คำวินิจฉัยที่ 31/2557

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่เอกชนยื่นฟ้องว่าเป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินตามหนังสือแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. ๑) โดยครอบครองต่อจากผู้มีชื่อ เมื่อขอออกโฉนดที่ดินเจ้าพนักงานที่ดินแจ้งว่าผู้ใหญ่บ้านซึ่งเป็นผู้ปกครองท้องที่ได้ยกที่ดินที่โจทก์ครอบครองให้กับจำเลยและระบุเป็นที่สาธารณประโยชน์ จึงได้แจ้งให้จำเลยคืนที่ดินพิพาท แต่จำเลยเพิกเฉยและกระทำโดยไม่มีอำนาจหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยผู้รับโอนย่อมไม่มีสิทธิใดๆ ในที่ดินพิพาท จำเลยให้การว่าที่ดินพิพาทมิได้ขอออกเอกสารสิทธิตามกฎหมาย ไม่มีหลักหมุดหรือภาพถ่ายทางอากาศบอกที่ตั้งตำแหน่งและแนวเขตที่ดิน โจทก์มิได้เข้าครอบครองปล่อยให้รกร้างว่างเปล่าจึงตกเป็นที่ดินของรัฐเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน เห็นว่า การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองตามที่กล่าวอ้าง หรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๓๑/๒๕๕๗

วันที่ ๓ เมษายน ๒๕๕๗

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลจังหวัดสงขลา
ระหว่าง
ศาลปกครองสงขลา

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดสงขลาโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดีและศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๕๕ นายสุเอิบ ตรีวัย โจทก์ ยื่นฟ้อง กรมที่ดิน จำเลย ต่อศาลจังหวัดสงขลา เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๙๘๒/๒๕๕๕ ความว่า โจทก์เป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินตามหนังสือแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. ๑) หมู่ที่ ๓ ตำบลท่าช้าง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นหมู่ที่ ๓ ตำบลท่าช้าง อำเภอบางกล่ำ จังหวัดสงขลา เนื้อที่ประมาณ ๖ ไร่เศษ โดยครอบครองต่อจากผู้มีชื่อ ประมาณปลายเดือนเมษายน ๒๕๕๕ โจทก์ขอตรวจสอบเอกสารสิทธิที่ดินพิพาท ณ สำนักงานที่ดินจังหวัดสงขลา สาขาบางกล่ำ เพื่อขอออกโฉนดที่ดิน เจ้าพนักงานที่ดินแจ้งว่าผู้ใหญ่บ้านซึ่งเป็นผู้ปกครองท้องที่ได้ยกที่ดินที่โจทก์ครอบครองให้กับจำเลยและระบุเป็นที่สาธารณประโยชน์ โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยคืนที่ดินให้กับโจทก์ แต่จำเลยเพิกเฉย การที่ผู้ปกครองท้องที่ยกที่ดินของโจทก์ให้จำเลยเป็นการกระทำที่ไม่มีอำนาจและไม่ชอบด้วยกฎหมายทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยในฐานะผู้รับโอนย่อมไม่มีสิทธิใดๆ ในที่ดินพิพาท ขอให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทและให้จำเลยจดทะเบียนเพิกถอนที่ดินพิพาท
จำเลยให้การว่า จำเลยมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการตามประมวลกฎหมายที่ดิน ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเนื่องจากที่ดินตาม ส.