คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย ทำหน้าที่หัวหน้าฝ่ายผลิต ส. ผู้จัดการโรงงานเรียกโจทก์มาพบแจ้งว่าจะย้ายโจทก์ โจทก์ถามเหตุผลว่า”ทำได้แค่นี้เองหรือนึกอยู่แล้วว่าจะทำอย่างนี้” ต่อมาโจทก์ได้พูดกับ พ. ผู้จัดการฝ่ายที่ห้องของ พ. เรื่องที่จะย้ายโจทก์ว่า “เลว เลวกว่าที่คิดไว้เสียอีก ตัวถ่วงความเจริญบริษัท หน้าหนากว่ากระจกแผ่นนี้” แล้วโจทก์ใช้มือทุบกระจกโต๊ะทำงาน ก่อนเดินออกจากห้องพูดว่า “เมื่อวันเสาร์นี้ไปไหน น่าจะให้ ม. ตบหน้าเสีย 1 ครั้ง” การกระทำดังกล่าวเป็นการ เสียดสีสบประมาทและแสดงกิริยาก้าวร้าวต่อผู้บังคับบัญชา อันเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานข้อ 37.3 แต่สาเหตุเนื่องมาจากโจทก์ถูกย้าย เพื่อมิให้เกิดการเผชิญหน้ากับ พ. ที่โจทก์ไม่นับถือและเคลือบแคลงใจจึงไม่ถึงขนาดเป็นการปฏิบัติเลวทรามเพราะจงใจฝ่าฝืนศีลธรรมหรือจารีตประเพณีไม่เป็นการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงตามข้อ 37.6 และตามข้อบังคับมิได้กำหนดว่าการฝ่าฝืนข้อ 37.3 เป็นกรณีร้ายแรงการกระทำของโจทก์ยังถือไม่ได้ว่าเป็นกรณีร้ายแรง จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงต้องจ่ายค่าชดเชย แต่ไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2539 จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างให้ทำหน้าที่หัวหน้างานฝ่ายผลิต ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ16,500 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 15 และ ทุกสิ้นเดือน ต่อมาวันที่ 2พฤศจิกายน 2541 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ โดยกล่าวหาว่าโจทก์กระทำการข่มขู่ก้าวร้าว ดูถูกเหยียดหยามผู้บังคับบัญชาซึ่งไม่เป็นความจริง จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมายโจทก์ทำงานกับจำเลยติดต่อกันครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี โจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน คิดเป็นเงิน 49,500 บาทและมีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 28 วัน เป็นเงิน 15,400 บาทจำเลยไม่ยอมจ่าย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะจ่ายเงินเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์กระทำผิดระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานในกรณีร้ายแรงและประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงโดยเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2541 ผู้จัดการโรงงานมีคำสั่งย้ายโจทก์ไปทำงานด้านควบคุมระบบบำบัดน้ำทำให้โจทก์ไม่พอใจผู้จัดการโรงงาน แสดงกิริยาก้าวร้าว กระด้างกระเดื่องต่อผู้จัดการโรงงานต่อหน้าพนักงานคนอื่น ๆ ซึ่งกำลังทำงานอยู่ นอกจากนี้โจทก์ยังพูดจาดูหมิ่นเหยียดหยามนางพรรณีวนธรรมสุจริต ผู้บังคับบัญชาอีกคนหนึ่งและแสดงกิริยาก้าวร้าวโดยใช้มือทุบกระจกโต๊ะทำงานของนางพรรณีอันเป็นการแสดงตนเป็นนักเลงอันธพาลก้าวร้าว กระด้างกระเดื่องไม่เคารพต่อผู้บังคับบัญชาทำให้เสียหายต่อการปกครอง เป็นการประพฤติตนไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงโดยสุจริตและถูกต้อง อันเป็นการกระทำผิดระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรงและประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า คำพูดและกิริยาที่โจทก์แสดงต่อนายสุรเดช ทูนไธสง และนางพรรณีหรือพรพรรณี วนธรรมสุจริตซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาเป็นการก้าวร้าว เสียดสีสบประมาทผู้บังคับบัญชายังไม่ถึงขั้นดูหมิ่น หมิ่นประมาทบุคคลอื่นซึ่งเป็นความผิดอาญา