คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 365/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้โจทก์ไม่ได้ยื่นคำร้องขอใบสำคัญประจำตัวต่อจำเลยภายในกำหนด30 วัน นับแต่วันที่ได้รู้หรือควรรู้ว่าโจทก์ได้เสียไปซึ่งสัญชาติไทยตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 8 ของพระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว พ.ศ. 2493 อันทำให้โจทก์ต้องได้รับโทษตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 21 ก็ตาม แต่โจทก์ก็ยังมีหน้าที่ต้องดำเนินการเพื่อให้โจทก์มีใบสำคัญประจำตัวต่อไป เพราะหากโจทก์ไม่มีใบสำคัญประจำตัวแล้วโจทก์ย่อมมีความผิดตามมาตรา 20 ของพระราชบัญญัติ ดังกล่าว ดังนั้น แม้พ้นกำหนด 30 วันนับแต่วันที่โจทก์ได้รู้หรือควรรู้ว่าโจทก์ได้เสียไปซึ่งสัญชาติไทย โจทก์ก็ยังมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้จำเลยออกใบสำคัญประจำตัวคือหนังสือประจำตัวคนต่างด้าวให้แก่โจทก์ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยซึ่งเป็นนายทะเบียนคนต่างด้าวอำเภอออกใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวให้แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ได้ยื่นคำร้องขอให้ออกใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวภายใน 30 วัน นับแต่วันที่โจทก์ได้รู้ว่าโจทก์เสียสัญชาติไทย โจทก์จึงหมดสิทธิที่จะขอมีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยออกใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวให้แก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยฎีกาว่า โจทก์มิได้ยื่นคำร้องขอใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวภายใน 30 วันนับแต่วันที่โจทก์รู้ว่าได้เสียไปซึ่งสัญชาติไทย โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะยื่นคำร้องให้จำเลยออกใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวให้แก่โจทก์นั้น ในปัญหานี้พระราชบัญญัติ การทะเบียนคนต่างด้าว พ.ศ. 2493 มาตรา 4 ให้นิยามศัพท์คำว่า “คนต่างด้าว” และ “ใบสำคัญประจำตัว” ว่า หมายความว่า”คนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ” และ “หนังสือประจำตัวของคนต่างด้าวซึ่งนายทะเบียนได้ออกให้ตามพระราชบัญญัตินี้”ตามลำดับมาตรา 5 บัญญัติว่า “คนต่างด้าวที่มีอายุตั้งแต่สิบสองปีบริบูรณ์ขึ้นไป ที่อยู่ในราชอาณาจักรต้องมีใบสำคัญประจำตัว”มาตรา 8 บัญญัติว่า “คนสัญชาติไทยผู้เสียไปซึ่งสัญชาติไทยไม่ว่าด้วยเหตุใด ให้ไปขอใบสำคัญประจำตัวจากนายทะเบียนในท้องที่ที่ตนอยู่ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รู้หรือควรรู้ว่าตนได้เสียไปซึ่งสัญชาติไทย” มาตรา 20 บัญญัติว่า “ผู้ใดไม่มีใบสำคัญประจำตัวตามความในมาตรา 5 ฯลฯ มีความผิดต้องระวางโทษปรับเป็นรายปีปีละไม่เกินหนึ่งร้อยบาทตลอดเวลาที่ไม่ปฏิบัติดังกล่าวแล้ว เศษของปีให้นับเป็นหนึ่งปี” และมาตรา 21 บัญญัติว่า “ผู้ใดละเลยไม่ปฏิบัติตามความในมาตรา 8 มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งร้อยบาท”จึงเห็นได้ชัดแจ้งว่าพระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว พ.ศ. 2493กำหนดให้คนต่างด้าวคือคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยตามกฎหมายต้องมีใบสำคัญประจำตัวคือหนังสือประจำตัวของคนต่างด้าวซึ่งนายทะเบียนได้ออกให้ตามพระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว โดยผู้ฝ่าฝืนมีความผิดทางอาญา ดังนั้นเมื่อโจทก์ถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515โจทก์จึงเป็นคนต่างด้าวโดยเป็นคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ และต้องมีใบสำคัญประจำตัวตามบทบัญญัติของพระราชบัญญัติ การทะเบียนคนต่างด้าว พ.ศ. 2493 เช่นนั้นและแม้โจทก์ไม่ได้ยื่นคำร้องขอใบสำคัญประจำตัวต่อจำเลยภายในกำหนดเวลา 30 วันนับแต่วันที่ได้รู้หรือควรรู้ว่าโจทก์ได้เสียไปซึ่งสัญชาติไทยตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 8 ของพระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าวพ.ศ. 2493 อันทำให้โจทก์ได้รับโทษตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 21ของพระราชบัญญัตินั้นแล้วก็ตาม แต่โจทก์ก็ยังมีหน้าที่ต้องดำเนินการเพื่อให้โจทก์มีใบสำคัญประจำตัวต่อไป เพราะหากโจทก์ไม่มีใบสำคัญประจำตัวแล้วโจทก์ย่อมมีความผิดตามมาตรา 20 ของพระราชบัญญัติดังกล่าว ดังนั้นแม้พ้นกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่โจทก์ได้รู้หรือควรรู้ว่าตนได้เสียไปซึ่งสัญชาติไทย โจทก์ก็ยังคงมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้จำเลยออกใบสำคัญประจำตัวคือหนังสือประจำตัวของคนต่างด้าวให้แก่โจทก์ได้ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาชอบแล้วฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share