คำวินิจฉัยที่ 122/2557

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

การที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติยื่นฟ้องเอกชนตามสัญญาซื้อขายรถจักรยานยนต์นำขบวนพร้อมสัญญาณไฟไซเรนและวิทยุสื่อสาร เพื่อใช้ในภารกิจของโจทก์เกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยให้แก่บุคคลสำคัญ จะเห็นได้ว่า โจทก์และจำเลยไม่มีวัตถุประสงค์ให้คู่สัญญาเข้าดำเนินกิจการหรือเข้าร่วมภารกิจของโจทก์ และวัตถุประสงค์ของสัญญาไม่ได้เป็นไปเพื่อการจัดทำบริการสาธารณะ เป็นแต่เพียงให้ได้มาซึ่งเครื่องมือที่ใช้ในหน่วยงานของโจทก์เท่านั้น ทั้งข้อกำหนดของสัญญามีลักษณะผูกพันกันด้วยใจสมัครตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเสมอภาค เมื่อสัญญาพิพาทไม่มีลักษณะเป็นสัญญาตามบทนิยามในมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ การทำสัญญาระหว่างโจทก์และจำเลยจึงเป็นเพียงการก่อให้เกิดนิติสัมพันธ์ตามกฎหมายเอกชน แม้สัญญาพิพาทมีคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง แต่เมื่อวัตถุประสงค์ของสัญญามิได้เป็นไปเพื่อการจัดทำบริการสาธารณะอันเป็นแนวคิดพื้นฐานของการจัดให้มีสัญญาทางปกครองที่เป็นข้อแตกต่างจากสัญญาทางแพ่ง สัญญาพิพาทจึงเป็นเพียงสัญญาทางแพ่งที่มีหน่วยงานทางปกครองเป็นคู่สัญญาเท่านั้น ข้อพิพาทในคดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๒๒/๒๕๕๗

วันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๕๗

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔)

