คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7539/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ไม่ได้ปฏิเสธว่าที่ดินโจทก์ไม่ได้อยู่ในบริเวณที่ดินที่จะเวนคืนและยอมรับในหนังสือร้องเรียนว่าจำเลยที่ 4 กำหนดตำแหน่งที่ดินเวนคืนในที่ดินของโจทก์อย่างไม่เป็นธรรม ดังนี้ เมื่อพิจารณาเอกสารประกอบกันแล้วข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่ดินของโจทก์เป็นที่ดินที่อยู่ในบริเวณที่ที่จะเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนฯเมื่อพยานหลักฐานในสำนวนเพียงพอที่จะวินิจฉัยคดีได้โดยไม่จำต้องสืบพยานอีกต่อไป ศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจสั่งงดสืบพยานโจทก์จำเลยได้
การออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่จะเวนคืนแม้จะมีผลทำให้ที่ดินของโจทก์บางส่วนถูกเวนคืน แต่ก็เป็นการกระทำที่มีกฎหมายให้อำนาจกระทำได้ตามความในมาตรา 175 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราชฯ ซึ่งใช้บังคับขณะตราพระราชกฤษฎีกาฯและมาตรา 5 วรรคสาม และมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ การตราพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้จึงเป็นไปโดยอำนาจแห่งกฎหมายไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแต่อย่างใดและยังเป็นพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามขั้นตอนของกฎหมายโดยชอบแล้วจำเลยที่ 4 ในฐานะเจ้าหน้าที่เวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนฯ และจำเลยที่ 1ถึงที่ 3 ที่ 5 และที่ 7 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ที่ได้รับอำนาจให้กระทำหรือควบคุมการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ จึงมีสิทธิเข้าไปในที่ดินโจทก์เพื่อทำการสำรวจและทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับที่ดินที่ต้องถูกเวนคืนที่แน่นอน การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ที่จะเรียกค่าเสียหาย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ห้ามจำเลยยุ่งเกี่ยวกับที่ดินโฉนดเลขที่ 1851 และ669 ตำบลคลองสี่ อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี และให้จำเลยร่วมกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 500,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะเลิกยุ่งเกี่ยวกับที่ดินของโจทก์

จำเลยทั้งเจ็ดให้การและแก้ไขคำให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ยกฟ้อง

ระหว่างสืบพยานโจทก์คือตัวโจทก์เบิกความยังไม่ทันจบปาก โจทก์ยื่นคำร้องขอคุ้มครองประโยชน์ระหว่างพิจารณา ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนโดยงดการสืบพยานโจทก์ไว้ก่อนและไต่สวนพยานโจทก์ได้ 5 ปาก จึงมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์จำเลย โดยนัดฟังคำสั่งและคำพิพากษาวันที่ 15 กันยายน2541 ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นลงวันที่ 5 สิงหาคม 2541

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้องและยกคำร้องขอคุ้มครองประโยชน์ระหว่างพิจารณา

โจทก์อุทธรณ์คำสั่งและคำพิพากษา

ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 6 ศาลอุทธรณ์เห็นว่าคำร้องขอพอแปลได้ว่าโจทก์ขอถอนอุทธรณ์จึงอนุญาต

