คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 452/2491

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำบังคับ คือคำสั่งแก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาให้ปฎิบัติตามคำพิพากษาและกำหนดวิธีที่จะปฎิบัติไว้ พร้อมทั้งระบุระยะเวลาและเงื่อนไขอื่น ๆ ตามที่จำเป็น (วิ.แพ่ง.ม.272 – 273) และ ป.วิ.แพ่ง มาตรา 273 นี้ กำหนดวิธีบังคับไว้ในตอนท้ายว่า ถ้าผู้ต้องบังคับมิได้ปฏิบัติตามคำบังคับ ผู้นั้นจะต้องถูกยึดทรัพย์หรือถูกจับหรือจำขังดังที่บัญญัติไว้ในภาค 4 ลักษณะ 2 หมวด 1 กล่าวคือ ถ้าเป็นกรณีที่จะดำเนินการทางเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ ศาลก็ออกหมายบังคับคดี (ม.275 – 276) แต่ถ้าเป็นกรณีที่ไม่ต้องดำเนินการทางเจ้าพนักงานบังคับคดี ก็ทำการจับหรือจำขังเพื่อให้ปฏิบัติตามคำบังคับได้แล้วแต่เรื่อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาขับไล่จำเลยและบริวารออกจาห้องเช่าพ้นกำหนดคำบังคับแล้ว จำเลยยังขัดขืนไม่ยอมออกจากห้อง ดังนี้ศาลออกหมายจับจำเลยมากักขังฐานไม่ปฎิบัติตามคำบังคับได้

ย่อยาว

เดิมศาลแขวงพระนครเหนือได้พิพากษาให้จำเลยและบริวารออกจากที่เช่าของโจทก์ กับให้ใช้ค่าเสียหาย พ้นกำหนดคำบังคับแล้ว จำเลยและบริวารยังไม่ออก โจทก์จึงขอให้ศาลออกหมายจับจำเลยมากักขังฐานไม่ปฏิบัติตามคำบังคับ ในชั้นแรกจำเลยขอยืดเวลาต่อไป โจทก์ยินยอม ศาลจึงงดการกักขังจำเลยไว้ชั่วคราว ต่อมาครบกำหนดที่ขอผ่อนผันแล้ว จำเลยยังขัดขืนไม่ยอมออก โจทก์จึงยื่นคำร้องขอให้ศาลหมายจับจำเลยมากักขัง ศาลแขวงพระนครเหนือออกหมายจับ
ต่อมาตำรวจได้ส่งตัวจำเลยต่อศาล จำเลยแถลงว่า พร้อมที่จะส่งห้องเช่าคืน โจทก์แถลงว่า จำเลยได้ปฎิบัติตามคำบังคับของศาลแล้ว ศาลจึงสั่งปล่อย
จำเลยยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลที่ออกหมายจับจำเลยว่าเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย
ศาลอุทธณ์พิพากษาว่า ศาลออกหมายจับจำเลยถูกต้องแล้ว
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อที่จำเลยฎีกาว่าคดีนี้ยังไม่ถึงที่สุด ศาลจะจับกุมหรือขังจำเลยก่อนคำพิพากษาถึงที่สุดไม่ได้นั้น เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาแล้วดำเนินการยังคับคดีตามคำพิพากษาของตน จึงไม่ใช่เรื่องวิธีการชั่วคราวก่อนคำพิพากษา แต่เป็นการดำเนินการเมื่อพิพากษาแล้ว
ส่วนข้อที่ว่า คดีนี้มีแต่คำบังคับยังไม่มีหมายบังคับคดี จะมีการจับกุมหรือกักขังจำเลยไม่ได้นั้น เห็นว่า คำบังคับ คือคำสั่งแก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษา ให้ปฏิบัติตามคำพิพากษาและกำหนดวิธีที่จะปฏิบัติไว้ พร้อมทั้งระบุระยะเวลา และเงื่อนไขอื่น ๆ ตามที่จำเป็น (ม.๒๗๒ – ๒๗๓) และมาตรา ๒๗๓ นี้ กำหนดวิธีบังคับไว้ในตอนท้ายว่า ถ้าผู้ต้องคำบังคับมิได้ปฎิบัติตามคำบังคับ ผู้นั้นจะต้องถูกยึดทรัพย์หรือถูกจับจำขัง ดังที่บัญญัติไว้ในวิธีพิจารณาความแพ่งภาค ๔ ลักษณะ ๒ หมวด ๑ กล่าวคือ ถ้าเป็นกรณีที่จะดำเนินการทางเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ ศาลก็ออกหมายบังคับคดี (มาตรา ๒๗๕ – ๒๗๖) ถ้าเป็นกรณีที่ไม่ต้องดำเนินการทางเจ้าพนักงานบังคับคดีก็ทำการจับหรือจำขัง เพื่อให้ปฏิบัติตามคำบังคับได้แล้วแต่เรื่อง มาตราที่อยู่ในวิธีพิจารณาความแพ่งภาค ๔ ลักษณะ ๒ หมวด ๑ ที่ว่าด้วยการจับหรือจำขัง ซึ่งมาตรา ๒๗๓ ตอนท้าย ให้นำมาใช้ก็มีแต่ มาตรา ๒๙๗ ถึง ๓๐๒ ฉะนั้นแม้ในมาตราเหล่านี้มีมาตรา ๒๙๗ เป็นต้น จะใช้คำว่า “จับกุมและกักขังลูกหนี้ตามคำพิพากษา ซึ่งจงใจไม่ปฎิบัติตามหมายบังคับคดี ซึ่งออกบังคับเอาแก่ตน” ก็ดี แต่เมื่ออ่านรวมกับมาตรา ๒๗๓ และคำนึงถึงว่า กรณีเช่นนี้ไม่มีทางจะบังคับคดีในทางเจ้าพนักงานบังคับคดี จีงไม่มีทางจะออกหมายบังคับคดีแล้ว ก็ต้องเข้าใจว่า เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำบังคับ ก็จับกุมและกักขังตามมาตรา ๒๙๗ ได้ทีเดียว จึงพิพากษายืน

Share