นเสร็จ และมีสิทธิแต่ผู้เดียวในการให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานภาพยนตร์นั้นเพิ่มขึ้นอีกตามมาตรา 15 (3) และมาตรา 78 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ในวันที่ 22 มีนาคม 2538 อันเป็นวันที่ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ใช้บังคับ โดยมีอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ในงานภาพยนตร์เป็นเวลา 50 ปี นับแต่ปี 2528 อันเป็นปีที่จำเลยที่ 1 ได้สร้างสรรค์งานภาพยนตร์นั้นขึ้นตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 มาตรา 18 ประกอบมาตรา 16 วรรคท้าย
อย่างไรก็ตามสิทธิที่จำเลยที่ 1 มี นั้น ต้องไม่กระทบกระเทือนสิทธิของโจทก์ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ที่มีอยู่ในงานวรรณกรรมเรื่อง ผีเสื้อและดอกไม้ เดิมที่ถูกดัดแปลงนั้น ตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่จำเลยที่ 1 ดัดแปลงวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ และสิทธิแต่ผู้เดียวของโจทก์ในงานวรรณกรรมคงมีอยู่ตลอดอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมของโจทก์ซึ่งมีอยู่ตลอดชีวิตของโจทก์ผู้สร้างสรรค์และมีอยู่ต่อไปอีก 30 ปีนับแต่โจทก์ถึงแก่ความตาย ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พ.ศ.2474 มาตรา 5 (ข) และมาตรา 14 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์สร้างสรรค์งานวรรณกรรมเรื่อง ผีเสื้อและดอกไม้ โดยโจทก์ไม่มีลิขสิทธิ์ในงานภาพยนตร์ เพราะเป็นงานอันเป็นลิขสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ดัดแปลงงานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์โดยได้รับอนุญาตจากโจทก์ ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิแต่ผู้เดียวในการทำซ้ำหรือดัดแปลงงานภาพยนตร์มีลิขสิทธิ์เรื่องผีเสื้อและดอกไม้ เป็นงานในรูปแบบใดก็ได้ อันเป็นสิทธิที่จำเลยที่ 1 ได้มาโดยผลของกฎหมาย แม้ในสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จะระบุให้จำเลยที่ 1 สามารถนำภาพยนตร์ที่สร้างไว้ออกทำซ้ำและเผยแพร่ในรูปแบบต่าง ๆ ได้ โดยไม่ได้ระบุถึงการทำในรูปแบบวิดีโอซีดี ก็ไม่ทำให้สิทธิแต่ผู้เดียวของจำเลยที่ 1 ในการทำซ้ำหรือดัดแปลงภาพยนตร์ดังกล่าว อันเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของตนที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายและได้มาโดยผลของกฎหมายนั้นเสียไป เพราะโจทก์มีสิทธิที่จะกำหนดเงื่อนไขในสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ของตนได้เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับงานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของตนเท่านั้น ดังนั้นการที่จำเลยที่ 1 อนุญาตให้บริษัทจำเลยที่ 7 นำภาพยนตร์เรื่อง ผีเสื้อและดอกไม้อันมีลิขสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 ไปทำซ้ำและนำออกจำหน่ายในวัสดุรูปแบบวิดีโอซีดีจึงไม่ใช่การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่งานวรรณกรรมเรื่องผีเสื้อและดอกไม้ซึ่งโจทก์มีลิขสิทธิ์ จึงไม่เป็นความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมของโจทก์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27 (1) และมาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (1)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งแปดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4, 6, 27, 31, 69, 70, 74, 75 และ 78 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83 และ 91 ขอให้ศาลสั่งจ่ายเงินค่าปรับกึ่งหนึ่งแก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่า คดีมีมูลให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งแปดให้การปฏิเสธ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า การที่จำเลยทั้งแปดนำภาพยนตร์เรื่อง ผีเสื้อและดอกไม้ ซึ่งโจทก์อนุญาตให้จำเลยที่ 1 นำงานวรรณกรรมเรื่องดังกล่าวอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ไปสร้างเป็นภาพยนตร์ไปทำซ้ำ หรือดัดแปลงเป็นวิดีโอซีดีเพื่อขายและมีไว้เพื่อขายเป็นความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมของโจทก์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27 (1) และมาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (1) ตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าในปี 2527 บริษัทจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตจากโจทก์ตามสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ให้นำงานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์เรื่อง ผีเสื้อและดอกไม้ ไปสร้างเป็นภาพยนตร์ภายใน 5 ปีนับแต่วันทำสัญญาดังกล่าว