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์ชอบหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ยังมีพยานสำคัญอีก 5 ปาก หากได้นำสืบแล้วจะได้ข้อเท็จจริงอันปราศจากข้อสงสัยว่าที่ดินของโจทก์มิใช่ที่ดินที่ถูกเวนคืนแน่นอน พยานหลักฐานของโจทก์มิใช่พยานหลักฐานฟุ่มเฟือยเกินสมควรหรือประวิงคดีให้ชักช้าหรือไม่เกี่ยวแก่ประเด็นที่ศาลจะมีอำนาจงดการสืบพยานหลักฐานเช่นว่านั้นได้ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดสืบพยานโจทก์จึงเป็นการไม่ชอบ ชอบที่จะให้โจทก์สืบพยานให้สิ้นกระแสความก่อนและโจทก์ยังนำสืบตัวโจทก์ซึ่งเป็นพยานปากแรกยังไม่เสร็จ ต่อมาเมื่อโจทก์ยื่นขอคุ้มครองประโยชน์ระหว่างพิจารณา ศาลชั้นต้นจึงทำการไต่สวนคำร้องขอคุ้มครองประโยชน์ระหว่างพิจารณา โดยพักการสืบพยานโจทก์คือตัวโจทก์ไว้ และในที่สุดศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดสืบพยานโจทก์ ตัวโจทก์ยังเบิกความไม่ครบถ้วนจึงขาดข้อเท็จจริงสำคัญ ๆ ไปมาก หากโจทก์ได้ทำการสืบพยานของโจทก์ได้ครบถ้วน จะได้ความแน่นอนว่าที่ดินของโจทก์มิใช่ที่ดินที่ถูกเวนคืน จึงชอบที่จะให้โจทก์สืบพยานโจทก์คือตัวโจทก์และพยานปากอื่นให้เสร็จก่อนแล้วศาลจึงค่อยมีคำสั่งต่อไปตามรูปคดี การวินิจฉัยคดีก็จะเป็นไปโดยเที่ยงธรรม เห็นว่า ตามที่โจทก์บรรยายฟ้องข้อ 4.1 ว่า จำเลยได้ร่วมกันดำเนินการให้มีการออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่ตำบลคลองสี่ อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เมื่อวันที่ 13 กันยายน2537 เป็นเนื้อที่ดินประมาณ 900 ไร่ ซึ่งรวมถึงที่ดินของโจทก์ดังกล่าวด้วยทั้งนี้โดยจำเลยมีเจตนาจะใช้เป็นเครื่องมือในการบีบบังคับเอาที่ดินของโจทก์ทั้งที่รูปแผนที่ที่จำเลยทำขึ้นเพื่อการเวนคืนเป็นสถานที่ก่อสร้างสถานีขนส่งนั้นอยู่คนละแห่งกับที่ดินของโจทก์ด้วย ทั้งนี้โดยจำเลยรู้อยู่แล้ว แต่จำเลยก็ยังขืนดำเนินการเป็นการหลอกลวงรัฐบาลเพื่อผลประโยชน์ของจำเลยการกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำที่ไม่สุจริตย่อมไม่มีผลบังคับนั้นเมื่อพิจารณาตามรายงานการประชุมของคณะกรรมการพิจารณาการจัดตั้งสถานีขนส่งสินค้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลครั้งที่ 4/2536เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2536 ตามเอกสารหมาย ล.13 และแผนที่กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่ตำบลคลองสี่ อำเภอคลองหลวงจังหวัดปทุมธานี ตามเอกสารหมาย ล.14 แล้ว คณะกรรมการดังกล่าวได้ลงมติว่าทางด้านเหนือให้จำเลยที่ 4 ออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินเพื่อก่อสร้างสถานีขนส่งสินค้าฯ บริเวณระหว่างคลองสี่กับคลองชลประทาน 6ห่างจากถนนบางขันธ์ทางด้านเหนือขึ้นไปประมาณ 1,500 เมตร ตำบลคลองสี่ อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ซึ่งเมื่อพิจารณาแผนที่เอกสารหมาย ล.14 แล้วจะเห็นได้ว่าบริเวณที่จะเวนคืนอยู่ในเขตที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 1851 และ 669 เป็นบางส่วน แต่แผนที่ได้กำหนดเนื้อที่ที่จะเวนคืนไว้มากกว่าเนื้อที่ที่จะก่อสร้างสถานีขนส่งสินค้าชานเมืองกรุงเทพมหานครด้านทิศเหนือเพื่อประโยชน์อย่างอื่นด้วย ต่อมาก็ได้มีการออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่ตำบลคลองสี่ อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี พ.ศ. 2537 และได้มีแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกาด้วยตามเอกสารหมาย ล.17 เมื่อพิจารณาแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกาตามเอกสารหมาย ล.17 แล้วเหมือนกันกับแผนที่กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่ตำบลคลองสี่ อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ตามเอกสารหมาย ล.14 และเมื่อพิจารณาหนังสือร้องเรียนขอความเป็นธรรมต่อรองนายกรัฐมนตรีพลตรีจำลอง ศรีเมือง ฉบับลงวันที่ 10 มกราคม 2538 ตามเอกสารหมายล.31 ของโจทก์แล้ว เห็นว่า ตามข้อความในหนังสือร้องเรียน โจทก์ไม่ได้ปฏิเสธว่าที่ดินทั้งสองแปลงคือโฉนดเลขที่ 1851 และ 669 ของโจทก์ไม่ได้อยู่ในบริเวณที่ดินที่จะเวนคืนเพื่อสร้างสถานีขนส่งสินค้าชานเมืองกรุงเทพมหานครด้านทิศเหนือ แต่ยังยอมรับในหนังสือร้องเรียนว่าจำเลยที่ 4 กำหนดตำแหน่งที่ตั้งสถานีขนส่งสินค้าชานเมืองกรุงเทพมหานครด้านทิศเหนือในที่ดินซึ่งเป็นสวนผลไม้ของโจทก์อย่างไม่เป็นธรรม และไม่สอดคล้องกับระบบการจราจรของประเทศไทย และมีเนื้อหาว่าที่ดินของโจทก์ทั้งสองแปลงไม่มีความเหมาะสมที่จะตั้งสถานีขนส่งสินค้าโดยได้แนบสำเนาภาพถ่ายและแผนที่ที่ได้จัดทำขึ้นเพื่อประกอบการพิจารณาเลือกตำแหน่งที่ตั้งสถานีขนส่งแห่งใหม่ที่มีความเหมาะสมมากกว่าตำแหน่งที่กำหนดไว้ ดังนี้ เมื่อพิจารณาเอกสารประกอบกันแล้วข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 1851 และ 669 บางส่วนเป็นที่ดินที่อยู่ในบริเวณที่ที่จะเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่ตำบลคลองสี่ อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี พ.