คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 512/2480

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ที่จะถูกจับได้กระทำการต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานผู้จับกุม ๆ ไม่ต้องแจ้งว่าผู้นั้นต้องถูกจับ
(หมายเหตุ เมื่อต่อสู้แล้วก็เข้ามาตรา 83 วรรค 2 จะต้องแจ้งว่าผู้นั้นถูกจับฉะเพาะแต่กรณีเข้าใน ม.83 วรรค 1)
ตำรวจเห็นผู้หญิงตกจากเรือนที่จำเลยอยู่จนมีบาดเจ็บสาหัส เข้าใจว่าจำเลยจับโยนลงมา จึงเข้าไปจับกุมจำเลยต่อสู้ขัดขวางต้องมีผิดตามกฎหมายอาญา ม.120 ถึงจะปรากฎว่าหญิงนั้นเป็นกริยาจำเลยแลตกลงมาเองเนื่องจากทะเลาะกับจำเลย เจ้าพนักงานก็มีอำนาจเข้าจับกุมได้ตามประมวลวิธีพิจารณาอาญา ม.80

ย่อยาว

คดีได้ความว่า จำเลยกับ ถ.ภริยา ทะเลาะวิวาทแลเกิดการยื้อแย่งกัน ในที่สุด ถ.ตกลงมาจากเรือนสูงจากพื้นดินประมาณ ๕ ศอกไม่ปรากฎว่าเหตุที่ตกลงมานี้เพราะจำเลยทำให้ตกลงมาหรือ ถ.ตกลงมาเองขณะนี้ปรากฎว่า พลตำรวจ ช.ซึ่งยืนรักษาการณ์ที่ถนน เห็นเหตุการณ์เข้าในว่าจำเลยอุ้ม ถ.ทิ้งลงมาจากเรือน จึงตรงเข้าไปจำเลยได้บังอาจใช้ไม้ระแนงกวัดแกว่งไม่ให้ ช.เข้าไปจับกุมจำเลย
ศาลอุทธรณ์ตัดสินว่าจำเลยมีผิดตาม ม.๑๒๐ ให้จำคุก ๑ เดือน
จำเลยฎีกาว่า ช.มิได้แจ้งให้ทราบว่าจะทำการจับกุมจำเลย จึงไม่เป็นการชอบด้วยประมวลวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๘๓
ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้ไม่ต้องแจ้งให้ทราบว่าเขาต้องถูกจับตามมาตรา ๘๓ วรรค ๑ ดังที่จำเลยค้าน แลเห็นว่าเป็นคดีที่อาศัยอำนาจจจับกุมตาม ม.๘๐ หากจำเลยใช้กำลังทำร้ายมิให้ตำรวจเข้าทำการจับกุมในความผิดซึ่งหน้านั้นแล้วก็เป็นความผิดได้คดีนี้มีเหตุผลน่าเชื่อว่า ช.ตั้งใจจะเข้าไปทำการจับกุมจำเลยจริงตามอำนาจที่กฎหมายให้ไว้ใน ม.๘๐ จำเลยได้ใช้ไม้ระแนงกวัดแกว่งไม่ให้ตำรวจเข้าจับกุม ถือได้ว่าจำเลยต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานตาม ม.๑๒๐ จึงพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์

Share