คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5280/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบุตรของ จ. กับ ส. มารดาโจทก์ซึ่งหย่าขาดกันแล้ว ต่อมาจำเลยกับหญิงอื่นที่อ้างชื่อเป็น ส. มารดาโจทก์จดทะเบียนสมรสกันโดยมารดาโจทก์มิได้ทราบและมิได้ลงชื่อในฐานะคู่สมรสฝ่ายหญิง และ เด็กหญิง ม. ไม่ได้เป็นบุตรของ ส. และจำเลย ดังนี้ เป็นการกล่าวอ้างว่ามีการจดทะเบียนสมรสไม่ถูกต้องตามกฎหมายโดย ส. ไม่ได้ไปให้ความยินยอมโดยเปิดเผยต่อหน้านายทะเบียนและให้นายทะเบียนบันทึกความยินยอมนั้นไว้อันจะก่อให้เกิดสถานะความเป็นสามีภริยา หากเป็นจริงก็เป็นกรณีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1458 เรื่องให้ความยินยอมในการสมรสย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1495 ซึ่งจะต้องมีคำพิพากษาของศาลเท่านั้นที่จะแสดงว่าการสมรสเป็นโมฆะ โดยคู่สมรส บิดามารดา หรือผู้สืบสันดานของคู่สมรสอาจร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะได้ตามมาตรา 1496 ดังนั้น แม้ ส. จะถึงแก่ความตายไปแล้วอันเป็นเหตุให้การสมรสระหว่างจำเลยกับ ส. มารดาโจทก์เป็นอันสิ้นสุดลงก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้ก็ตาม แต่เมื่อการสมรสระหว่างจำเลยกับ ส. ยังปรากฏความเป็นโมฆะอยู่โดยยังไม่มีคำพิพากษาให้เป็นโมฆะเช่นนี้ย่อมกระทบกระเทือนสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นผู้สืบสันดานของ ส. โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องขอให้การสมรสระหว่างจำเลยกับ ส. เป็นโมฆะได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง ขอให้ศาลพิพากษาให้การจดทะเบียนสมรสระหว่างจำเลยกับมารดาโจทก์เป็นโมฆะ
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการจดทะเบียนสมรสระหว่างจำเลยกับนางสุดา มารดาโจทก์เป็นโมฆะ โดยอ้างว่า จำเลยจดทะเบียนสมรสกับหญิงอื่น โดยหญิงนั้นแอบอ้างชื่อว่าเป็นนางสุดา แต่นางสุดามิเคยทราบเรื่องนี้และไม่เคยลงลายมือชื่อในฐานะคู่สมรสฝ่ายหญิงแต่อย่างใด และเด็กหญิงมยุรา ไม่ได้เป็นบุตรของนางสุดาและจำเลย ดังนี้ เป็นการกล่าวอ้างว่ามีการจดทะเบียนสมรสไม่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยนางสุดา ไม่ได้ไปให้ความยินยอมโดยเปิดเผยต่อหน้านายทะเบียนและให้นายทะเบียนบันทึกความยินยอมนั้นไว้อันจะก่อให้เกิดสถานะความเป็นสามีภริยา หากเป็นจริงตามคำฟ้องก็เป็นกรณีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1458 เรื่องให้ความยินยอมในการสมรส ย่อมตกเป็นโมฆะ ตามมาตรา 1495 ซึ่งจะต้องมีคำพิพากษาของศาลเท่านั้นที่จะแสดงว่า การสมรสเป็นโมฆะโดยคู่สมรส บิดามารดา หรือผู้สืบสันดานของคู่สมรสอาจร้องขอให้ศาลพิพากษาว่า การสมรสเป็นโมฆะได้ตามมาตรา 1496 ดังนั้นแม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่า นางสุดาถึงแก่ความตายอันเป็นเหตุให้การสมรสระหว่างจำเลยกับนางสุดาสิ้นสุดลงก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้ก็ตาม แต่เมื่อการจดทะเบียนสมรสระหว่างจำเลยกับนางสุดา ยังปรากฏความเป็นโมฆะอยู่โดยยังไม่มีคำพิพากษาให้เป็นโมฆะเช่นนี้ย่อมกระทบกระเทือนสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็น ผู้สืบสันดาน โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องขอให้การสมรสระหว่างจำเลยกับนางสุดาเป็นโมฆะได้
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share