แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 และ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ต่างมีวัตถุประสงค์ให้ความคุ้มครองแก่ลูกจ้างไม่ให้ถูกนายจ้างเลิกจ้างโดยไม่ได้กระทำความผิดเช่นเดียวกัน โดย พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ให้ลูกจ้าง ที่ถูกเลิกจ้างมีสิทธินำคำร้องกล่าวหานายจ้างไปยื่นต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ตามมาตรา 124 เพื่อให้ คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์พิจารณาวินิจฉัยและออกคำสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงาน หรือจ่ายค่าเสียหาย หรือปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่เห็นสมควรได้ในกรณีที่การเลิกจ้างเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามมาตรา 41 (4) และมาตรา 125 ส่วน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ให้ลูกจ้างมีสิทธิยื่นคำร้องต่อพนักงาน ตรวจแรงงานเพื่อให้พนักงานตรวจแรงงานสอบสวนและมีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยตามมาตรา 123 และมาตรา 124 ในกรณีที่การเลิกจ้างนั้นเป็นทั้งการกระทำอันไม่เป็นธรรมและการเลิกจ้างโดยลูกจ้างไม่ได้กระทำความผิด แม้ลูกจ้างจะมีสิทธิยื่นคำร้องดังกล่าวได้ ทั้งต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์และพนักงานตรวจแรงงานก็ตาม แต่ลูกจ้างจะถือเอาประโยชน์จากคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ และคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน ซึ่งมาจากเหตุแห่งการเลิกจ้างเดียวกันทั้งสองทางมิได้ เพราะจะเป็นการซ้ำซ้อน ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกฎหมาย ลูกจ้างจะต้องเลือกรับเอาประโยชน์ตามคำสั่งดังกล่าวอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียว เมื่อลูกจ้างเลือกเข้าถือเอาประโยชน์ตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน ดังนี้ ย่อมถือได้ว่าลูกจ้างสละสิทธิไม่ถือเอาประโยชน์ตามคำสั่งของคณะกรรมการ แรงงานสัมพันธ์แล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยปฏิบัติตามคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ ๑๗๔/๒๕๔๓ โดยให้จำเลย รับโจทก์กลับเข้าทำงานตามเดิมและให้จ่ายค่าเสียหายเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายนับแต่วันเลิกจ้างจนถึงวันกลับเข้าทำงาน
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า แม้ พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ และ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ จะกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเยียวยาแก่ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างไว้แตกต่างกัน และเป็นกฎหมายคนละฉบับ แต่ก็เป็นเรื่องที่มีวัตถุประสงค์จะให้ความคุ้มครองแก่ลูกจ้างไม่ให้ถูกนายจ้างเลิกจ้างโดยไม่ได้กระทำความผิดเช่นเดียวกัน โดย พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ ให้ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างมีสิทธินำคำร้องกล่าวหานายจ้างไปยื่นต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ตามมาตรา ๑๒๔ เพื่อให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์พิจารณาวินิจฉัยและออกคำสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงาน หรือจ่ายค่าเสียหาย หรือปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่เห็นสมควรได้ในกรณีที่การเลิกจ้างนั้นเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามมาตรา ๔๑ (๔) และมาตรา ๑๒๕ ส่วน พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ ให้ลูกจ้างมีสิทธิยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานเพื่อให้พนักงานตรวจแรงงานสอบสวนและมีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชย ตามมาตรา ๑๒๓ และมาตรา ๑๒๔ ในกรณีที่การเลิกจ้างนั้นเป็นทั้งการกระทำอันไม่เป็นธรรมและการเลิกจ้างโดยลูกจ้างไม่ได้กระทำความผิด แม้ลูกจ้างจะมีสิทธิยื่นคำร้องดังกล่าวได้ทั้งต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์และพนักงานตรวจแรงงานก็ตาม แต่ลูกจ้าง จะถือเอาประโยชน์จากคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์และคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานซึ่งมาจากเหตุ แห่งการเลิกจ้างเดียวกันทั้งสองทางมิได้ เพราะกรณีเช่นนี้เห็นได้ชัดเจนว่าจะเป็นการซ้ำซ้อนกันไม่เป็นไปตาม วัตถุประสงค์ของกฎหมาย ลูกจ้างจะต้องเลือกรับเอาประโยชน์ตามคำสั่งดังกล่าวอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียว เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าหลังจากที่โจทก์ถูกจำเลยเลิกจ้างแล้ว โจทก์ได้ยื่นคำร้องกล่าวหาจำเลยต่อคณะกรรมการ แรงงานสัมพันธ์ว่าการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์นั้นเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม ตาม พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๒๑ และเมื่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีคำสั่งที่ ๑๗๔/๒๕๔๓ ให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงาน และจ่ายค่าเสียหายนับแต่วันถูกเลิกจ้างจนถึงวันรับกลับเข้าทำงานแล้ว ต่อมาโจทก์ได้ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานขอให้มีคำสั่ง ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์อีกโดยอ้างเหตุแห่งการเลิกจ้างเดียวกันว่าโจทก์ถูกจำเลยเลิกจ้างโดยไม่ได้กระทำความผิด และเมื่อพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย โจทก์ก็ได้รับค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานไปครบถ้วน อันเป็นการเลือกเข้าถือเอาประโยชน์ตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานแล้ว ดังนี้ ย่อมถือได้ว่าโจทก์สละสิทธิไม่ถือเอาประโยชน์ตามคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ซึ่งมาจากเหตุแห่งการเลิกจ้างเดียวกันไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นคำสั่งในส่วนที่ให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานหรือให้จ่ายค่าเสียหาย นับแต่วันถูกเลิกจ้างจนถึงวันที่รับกลับเข้าทำงาน โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องร้องบังคับจำเลยตามคำสั่งของ คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้อีก ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นด้วยบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องเสียทั้งหมด .