แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์เป็นผู้ซื้อที่ดินและบ้านพิพาทจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล ต้องด้วยบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1330 การที่ผู้ร้องจะอ้างการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์เพื่อแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลว่าผู้ร้องไม่ใช่บริวารของจำเลย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 จัตวา (3) ผู้ร้องต้องแสดงให้เห็นอำนาจพิเศษที่ดีกว่าโจทก์ ทั้งการครอบครองปรปักษ์เป็นการได้สิทธิมาโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมและยังมิได้จดทะเบียนนั้น ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง มิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนโดยสุจริตแล้ว เมื่อคำร้องของผู้ร้องกล่าวเพียงว่าผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ โดยมิได้กล่าวว่าโจทก์ไม่สุจริต คดีจึงไม่มีประเด็นที่ผู้ร้องจะนำสืบว่าโจทก์ซื้อที่ดินและบ้านพิพาทโดยสุจริตหรือไม่ ต้องฟังว่าโจทก์กระทำการโดยสุจริตตามข้อสันนิษฐานของ ป.พ.พ. มาตรา 6 ศาลมีคำสั่งยกคำร้องได้โดยไม่ต้องไต่สวน
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยทั้งห้าออกจากที่ดินและตึกแถวซึ่งโจทก์ซื้อจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล และให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 5 ขาดนัดยื่นคำให้การ จำเลยที่ 4 ให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ขนย้ายทรัพย์สินพร้อมบริวารออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 20080 แขวงบางยี่ขัน เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร และสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 461/42 ของโจทก์ ให้จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ร่วมกันชำระเงิน 175,000 บาท พร้อมค่าเสียหายเดือนละ 30,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 จะขนย้ายทรัพย์สินพร้อมบริวารออกจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทแก่โจทก์กับให้จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้เป็นพับ จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์จึงขอให้บังคับคดี และเจ้าพนักงานบังคับคดีได้นำประกาศลงวันที่ 23 พฤษภาคม 2546 ไปปิดประกาศไว้ที่บ้านเลขที่ 461/42 ดังกล่าวเพื่อให้ผู้ที่อ้างว่าไม่ใช่บริวารของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลภายในกำหนด 8 วัน นับแต่วันปิดประกาศ
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องไม่ใช่บริวารของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 เนื่องจากบ้านเลขที่ 461/42 ซึ่งปัจจุบันคือบ้านเลขที่ 26/7 เป็นของผู้ร้อง ผู้ร้องเข้ามาอาศัยอยู่กับครอบครัวและครอบครองที่ดินพร้อมบ้านดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2522 และใช้เป็นสถานที่ประกอบการค้ามาตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2531 จนถึงปัจจุบัน โดยความสงบและโดยเปิดเผยติดต่อกันเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 และโจทก์ไม่เคยโต้แย้งการครอบครองผู้ร้อง ผู้ร้องจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านดังกล่าวโดยชอบด้วยกฎหมาย และเป็นบุคคลที่อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิในที่ดินและบ้านดังกล่าวได้อยู่ก่อน ขอให้ศาลมีคำสั่งว่าผู้ร้องไม่ใช่บริวารของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 และเป็นผู้มีอำนาจพิเศษที่จะอยู่ในที่ดินและบ้านดังกล่าวโดยชอบ
ศาลชั้นต้นพิจารณาคำร้องและมีคำสั่งว่า แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ดังที่ผู้ร้องกล่าวอ้างก็ตาม แต่การครอบครองปรปักษ์เป็นการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม เมื่อสิทธิขผู้ร้องยังมิได้จดทะเบียนย่อมไม่อาจยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ผู้ได้สิทธิมาโดยการซื้อจากการขายทอดตลาดได้ เพราะถือว่าโจทก์เป็นบุคคลภายนอกได้มาซึ่งสิทธิโดยเสียค่าตอบแทนและสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว ตามที่บัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสอง ให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้ผู้ร้องใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 1,000 บาท แทนโจทก์
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาตามฎีกาของผู้ร้องมีเพียงว่าการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องโดยไม่ทำการไต่สวนและศาลอุทธรณ์พิพากษายืนนั้นเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ผู้ร้องฎีกาสรุปความว่า แม้โจทก์จะได้มาซึ่งที่ดินและบ้านพิพาทจากการขายทอดตลาดและถือว่าโจทก์เป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนก็ตาม แต่โจทก์ได้สิทธินั้นมาโดยไม่สุจริต ผู้ร้องจึงยกการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ได้ และผู้ร้องสามารถนำพยานหลักฐานเข้าสืบเพื่อให้ศาลเห็นว่าโจทก์ได้สิทธินั้นมาโดยไม่สุจริต การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ยกคำร้องของผู้ร้องโดยไม่ทำการไต่สวนให้ได้ความก่อนว่าโจทก์ได้ที่ดินและบ้านพิพาทมาโดยสุจริตหรือไม่ จึงเป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า เมื่อโจทก์เป็นผู้ซื้อที่ดินและบ้านพิพาทจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล และโจทก์ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 6 ว่ากระทำการโดยสุจริต คดีจึงต้องด้วยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1330 ซึ่งบัญญัติว่า “สิทธิของบุคคลผู้ซื้อทรัพย์สินโดยสุจริตในการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลหรือคำสั่งเจ้าพนักงานรักษาทรพัย์ในคดีล้มละลายนั้น ท่านว่ามิเสียไปถึงแม้ภายหลังจะพิสูจน์ได้ว่าทรัพย์นั้นมิใช่ของจำเลย หรือลูกหนี้โดยคำพิพากษา หรือผู้ล้มละลาย” ดังนั้น การที่ผู้ร้องจะอ้างการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์เพื่อแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลว่าผู้ร้องไม่ใช่บริวารของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 จัตวา (3) ผู้ร้องจึงต้องแสดงให้เห็นอำนาจพิเศษที่ดีกว่าอำนาจหรือสิทธิของโจทก์ ทั้งการครอบครองปรปักษ์ดังกล่าวซึ่งเป็นการได้สิทธิมาโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมและยังมิได้จดทะเบียนนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสอง ก็มิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนโดยสุจริตแล้ว เมื่อคำร้องของผู้ร้องคงกล่าวบรรยายเพียงว่าผู้ร้องครอบครองที่ดินและบ้านพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ โดยมิได้กล่าวบรรยายมาในคำร้องว่าโจทก์ซื้อที่ดินและบ้านพิพาทจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลโดยไม่สุจริต คดีจึงไม่มีประเด็นที่ผู้ร้องจะนำสืบว่าโจทก์ซื้อที่ดินและบ้านพิพาทจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลโดยสุจริตหรือไม่ ต้องฟังว่าโจทก์กระทำการโดยสุจริตตามข้อสันนิษฐานของบทบัญญัติมาตรา 6 ดังกล่าวข้างต้น ดังนั้น แม้ศาลจะทำการไต่สวนและฟังว่าผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ตามคำร้องของผู้ร้อง ก็ไม่ทำให้ผู้ร้องชนะคดีได้ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องโดยไม่ทำการไต่สวนและศาลอุทธรณ์พิพากษายืนมานั้นจึงชอบแล้ว ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ให้ผู้ร้องใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 1,000 บาท แทนโจทก์.