ศ. 2537 และตามแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกาเอกสารหมายล.17 เมื่อพยานหลักฐานในสำนวนเพียงพอที่จะวินิจฉัยคดีได้โดยไม่จำต้องสืบพยานอีกต่อไป ศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจสั่งงดสืบพยานโจทก์จำเลยได้ส่วนที่โจทก์อ้างว่าโจทก์ยังมีพยานอีก 5 ปาก ที่จะนำสืบให้เห็นว่าที่ดินของโจทก์มิใช่ที่ดินที่ถูกเวนคืนนั้น เห็นว่า แม้โจทก์จะสืบพยานอีก 5 ปากก็ไม่ทำให้ข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงไปจากพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนซึ่งฟังได้ว่าที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 1851 และ 669 เป็นที่ดินที่อยู่ในบริเวณที่ที่จะเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกาฯ เอกสารหมาย ล.17ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์จำเลยจึงชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการสุดท้ายว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องและจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 และที่ 7 ร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ เห็นว่า เมื่อคณะกรรมการพิจารณาการจัดตั้งสถานีขนส่งสินค้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลประชุมกันครั้งที่ 4/2536เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2536 ที่ประชุมมีมติว่า ทางด้านเหนือให้จำเลยที่ 4ออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินเพื่อก่อสร้างสถานีขนส่งสินค้าฯ บริเวณระหว่างคลองสี่กับคลองชลประทาน 6 ห่างจากถนนบางขันธ์ทางด้านเหนือขึ้นไปประมาณ 1,500 เมตร ตำบลคลองสี่ อำเภอคลองหลวงจังหวัดปทุมธานี ตามเอกสารหมาย ล.13 ต่อมาได้มีการออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่ตำบลคลองสี่ อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี พ.ศ. 2537 และแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกาตามเอกสารหมาย ล.17 โดยเหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้คือ เนื่องจากจำเลยที่ 4 มีความจำเป็นจะต้องก่อสร้างสถานีขนส่งสินค้าสาธารณะบริเวณด้านทิศเหนือของกรุงเทพมหานครรวมทั้งกิจการอื่นที่เกี่ยวเนื่องในท้องที่ตำบลคลองสี่ อำเภอคลองหลวงจังหวัดปทุมธานี เพื่อดำเนินกิจการขนส่งสินค้าทางถนนด้วยรถยนต์และเพื่อรองรับปริมาณสินค้าและกระจายสินค้าไปยังท้องที่ต่าง ๆ ในการนี้สมควรกำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่ดังกล่าวเพื่อให้เจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่มีสิทธิเข้าไปทำการสำรวจและเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนที่แน่นอนจึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้ และโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 175 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2534 ซึ่งใช้บังคับขณะตราพระราชกฤษฎีกา และมาตรา 5วรรคสาม และมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังนั้น การตราพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้จึงเป็นไปโดยอำนาจแห่งกฎหมายไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด และยังเป็นพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามขั้นตอนของกฎหมายโดยชอบแล้ว แม้การออกพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้จะมีผลทำให้ที่ดินของโจทก์ตามโฉนดเลขที่ 1851 และ 669 บางส่วนถูกเวนคืน แต่ก็เป็นการกระทำที่มีกฎหมายให้อำนาจกระทำได้ ดังนั้น จำเลยที่ 4 ในฐานะเจ้าหน้าที่เวนคืนตามพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3ที่ 5 และที่ 7 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ซึ่งมีอำนาจที่จะกระทำการใด ๆ ที่ได้รับอำนาจให้กระทำหรือควบคุมการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในคดีนี้ได้จึงมีสิทธิเข้าไปทำการสำรวจและเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับที่ดินของโจทก์ที่จะต้องเวนคืนที่แน่นอน การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5และที่ 7 จึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายไม่เป็นการกระทำที่ละเมิดต่อโจทก์ ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ที่จะเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1ถึงที่ 5 และที่ 7 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ห้ามจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5และที่ 7 มิให้ยุ่งเกี่ยวกับที่ดินโฉนดเลขที่ 1851 และ 669 ตำบลคลองสี่อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ของโจทก์ และขอให้บังคับจำเลยที่ 1ถึงที่ 5 และที่ 7 ร่วมกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันมาให้ยกฟ้องโจทก์นั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”

พิพากษายืน

Share