แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 2 กำหนดข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานว่าลูกจ้างที่ทำงานครบหนึ่งปีมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีได้หกวันโดยไม่มีการสะสมในปีถัดไป เมื่อโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยที่ 6 ในเดือนกรกฎาคม 2536 การทำงานในหนึ่งปีแรกจึงครบในเดือนกรกฎาคม 2537 และมีสิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปี นับแต่เมื่อครบหนึ่งปี นับแต่เริ่มทำงานและในปีถัดมาทุกปี ปีละหกวันทำงานตลอดมาจนถึงช่วงปีสุดท้าย คือ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2546 ถึงเดือนกรกฎาคม 2547 ซึ่งจำเลยที่ 2 เลิกจ้างโจทก์ในช่วงปีสุดท้ายนี้ โจทก์จึงมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีหกวันทำงานตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน แต่เมื่อปรากฏว่า ในปี 2546 โจทก์ไม่ได้ใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี และพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้จำเลยที่ 2 จ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 2546 ทั้งหกวันแก่โจทก์แล้วโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดไม่พอใจคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานส่วนนี้แล้วนำคดีไปสู่ศาลภายในสามสิบวันนับแต่ทราบคำสั่ง คำสั่งในส่วนนี้จึงเป็นที่สุด เมื่อศาลแรงงานกลางเห็นว่า นับแต่ต้นปี 2547 จนถึงเดือนกรกฎาคม 2547 โจทก์มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีอีกเพียงสี่วันทำงาน และโจทก์ได้ใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีในปี 2547 แล้วสองวัน จึงกำหนดให้จำเลยที่ 2 จ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 2547 แก่โจทก์อีกเพียงสองวันตามส่วนของวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่โจทก์พึงมีสิทธิตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 67 จึงชอบแล้ว และกรณีนี้โจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2 เกินกว่าหนึ่งปี มิใช่กรณีทำงานยังไม่ครบหนึ่งปีตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 แต่อย่างใด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรปราการ ที่ 151/2547 เฉพาะในส่วนที่วินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยของการผิดนัดชำระค่าชดเชย ทั้งโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปี 2547 และพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระดอกเบี้ยจากการผิดนัดชำระค่าชดเชยจำนวน 9,760.32 บาท และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 2547 จำนวน 2,730 บาท
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา คู่ความทั้งสองฝ่ายร่วมกันแถลงรับข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรปราการ ที่ 151/2547 ลงวันที่ 4 ตุลาคม 2547 ซึ่งมีข้อเท็จจริงจากฝ่ายลูกจ้าง นายจ้างและข้อพิจารณาของพนักงานตรวจแรงงาน ยกเว้นเฉพาะข้อเท็จจริงในเรื่องที่โจทก์ฟ้องว่า เห็นควรให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรปราการ ที่ 151/2547 ลงวันที่ 4 ตุลาคม 2547 ที่วินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยของการผิดนัดชำระค่าชดเชย และโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปี 2547 กับกรณีที่จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยจากการผิดนัดชำระค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 2547 ต่อโจทก์หรือไม่เท่านั้นที่คู่ความทั้งสองฝ่ายยังโต้แย้งกันอยู่
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรปราการ ที่ 151/2547 ลงวันที่ 4 ตุลาคม 2547 ของจำเลยที่ 1 เฉพาะประเด็นที่วินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปี 2547 และให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าทำงานสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 2547 จำนวน 2,730 บาท แก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อเดือนกรกฎาคม 2536 จำเลยที่ 2 จ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างตำแหน่งสุดท้ายผู้อำนวยการเดินรถ ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 40,950 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน ต่อมาวันที่ 21 กรกฎาคม 2547 จำเลยที่ 2 เลิกจ้างโจทก์โดยตกลงจ่ายค่าชดเชย แต่โจทก์เห็นว่าจำเลยที่ 2 ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายจึงไปร้องทุกข์ต่อจำเลยที่ 1 จนกระทั่งจำเลยที่ 1 มีคำสั่งให้จำเลยที่ 2 จ่ายเงินบางส่วน แต่โจทก์ไม่พอใจจึงได้ฟ้องคดีนี้ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ซึ่งอุทธรณ์ว่า โจทก์ทำงานในรอบปี 2547 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2547 ถึงวันที่ 21 กรกฎาคม 2547 ยังไม่ครบหนึ่งปี และจำเลยที่ 2 ไม่เคยมีการตกลงแบ่งสัดส่วนวันหยุดพักผ่อนประจำปีกรณีทำงานไม่ครบหนึ่งปี จึงมีปัญหาว่าโจทก์มีสิทธิได้รับค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปี 2547 หรือไม่นั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรปราการ ที่ 151/2547 ซึ่งเป็นที่ยุติในชั้นพิจารณาของศาลแรงงานกลางระบุว่า จำเลยที่ 2 กำหนดข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานว่าลูกจ้างที่ทำงานครบหนึ่งปีมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีได้หกวันโดยไม่มีการสะสมในปีถัดไป ในปี 2546 โจทก์ไม่ได้ใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี พนักงานตรวจแรงงานจึงมีคำสั่งให้จำเลยที่ 2 จ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีทั้งหกวันแก่โจทก์แล้ว ดังนั้น เมื่อโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2 ในเดือนกรกฎาคม 2536 การทำงานในหนึ่งปีแรกจึงครบในเดือนกรกฎาคม 2537 และมีสิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปีนับแต่เมื่อครบหนึ่งปีนับแต่เริ่มทำงานและในปีถัดมาทุกปี ปีละหกวันทำงานตลอดมาจนถึงช่วงปีสุดท้ายคือตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2546 ถึงเดือนกรกฎาคม 2547 ซึ่งจำเลยที่ 2 เลิกจ้างโจทก์ ในช่วงปีสุดท้ายนี้โจทก์จึงมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีหกวันทำงานตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน แต่เมื่อปรากฏว่าในปี 2546 โจทก์ไม่ได้ใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีและพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้จำเลยที่ 2 จ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 2546 ทั้งหกวันแก่โจทก์แล้วโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดไม่พอใจคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานส่วนนี้แล้วนำคดีไปสู่ศาลภายในสามสิบวันนับแต่ทราบคำสั่ง คำสั่งในส่วนนี้จึงเป็นที่สุด เมื่อศาลแรงงานกลางเห็นว่า นับแต่ต้นปี 2547 จนถึงเดือนกรกฎาคม 2547 โจทก์มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีอีกเพียงสี่วันทำงาน และโจทก์ได้ใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีในปี 2547 แล้วสองวัน จึงกำหนดให้จำเลยที่ 2 จ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 2547 แก่โจทก์อีกเพียงสองวันตามส่วนของวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่โจทก์พึงมีสิทธิตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 67 จึงชอบแล้ว และกรณีนี้โจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2 เกินกว่าหนึ่งปี มิใช่กรณีทำงานยังไม่ครบหนึ่งปีตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 แต่อย่างใด อุทธรณ์จำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.