ศาลจังหวัดมีนบุรี
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดมีนบุรีส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๕๖ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โจทก์ ยื่นฟ้องบริษัทพานทองแท้เจริญยนต์ จำกัด จำเลย ต่อศาลจังหวัดมีนบุรี เป็นคดีหมายเลขดำที่ พ. ๑๔๐๕/๒๕๕๖ ความว่า เมื่อวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๕๕ โจทก์ทำสัญญาซื้อขายรถจักรยานยนต์นำขบวน ปริมาตรกระบอกสูบไม่ต่ำกว่า ๑,๖๐๐ ซี.ซี. ยี่ห้อ HARLAY DAVIDSON รุ่น ELECTRA GLIDE CLASSIC พร้อมสัญญาณไฟไซเรน และวิทยุสื่อสาร ๑๐ คัน เป็นเงินจำนวน ๑๕,๗๙๙,๖๒๐ บาท กับจำเลย กำหนดส่งมอบรถจักรยานยนต์พร้อมสัญญาณไฟไซเรน และวิทยุสื่อสารภายในวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๕๕ แต่จำเลยผิดสัญญาไม่ส่งมอบรถจักรยานยนต์พร้อมสัญญาณไฟไซเรน และวิทยุสื่อสารดังกล่าวภายในกำหนด โจทก์บอกเลิกสัญญาและมีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระค่าปรับตามสัญญา แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าปรับจำนวน ๓,๖๙๗,๑๑๑.๐๘ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปีของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยมิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าปรับ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดมีนบุรีพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้แม้ว่าสัญญาซื้อขายรถจักรยานยนต์พร้อมสัญญาณไฟไซเรนและวิทยุสื่อสารจะมีโจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองทำสัญญาซื้อรถจักรยานยนต์พร้อมสัญญาณไฟไซเรนและวิทยุสื่อสารกับจำเลยก็ตาม แต่สัญญาซื้อขายรถจักรยานยนต์พร้อมสัญญาณไฟไซเรนและวิทยุสื่อสารดังกล่าวเป็นสัญญาซื้อขายที่เกิดจากโจทก์และจำเลยซึ่งอยู่ในฐานะที่เท่าเทียมกัน แสดงเจตนาโดยใจสมัคร ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หาได้เป็นสัญญาที่โจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองตกลงมอบหมายให้จำเลยใช้อำนาจทางปกครองหรือให้ดำเนินกิจการทางปกครอง อีกทั้งสัญญาดังกล่าวมิได้มีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะหรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ สัญญาพิพาทในคดีนี้จึงเป็นสัญญาทางแพ่งที่มีหน่วยงานทางปกครองเป็นคู่สัญญาเท่านั้น ข้อพิพาทในคดีนี้จึงไม่ใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์เป็นหน่วยงานทางปกครองได้ตกลงซื้อรถจักรยานยนต์นำขบวนพร้อมสัญญาณไฟไซเรนและวิทยุสื่อสารจำนวน ๑๐ คัน จากจำเลย โดยโจทก์มีวัตถุประสงค์ในการจัดซื้อเพื่อให้กองบัญชาการตำรวจสันติบาลใช้เป็นยานพาหนะสำหรับนำขบวนบุคคลสำคัญ ซึ่งเมื่อพิจารณาพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๒ มาตรา ๕ ข. (๒๒) บัญญัติให้ กองบัญชาการตำรวจสันติบาลมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้ … (ข) ถวายความปลอดภัยสำหรับองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนพระองค์ และพระราชอาคันตุกะ … (จ) ดำเนินการเกี่ยวกับงานด้านการรักษาความปลอดภัยของบุคคลสำคัญและสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศ… จากบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่า บุคคลสำคัญที่ต้องถวายความปลอดภัยตามอำนาจหน้าที่ของกองบัญชาการตำรวจสันติบาลนั้น หมายความรวมถึง องค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนพระองค์ และพระราชอาคันตุกะ และบุคคลสำคัญอื่น ๆ ซึ่งล้วนเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศและ การนำขบวนดังกล่าวถือเป็นการถวายความปลอดภัยสำหรับองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนพระองค์ และพระราชอาคันตุกะ และการรักษาความปลอดภัยของบุคคลสำคัญ ซึ่งถือเป็นการจัดทำบริการสาธารณะทางด้านความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ดังนั้น รถจักรยานยนต์ พร้อมสัญญาณไฟไซเรนและวิทยุสื่อสารดังกล่าวจึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศให้บรรลุผล เมื่อสัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยมีลักษณะเป็นสัญญาที่คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง และมีวัตถุแห่งสัญญาเป็นการจัดหาเครื่องมือสำคัญในการจัดทำบริการสาธารณะด้านความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ สัญญาซื้อขายดังกล่าว จึงเป็นสัญญาทางปกครอง คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบกับมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทำสัญญาซื้อขายรถจักรยานยนต์นำขบวน ปริมาตรกระบอกสูบไม่ต่ำกว่า ๑,๖๐๐ ซี.ซี. ยี่ห้อ Harlay Davidson รุ่น Electra Glide Classic พร้อมสัญญาณไฟไซเรน และวิทยุสื่อสาร ๑๐ คัน เป็นเงินจำนวน ๑๕,๗๙๙,๖๒๐ บาท กับจำเลย แต่จำเลย ผิดสัญญาไม่ส่งมอบภายในเวลาที่กำหนด โจทก์บอกเลิกสัญญาและทวงถามให้จำเลยชำระค่าปรับ แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าปรับพร้อมดอกเบี้ย ส่วนจำเลยให้การว่า จำเลยมิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าปรับ ขอให้ยกฟ้อง และจำเลยได้โต้แย้งว่า สัญญาพิพาทเป็นสัญญาเพื่อบริการสาธารณะอันเป็นสัญญาทางปกครอง
กรณีจึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า สัญญาพิพาทเป็นสัญญาทางแพ่งหรือสัญญาทางปกครอง เห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง และมาตรา ๓ บัญญัติให้สัญญาทางปกครอง หมายความรวมถึง สัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเป็นบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐ และมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ คดีนี้แม้โจทก์จะเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ แต่เมื่อพิจารณาสัญญาพิพาทซึ่งเป็นสัญญาที่โจทก์ตกลงซื้อรถจักรยานยนต์ ปริมาตรกระบอกสูบไม่ต่ำกว่า ๑,๖๐๐ ซี.ซี. ยี่ห้อ Harlay Davidson รุ่น Electra Glide Classic พร้อมสัญญาณไฟไซเรนและวิทยุสื่อสาร จำนวน ๑๐ คัน จากจำเลย เพื่อให้กองบัญชาการตำรวจสันติบาลใช้เป็นยานพาหนะสำหรับนำขบวน แม้กองบัญชาการตำรวจสันติบาลจะมีหน้าที่ (ข) ถวายความปลอดภัยสำหรับองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนพระองค์ และพระราชอาคันตุกะ และ (จ) ดำเนินการเกี่ยวกับงานด้านการรักษาความปลอดภัยของบุคคลสำคัญและสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศ และการซื้อรถจักรยานยนต์ดังกล่าวเป็นไป เพื่อใช้ในภารกิจของโจทก์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาความปลอดภัยให้แก่บุคคลสำคัญ แต่ระหว่างคู่สัญญาแล้ว โจทก์และจำเลยไม่มีวัตถุประสงค์ให้คู่สัญญาเข้าดำเนินกิจการหรือเข้าร่วมภารกิจของโจทก์ และวัตถุประสงค์ของสัญญาไม่ได้เป็นไปเพื่อการจัดทำบริการสาธารณะ เป็นแต่เพียงให้ได้มาซึ่งเครื่องมือ ที่ใช้ในหน่วยงานของโจทก์เท่านั้น ทั้งข้อกำหนดของสัญญามีลักษณะผูกพันกันด้วยใจสมัครตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเสมอภาค เมื่อสัญญาพิพาทไม่มีลักษณะเป็นสัญญาจัดให้ทำบริการสาธารณะ สัญญาสัมปทาน สัญญาที่จัดให้มีสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ การทำสัญญาระหว่างโจทก์และจำเลยจึงเป็นเพียงการก่อให้เกิดนิติสัมพันธ์ตามกฎหมายเอกชน ดังนี้ แม้สัญญาพิพาทเป็นสัญญาซึ่งมีคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง แต่เมื่อวัตถุประสงค์ของสัญญามิได้เป็นไปเพื่อการจัดทำบริการสาธารณะอันเป็นแนวคิดพื้นฐานของการจัดให้มีสัญญาทางปกครองที่เป็นข้อแตกต่างจากสัญญาทางแพ่ง สัญญาพิพาทจึงเป็นเพียงสัญญาทางแพ่งที่มีหน่วยงานทางปกครองเป็นคู่สัญญาเท่านั้น ข้อพิพาทในคดีนี้ จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ อันจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง แต่เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โจทก์ บริษัทพานทองแท้ เจริญยนต์ จำกัด จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share