และยังไม่พอฟังว่าโจทก์ขู่เข็ญจะทำร้ายร่างกายนางพรรณี เหตุเกิดในห้องทำงานนางพรรณี ไม่ได้เกิดในที่สาธารณะที่มีผู้รู้เห็นเหตุการณ์ในวงกว้าง โจทก์กระทำการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับในการทำงานแต่ยังไม่ถึงขั้นร้ายแรงและเป็นการกระทำการอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต เมื่อจำเลยเลิกจ้างจำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ แต่ไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 49,400 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง(วันที่ 9 พฤศจิกายน 2541) จนกว่าจะจ่ายเงินเสร็จแก่โจทก์ คำขอนอกนี้ให้ยก

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยมีว่า โจทก์ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรงหรือไม่ เห็นว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย ครั้งสุดท้ายทำหน้าที่หัวหน้าฝ่ายผลิตเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2541 นายสุรเดช ทูนไธสง ผู้จัดการโรงงานมีคำสั่งโอนย้ายให้โจทก์ไปปฏิบัติหน้าที่ด้านควบคุมระบบบำบัดน้ำ นายสุรเดชเรียกโจทก์มาพบและแจ้งให้ทราบว่าจะย้ายโจทก์ไปคุมงานด้านอื่น โจทก์ถามเหตุผล และพูดกับนายสุรเดชซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาว่า “ทำได้แค่นี้เองหรือนึกอยู่แล้วว่าจะทำอย่างนี้” ต่อมาโจทก์ได้พูดคุยกับนางพรรณีหรือพรพรรณีวนธรรมสุจริต ผู้จัดการฝ่ายควบคุมคุณภาพและเป็นผู้บังคับบัญชาโจทก์ที่ห้องทำงานของนางพรพรรณีเรื่องที่จำเลยจะโยกย้ายโจทก์ดังกล่าว แล้วโจทก์ได้พูดกับนางพรพรรณีว่า “เลว เลวกว่าที่คิดไว้เสียอีก ตัวถ่วงความเจริญบริษัทหน้าหนากว่ากระจกแผ่นนี้” แล้วใช้มือทุบกระจกโต๊ะทำงานนางพรพรรณีก่อนเดินออกจากห้องยังพูดกับนางพรพรรณีว่า “เมื่อวันเสาร์นี้ไปไหนน่าจะให้นางสาวมณฑาตบหน้าเสีย 1 ครั้ง” จากข้อเท็จจริงดังกล่าวเห็นว่าถ้อยคำที่โจทก์พูดต่อนายสุรเดชและนางพรพรรณีมีลักษณะเป็นการเสียดสีและสบประมาทผู้บังคับบัญชา ส่วนการใช้มือทุบโต๊ะทำงานนางพรพรรณีก็เป็นการแสดงกิริยาก้าวร้าวต่อผู้บังคับบัญชา การกระทำของโจทก์จึงเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเอกสารหมาย ล.5 ข้อ 37.3แต่การกระทำของโจทก์ดังกล่าวก็เนื่องมาจากโจทก์ถูกโยกย้ายงาน เพื่อมิให้เกิดการเผชิญหน้ากับนางพรพรรณี ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาที่โจทก์แสดงออกว่าโจทก์ไม่ยอมรับนับถือและเคลือบแคลงใจดังปรากฏในคำสั่งจำเลยเอกสารหมาย ล.6 การกระทำของโจทก์ยังไม่ถึงขนาดเป็นการปฏิบัติเลวทรามเพราะจงใจฝ่าฝืนศีลธรรมหรือจารีตประเพณี ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำอันได้ชื่อว่าประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงตามข้อ 37.6 มีข้อต้องวินิจฉัยต่อไปว่าการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานดังกล่าวเป็นกรณีร้ายแรงหรือไม่ เห็นว่า ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเอกสารหมาย ล.5 มิได้กำหนดว่าการฝ่าฝืนข้อบังคับข้อ 37.3 เป็นกรณีร้ายแรง และเมื่อพิเคราะห์ถึงมาตรการในการพิจารณาลงโทษท้ายข้อบังคับดังกล่าว ซึ่งกำหนดลักษณะของการลงโทษในความผิดตามข้อ 37.3 ในกรณีเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยไว้ว่าเมื่อได้กระทำผิดในครั้งที่ 4 แสดงให้เห็นว่าตามข้อบังคับเกี่ยวกับทำงานของจำเลยมิได้ถือว่าการฝ่าฝืนข้อบังคับข้อที่ 37.3 เป็นกรณีร้ายแรงการกระทำของโจทก์ยังถือไม่ได้ว่าเป็นกรณีร้ายแรงคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

Share