และจำเลยที่ 1 ได้นำงานวรรณกรรมนั้นไปสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง ผีเสื้อและดอกไม้ เมื่อปี 2528 ซึ่งเป็นการสร้างภาพยนตร์ภายใน 5 ปี นับแต่วันทำสัญญาดังกล่าวในปี 2527 แสดงว่าจำเลยที่ 1 ได้ปฏิบัติถูกต้องตามสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ที่ได้ทำไว้กับโจทก์ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมนั้นแล้ว การที่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 นำงานวรรณกรรมของโจทก์มาสร้างเป็นภาพยนตร์ดังกล่าวเป็นการดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์โดยได้รับอนุญาตจากโจทก์ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ดัดแปลงนั้นจึงมีลิขสิทธิ์ในงานภาพยนตร์เรื่อง ผีเสื้อและดอกไม้ ที่ได้ดัดแปลงขึ้น แต่ทั้งนี้ไม่กระทบกระเทือนสิทธิของโจทก์ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ที่มีอยู่ในงานวรรณกรรมเรื่อง ผีเสื้อและดอกไม้ เดิมที่ถูกดัดแปลงนั้น ตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ดัดแปลงวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ กล่าวคือบริษัทจำเลยที่ 1 ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานภาพยนตร์ที่ได้ดัดแปลงย่อมมีสิทธิแต่ผู้เดียวที่จะทำซ้ำหรือดัดแปลงหรือนำออกโฆษณาซึ่งงานภาพยนตร์ หรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานภาพยนตร์นั้นให้ประโยชน์อันเกิดจากลิขสิทธิ์ในงานภาพยนตร์นั้นแก่ผู้อื่น และอนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิในการทำซ้ำหรือดัดแปลงหรือนำออกโฆษณาหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานภาพยนตร์นั้นตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 ทันทีที่สร้างสรรค์งานภาพยนตร์นั้นเสร็จในปี 2528 และมีสิทธิแต่ผู้เดียวในการให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานภาพยนตร์นั้นเพิ่มขึ้นอีกตามมาตรา 15 (3) และมาตรา 78 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ในวันที่ 22 มีนาคม 2538 อันเป็นวันที่พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ใช้บังคับ โดยมีอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ในงานภาพยนตร์เป็นเวลา 50 ปี นับแต่ปี 2528 อันเป็นปีที่บริษัทจำเลยที่ 1 ได้สร้างสรรค์งานภาพยนตร์นั้นขึ้นตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 มาตรา 18 ประกอบมาตรา 16 วรรคท้าย แต่ทั้งนี้สิทธิแต่ผู้เดียวของโจทก์เฉพาะในงานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์เรื่อง ผีเสื้อและดอกไม้ เดิมที่โจทก์สร้างสรรค์ขึ้นเมื่อปี 2518 ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พุทธศักราช 2474 มาตรา 4 และมาตรา 7 ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์สร้างสรรค์งานวรรณกรรมนั้นขึ้น สิทธิแต่ผู้เดียวตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 มาตรา 13 และมาตรา 50 วรรคหนึ่ง และสิทธิแต่ผู้เดียวตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 15 และ 78 วรรคหนึ่ง มิได้ถูกกระทบกระเทือน สิทธิแต่ผู้เดียวของโจทก์ในงานวรรณกรรมนั้นมีอยู่อย่างไร ก็คงมีอยู่อย่างนั้นตลอดอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมของโจทก์ซึ่งมีอยู่ตลอดชีวิตของโจทก์ผู้สร้างสรรค์และมีอยู่ต่อไปอีก 30 ปีนับแต่โจทก์ถึงแก่ความตาย ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พุทธศักราช 2474 มาตรา 5 (ข) และมาตรา 14 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์สร้างสรรค์งานวรรณกรรมเรื่อง ผีเสื้อและดอกไม้ เสร็จในปี 2518 โจทก์ไม่มีลิขสิทธิ์ในงานภาพยนตร์เรื่อง ผีเสื้อและดอกไม้ ที่จำเลยที่ 1 ได้ดัดแปลงจากงานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์โดยได้รับอนุญาตจากโจทก์เพราะมิได้เป็นผู้ดัดแปลงสร้างสรรค์ภาพยนตร์นั้น ดังนี้ สิทธิแต่ผู้เดียวในการทำซ้ำหรือดัดแปลงงานภาพยนตร์อันมีลิขสิทธิ์เรื่อง ผีเสื้อและดอกไม้ จึงเป็นของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิที่จะทำซ้ำหรือดัดแปลงภาพยนตร์นั้นเป็นงานในรูปแบบใดก็ได้ไม่ว่าจะเป็นรูปของภาพยนตร์ เทปบันทึกภาพยนตร์ ภาพยนตร์โทรทัศน์ แถบบันทึกภาพและเสียง หรือแม้แต่ในรูปของวิดีโอซีดี ซึ่งขณะที่จำเลยที่ 1 ได้ลิขสิทธิ์ในงานภาพยนตร์เรื่อง ผีเสื้อและดอกไม้ ในปี 2528 ยังไม่มีก็ตาม เพราะสิทธิดังกล่าวเป็นสิทธิที่จำเลยที่ 1 ได้มาโดยผลของกฎหมาย แม้สัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จะระบุว่า จำเลยที่ 1 สามารถนำภาพยนตร์เรื่อง ผีเสื้อและดอกไม้ ที่สร้างไว้ออกทำซ้ำและเผยแพร่ต่อสาธารณชนในรูปแบบต่าง ๆ อันได้แก่ ภาพยนตร์ เทปบันทึกภาพยนตร์ ภาพยนตร์โทรทัศน์ และแถบบันทึกภาพและเสียงได้ตลอดไปโดยมิได้ระบุถึงการทำในรูปแบบของวิดีโอซีดีเพราะขณะนั้นยังไม่มีด้วยก็ตามก็ไม่ทำให้สิทธิแต่ผู้เดียวของจำเลยที่ 1 ในการทำซ้ำหรือดัดแปลงภาพยนตร์เรื่อง ผีเสื้อและดอกไม้ อันเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของตนไม่ว่าในรูปแบบใดรวมทั้งในรูปของวิดีโอซีดีที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายและได้มาโดยผลของกฎหมายนั้นเสียไป โจทก์มีสิทธิที่จะกำหนดเงื่อนไขในสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ของตนได้เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับงานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของตนเท่านั้น การที่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ทำซ้ำภาพยนตร์เรื่อง ผีเสื้อและดอกไม้ ในปี 2543 จึงเป็นการทำซ้ำแก่งานภาพยนตร์อันมีลิขสิทธิ์ของตนตามสิทธิที่มีอยู่ในพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 15 (1) และมาตรา 78 วรรคหนึ่ง แม้จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ก็ไม่เป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ เพราะจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 มิได้ทำซ้ำแก่งานวรรณกรรมเรื่อง ผีเสื้อและดอกไม้ ซึ่งเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์แต่อย่างใด ส่วนที่จำเลยที่ 1 อนุญาตให้บริษัทจำเลยที่ 7 ซึ่งมีจำเลยที่ 8 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนนำภาพยนตร์เรื่อง ผีเสื้อและดอกไม้ อันมีลิขสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 ไปทำซ้ำและนำออกจำหน่ายในวัสดุรูปแบบวิดีโอซีดีเมื่อปี 2543 นั้นก็เป็นการที่จำเลยที่ 1 ใช้สิทธิแต่ผู้เดียวในการอนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิของตนในการทำซ้ำและดัดแปลงที่มีอยู่ในงานภาพยนตร์อันมีลิขสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 15 (5) และมาตรา 78 วรรคหนึ่ง การอนุญาตให้จำเลยที่ 7 ใช้สิทธิดังกล่าวมิใช่การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่งานวรรณกรรมเรื่อง ผีเสื้อและดอกไม้ ซึ่งโจทก์มีลิขสิทธิ์อันจะถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 27 (1) หรือ (2) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 การที่จำเลยที่ 1 อนุญาตให้จำเลยที่ 7 นำภาพยนตร์เรื่อง ผีเสื้อและดอกไม้ ไปทำซ้ำเป็นวิดีโอซีดีจึงไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมเรื่องดังกล่าวของโจทก์เช่นกัน สำหรับบริษัทจำเลยที่ 7 โดยจำเลยที่ 8 ซึ่งเป็นผู้ทำซ้ำภาพยนตร์เรื่อง ผีเสื้อและดอกไม้ เป็นวิดีโอซีดีนั้น แม้งานภาพยนตร์เรื่อง ผีเสื้อและดอกไม้ จะมีงานวรรณกรรมเรื่องดังกล่าวอันเป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์รวมอยู่ด้วยก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ได้อนุญาตให้จำเลยที่ 1 ดัดแปลงงานวรรณกรรมนั้นเป็นงานภาพยนตร์และงานภาพยนตร์นั้นตกเป็นลิขสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิแต่ผู้เดียวที่จะอนุญาตให้ผู้อื่นทำซ้ำหรือดัดแปลงงานภาพยนตร์นั้นได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากโจทก์ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมนั้นก่อน เมื่อจำเลยที่ 7 โดยจำเลยที่ 8 ได้รับอนุญาตจากจำเลยที่ 1 ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานภาพยนตร์เรื่อง ผีเสื้อและดอกไม้ ให้นำงานภาพยนตร์นั้นไปทำซ้ำเป็นวิดีโอซีดี จำเลยที่ 7 โดยจำเลยที่ 8 จึงมีสิทธิโดยชอบตามสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 7 ที่จะทำซ้ำแก่งานภาพยนตร์นั้นเป็นวิดีโอซีดีได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากโจทก์ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมเรื่อง ผีเสื้อและดอกไม้ ก่อน การกระทำดังกล่าวของจำเลยที่ 7 โดยจำเลยที่ 8 ไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมเรื่อง ผีเสื้อและดอกไม้ ของโจทก์เช่นกัน เพราะจำเลยที่ 7 และที่ 8 มิได้ทำซ้ำแก่งานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์แต่อย่างใด ดังนี้ การที่จำเลยทั้งแปดนำภาพยนตร์เรื่อง ผีเสื้อและดอกไม้ ซึ่งโจทก์อนุญาตให้จำเลยที่ 1 นำงานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ดังกล่าวไปสร้างเป็นภาพยนตร์ไปทำซ้ำเป็นวิดีโอซีดีเพื่อขายและมีไว้เพื่อขายดังกล่าว จึงไม่เป็นความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมของโจทก์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27 (1) และมาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (1) ตามฟ้อง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share