ค. ๑ ไม่มีเอกสารสิทธิ ไม่มีหลักหมุดหรือภาพถ่ายทางอากาศบอกที่ตั้งตำแหน่งและแนวเขตที่ดินว่ามีที่ตั้งอยู่บริเวณใดและติดต่อกับบุคคลใดบ้าง และมิได้บรรยายว่าเจ้าหน้าที่ผู้ใดรับโอนสิทธิครอบครองที่ดินที่พิพาทและจดทะเบียนระบุเป็นที่สาธารณประโยชน์เมื่อใดหรือเกี่ยวข้องอย่างไร ประกอบกับที่ดินแปลงดังกล่าวได้ปล่อยรกร้างว่างเปล่ามิได้เข้าครอบครองเป็นระยะเวลานานจึงตกเป็นที่ดินของรัฐตามประมวลกฎหมายที่ดิน โจทก์ไม่อาจอ้างสิทธิครอบครองที่ดินแปลงพิพาทและไม่ใช่ผู้ถูกโต้แย้งสิทธิ จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ เมื่อปี ๒๕๒๐ พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้ทำการรังวัดเดินสำรวจเพื่อออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ผู้ใหญ่บ้านในขณะนั้นแจ้งแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ว่าที่ดินดังกล่าวเป็นที่สาธารณประโยชน์ใช้ในการทิ้งเศษแร่ ในภายหลังประชาชนได้บุกรุกครอบครองทำประโยชน์ในพื้นที่ทำการปลูกต้นยางพาราและต้นปาล์มโดยไม่ทราบเนื้อที่แน่ชัดและที่ดินบางส่วนยังคงรกร้างว่างเปล่า โจทก์ไม่ทราบแน่ชัดว่าครอบครองที่ดินบริเวณใดมีเพียงหลักฐาน ส.ค. ๑ ซึ่งต้องยื่นคำขอออกโฉนดที่ดิน หรือ น.ส. ๓ ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อทำการรังวัดและสอบสวนสิทธิตามขั้นตอนของกฎหมายซึ่งโจทก์มิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องแต่อย่างใด ขอให้ศาลยกฟ้อง
จำเลยยื่นคำร้องว่า ข้อพิพาทในคดีนี้อยู่อำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดสงขลาพิจารณาแล้วเห็นว่า โจทก์อ้างว่าเป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดิน (ส.ค. ๑) หมู่ที่ ๓ ตำบลท่าช้าง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ตรวจสอบเอกสารพบว่าเจ้าพนักงานที่ดินกำหนดให้ที่ดินของโจทก์ เป็นที่สาธารณประโยชน์เพราะได้รับแจ้งยกให้จากผู้ใหญ่บ้านซึ่งเป็นผู้ปกครองท้องที่ ขอให้จดทะเบียนเพิกถอน เท่ากับโจทก์ฟ้องคดีนี้โดยมีความประสงค์ให้ศาลมีคำพิพากษา หรือมีคำสั่งให้รับรองหรือคุ้มครองสิทธิในที่ดินของโจทก์ เพราะโจทก์อ้างว่าที่ดินของโจทก์ไม่ใช่ที่ดินสาธารณประโยชน์ เมื่อไม่ปรากฏว่าก่อนหน้านี้ จำเลยได้ทำการเพิกถอนเอกสารในแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. ๑) ของโจทก์แต่อย่างใด ดังนั้น ก่อนที่จะพิจารณาประเด็นเกี่ยวกับการทำแผนที่ของจำเลย จึงต้องพิจารณาเกี่ยวกับการครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินของโจทก์ก่อนว่าที่ดินของโจทก์ไม่ใช่ที่ดินสาธารณประโยชน์ตามที่โจทก์กล่าวอ้างหรือไม่ แม้โจทก์อ้างว่าเจ้าพนักงานที่ดินระบุในแผนที่ว่าที่ดินของโจทก์เป็นที่สาธารณประโยชน์อันเป็นการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมาย แต่การจะพิสูจน์ถึงเรื่องดังกล่าวมาใช้พิจารณาจากรูปแบบ ขั้นตอน วิธีการ การออกกฎ ระเบียบ คำสั่ง อันเป็นสาระสำคัญในการออกแผนที่ของเจ้าพนักงานที่ดิน เพียงแต่พิสูจน์ถึงสิทธิครอบครองและการทำประโยชน์ในที่ดินของโจทก์อันเป็นข้อเท็จจริงในที่ดินพิพาทว่าเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์หรือไม่เท่านั้น ซึ่งต้องนำสืบถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสิทธิครอบครองรวมถึงการทำประโยชน์ จึงเป็นเรื่องของการวินิจฉัยข้อเท็จจริงที่นำไปสู่ประเด็นในคดีเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินที่มาจากข้อพิพาทเกี่ยวกับข้อเท็จจริงเป็นหลัก หากพิจารณาตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ แล้วเห็นได้ว่ามิได้มีความมุ่งหมายให้ศาลปกครองมีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินไว้ ประเด็นแห่งคดีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองสงขลาพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยเป็นกรมสังกัดกระทรวงมหาดไทย จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยเป็นข้าราชการและเป็นบุคคลซึ่งใช้อำนาจหรือได้รับมอบให้ใช้อำนาจทางปกครองของรัฐในการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งตามกฎหมาย จึงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ เมื่อโจทก์ฟ้องอ้างว่า โจทก์เป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. ๑) หมู่ที่ ๓ ตำบลท่าช้าง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐสังกัดจำเลยกำหนดให้ที่ดินที่โจทก์ครอบครองและทำประโยชน์ดังกล่าวเป็นที่สาธารณประโยชน์เพราะได้รับแจ้งยกให้ที่ดินจากผู้ใหญ่บ้านซึ่งเป็นผู้ปกครองท้องที่โดยไม่มีอำนาจและไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้จำเลยจดทะเบียนเพิกถอนที่ดินตามแผนที่ที่ดินพิพาท กรณีจึงเป็นเรื่องที่โจทก์มุ่งประสงค์ให้ศาลตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำของจำเลยที่ระบุรายละเอียดในระวางรูปถ่ายทางอากาศว่าที่ดินที่โจทก์กล่าวอ้างการครอบครองทำประโยชน์ตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. ๑) เลขที่ ๔๖๔ หมู่ที่ ๓ ตำบลท่าช้าง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ว่าเป็นที่สาธารณประโยชน์ เพื่อให้ศาลแก้ไขการระบุขอบเขตในระวางรูปถ่ายทางอากาศในส่วนที่ทับที่ดินของโจทก์ ดังนั้น ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คดีนี้โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ อ้างว่าเป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินตามหนังสือแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. ๑) โดยครอบครองต่อจากผู้มีชื่อ โจทก์ขอออกโฉนดที่ดิน เจ้าพนักงานที่ดินแจ้งว่าผู้ใหญ่บ้านซึ่งเป็นผู้ปกครองท้องที่ได้ยกที่ดินที่โจทก์ครอบครองให้กับจำเลยและระบุเป็นที่สาธารณประโยชน์ จึงได้แจ้งให้จำเลยคืนที่ดินพิพาท แต่จำเลยเพิกเฉยและกระทำโดยไม่มีอำนาจหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยผู้รับโอนย่อมไม่มีสิทธิใดๆ ในที่ดินพิพาท ขอให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทและให้จำเลยจดทะเบียนเพิกถอนที่ดินพิพาท จำเลยให้การว่า มีอำนาจหน้าที่ตามประมวลกฎหมายที่ดิน ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเนื่องจากที่ดินตาม ส.ค. ๑ มิได้ขอออกเอกสารสิทธิตามกฎหมาย ไม่มีหลักหมุดหรือภาพถ่ายทางอากาศบอกที่ตั้งตำแหน่งและแนวเขตที่ดิน โจทก์มิได้เข้าครอบครองปล่อยให้รกร้างว่างเปล่าจึงตกเป็นที่ดินของรัฐเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน โจทก์ไม่ใช่ผู้ถูกโต้แย้งสิทธิจึงไม่มีอำนาจฟ้องและฟ้องโจทก์ขาดอายุความ เห็นว่า การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองตามที่กล่าวอ้าง หรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนายสุเอิบ ตรีวัย โจทก์ กรมที่ดิน จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลเรือโท กฤษฎา เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(กฤษฎา เจริญพานิช) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share