คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1217/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การนัดหยุดงานกระทำโดยสหภาพแรงงาน บ. ถือว่าเป็นการทำแทนลูกจ้างทุกคนที่เป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานนั้น เมื่อได้มีการแจ้งนัดหยุดงานโดยชอบแล้ว สมาชิกของสหภาพแรงงานทุกคนมีสิทธิที่จะหยุดงานได้ สิทธิดังกล่าวเกิดขึ้นตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ฯอันเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ 46/2534 เฉพาะที่เกี่ยวกับผู้กล่าวหาที่ 1 ที่ 2 ที่ 5ที่ 6 และที่ 7 และให้ถือว่าคำสั่งเลิกจ้างของโจทก์เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย
จำเลยทั้งสิบเอ็ดให้การว่า คำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ 46/2534 เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์ขอแถลงการณ์ด้วยวาจานั้นเห็นว่าไม่จำเป็นจึงให้งด ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า ลูกจ้างของโจทก์ตั้งสหภาพแรงงานชื่อสหภาพแรงงานบางกอกกระสวยผู้กล่าวหาที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานดังกล่าว เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2534 สหภาพแรงงานบางกอกกระสวยยื่นข้อเรียกร้องขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างต่อโจทก์ เมื่อสหภาพแรงงานยื่นข้อเรียกร้องดังกล่าวแล้ว ต่อมาเป็นข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้แล้วในวันที่ 12 มิถุนายน 2534 ผู้กล่าวหาที่ 1 และที่ 2 ได้ทำหนังสือให้แก่โจทก์ว่า ได้รับทราบข้อเท็จจริงแล้ว จึงไม่ติดใจที่จะเรียกร้องใด ๆ ต่อโจทก์อีกต่อไปและมีความประสงค์จะเข้าทำงานปกติตามเอกสารหมาย จ.1 สหภาพแรงงานบางกอกกระสวยได้ใช้สิทธินัดหยุดงานตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายน 2534 เป็นต้นไป ต่อมาในวันที่ 18 ถึงวันที่ 22 มิถุนายน 2534 ผู้กล่าวหาที่ 1 และที่ 2ไม่ทำงาน โจทก์ถือว่าผู้กล่าวหาที่ 1 และที่ 2 ละทิ้งหน้าที่เกินกว่า 3 วันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร โจทก์จึงเลิกจ้างผู้กล่าวหาที่ 1 และที่ 2 ตามประกาศเลิกจ้างเอกสารหมาย จ.3 วันที่23 กรกฎาคม 2534 ซึ่งยังอยู่ในระหว่างข้อพิพาทแรงงานยังตกลงกันไม่ได้ สหภาพแรงงานบางกอกกระสวยขอยกเลิกการนัดหยุดงาน ต่อมาวันที่ 25 กรกฎาคม 2534 ผู้กล่าวหาที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 ได้ทำหนังสือให้แก่โจทก์เช่นเดียวกับที่ผู้กล่าวหาที่ 1 และที่ 2 ทำให้แก่โจทก์ ตามเอกสารหมาย จ.1 และในวันเดียวกันดังกล่าวโจทก์ได้ใช้สิทธิปิดงานเฉพาะลูกจ้างที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องตามเอกสารหมาย ล.2 โดยเริ่มปิดงานตั้งแต่วันที่ 26 กรกฎาคม 2534เวลา 12 นาฬิกา เป็นต้นไป ผู้กล่าวหาที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 ไม่ไปทำงานตั้งแต่วันที่ 26 กรกฎาคม 2534 ถึงวันที่ 1 สิงหาคม 2534โจทก์ถือว่าผู้กล่าวหาที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 ละทิ้งหน้าที่เกินกว่า3 วันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรโจทก์จึงเลิกจ้างผู้กล่าวหาที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 ตามประกาศเลิกจ้าง เอกสารหมายจ.4
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า การที่ผู้กล่าวหาที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 ได้ทำหนังสือให้แก่โจทก์ว่าได้รับทราบข้อเท็จจริงแล้ว จึงไม่ติดใจที่จะเรียกร้องใด ๆ ต่อโจทก์อีกต่อไป และมีความประสงค์จะเข้าทำงานตามปกติ ตามเอกสารหมายจ.1 เช่นนี้ ผู้กล่าวหาทั้งห้าจะยังคงมีสิทธิที่จะเข้าร่วมหยุดงานกับสหภาพแรงงานอีกต่อไปหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การนัดหยุดงานรายนี้กระทำโดยสหภาพแรงงานบางกอกกระสวย ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำแทนลูกจ้างทุกคนที่เป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานบางกอกกระสวยและเมื่อได้มีการแจ้งนัดหยุดงานโดยชอบแล้ว สมาชิกของสหภาพแรงงานทุกคนก็มีสิทธิที่จะหยุดงานได้ ซึ่งสิทธิดังกล่าวเกิดขึ้นตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 อันเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้ผู้กล่าวหาทั้งห้าจะได้ทำหนังสือตามเอกสารหมาย จ.1 ว่ามีความประสงค์จะเข้าทำงานตามปกติก็หาทำให้สิทธิที่จะหยุดงานที่มีอยู่ตามกฎหมายระงับไปไม่ ฉะนั้นการที่ผู้กล่าวหาที่ 1 และที่ 2 ไม่มาทำงานในระหว่างที่ยังอยู่ในช่วงระยะเวลานัดหยุดงานโดยชอบ จะถือว่าเป็นการละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุผลอันสมควรมิได้ ส่วนผู้กล่าวหาที่ 5 ที่ 6 และที่ 7นั้น ข้อเท็จจริงปรากฏว่าไม่มาทำงาน เพราะโจทก์ปิดงาน ซึ่งก็มิใช่เป็นการละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุผลอันสมควรเช่นกัน…”
พิพากษายืน.

Share