คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 306/2517

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยบังอาจบุกรุกเข้าไปในสถานที่ราชการในเวลากลางคืน โดยมิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยเข้าไปโดยไม่มีเหตุอันสมควรแม้ข้อที่ว่าโดยไม่มีเหตุสมควรนั้นเป็นองค์ประกอบความผิดของมาตรา 364 แห่งประมวลกฎหมายอาญา แต่ก็เป็นองค์ประกอบความผิดสำหรับการกระทำโดยการเข้าไปหรือซ่อนตัวเท่านั้น และคำว่า “บังอาจบุกรุก” ที่โจทก์บรรยายฟ้องมา ย่อมเป็นที่เข้าใจได้แล้วว่าเป็นการเข้าไปโดยไม่มีเหตุอันสมควร นอกจากนี้โจทก์ยังได้บรรยายฟ้องต่อไปด้วยว่า เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจซึ่งเป็นผู้มีสิทธิที่จะห้ามมิให้จำเลยเข้าไปได้ไล่ให้ออกจำเลยก็ไม่ยอมออกไปเป็นการบรรยายข้อเท็จจริงตรงกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 364ในตอนที่ว่า “หรือไม่ยอมออกไปจากสถานที่เช่นว่านั้น เมื่อผู้มีสิทธิที่จะห้ามมิให้เข้าไปได้ไล่ให้ออก” และการไม่ยอมออกนี้ หาจำต้องกล่าวในฟ้องว่ากระทำโดยไม่มีเหตุอันสมควรด้วยไม่ ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องที่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 158(5) แล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้บังอาจบุกรุกเข้าไปในบริเวณที่ทำการตำรวจอันเป็นอสังหาริมทรัพย์ของกรมตำรวจในเวลากลางคืน เจ้าพนักงานตำรวจซึ่งประจำอยู่ ณ ที่ทำการ ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิที่จะห้ามมิให้จำเลยกับพวกเข้าไปได้ไล่ให้ออก จำเลยก็ไม่ยอมออกไปจากสถานที่ดังกล่าวขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๔, ๓๖๕
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์มิได้บรรยายฟ้องให้เห็นว่าสถานที่ราชการตามฟ้องมิใช่สถานที่ซึ่งประชาชนมีสิทธิจะเข้าไปติดต่อราชการได้ทั้งกลางวันและกลางคืน เพราะปกติประชาชนย่อมมีสิทธิจะเข้าไปในสถานที่ราชการได้ทุกแห่ง และโจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยเข้าไปในสถานที่ดังกล่าวโดยไม่มีเหตุสมควรอย่างไร อันเป็นองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๔, ๓๖๕ ฟ้องโจทก์จึงไม่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕๘ แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพ ก็ลงโทษไม่ได้ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ทำความเห็นแย้งว่า พอถือได้ว่าฟ้องโจทก์ได้บรรยายชัดแจ้งอยู่ในตัวแล้วว่าจำเลยได้บุกรุกเข้าไปโดยไม่มีเหตุอันสมควร ควรพิพากษาลงโทษจำเลย
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อที่ว่าโดยไม่มีเหตุสมควรนั้น เป็นองค์ประกอบความผิดของมาตรา ๓๖๔ แห่งประมวลกฎหมายอาญาก็จริง แต่ก็เป็นองค์ประกอบความผิดสำหรับการกระทำโดยการเข้าไปหรือซ่อนตัวเท่านั้นแม้โจทก์จะมิได้บรรยายฟ้องโดยใช้ถ้อยคำของกฎหมายว่า จำเลยกับพวกได้ร่วมกันเข้าไปในบริเวณที่ทำการตำรวจโดยไม่มีเหตุอันสมควร แต่โจทก์ก็ได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยกับพวกได้บังอาจร่วมกันบุกรุกเข้าไปในบริเวณที่ทำการนั้นคำว่า “บังอาจบุกรุก” ย่อมเป็นที่เข้าใจได้แล้วว่าเป็นการเข้าไปโดยไม่มีเหตุอันสมควรนั่นเอง ยิ่งกว่านั้นโจทก์ยังได้บรรยายฟ้องต่อไปด้วยว่าเมื่อเจ้าพนักงานตำรวจซึ่งเป็นผู้มีสิทธิจะห้ามมิให้จำเลยเข้าไปได้ไล่ให้ออกจำเลยก็ไม่ยอมออกไป เป็นการบรรยายข้อเท็จจริงตรงกับบทบัญญัติมาตรา ๓๖๔ ในตอนที่ว่า “หรือไม่ยอมออกไปจากสถานที่เช่นว่านั้น เมื่อผู้มีสิทธิที่จะห้ามมิให้เข้าไปได้ไล่ให้ออก” แล้ว ซึ่งการไม่ยอมออกนี้หาจำต้องกล่าวในคำฟ้องว่ากระทำโดยไม่มีเหตุอันสมควรด้วยไม่การกระทำของจำเลยตามคำบรรยายฟ้องครบองค์ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๔, ๓๖๕ แล้ว และเมื่อจำเลยให้การรับสารภาพข้อเท็จจริงฟังได้ตามฟ้อง ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรพิพากษาไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวน
พิพากษากลับ เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๖๕ ลงโทษจำคุก ๖ เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามมาตรา ๗๘คงจำคุกจำเลย ๓ เดือน

Share