แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ขณะกระทำความผิดจำเลยอายุ 16 ปีเศษ ไม่ปรากฏว่าเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน บิดามารดาจำเลยยังคงรักใคร่ห่วงใย โดยหลังจากจำเลยถูกดำเนินคดีได้เข้ามาร่วมดูแลจำเลยอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น ทั้งหลังเกิดเหตุก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยไปกระทำความผิดใดอีก นับว่าจำเลยยังอยู่ในวิสัยที่สามารถแก้ไขฟื้นฟูตนเองให้ทำคุณประโยชน์แก่สังคมได้ เห็นควรให้โอกาสจำเลยกลับตนเป็นพลเมืองดีสักครั้ง อาศัยอำนาจตาม ป.อ. มาตรา 56 ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 106 (2) (3) ให้รอการลงโทษจำคุกและโทษปรับแก่จำเลย แต่เพื่อแก้ไขความประพฤติที่เสียหายของจำเลยดังกล่าวและสอดส่องดูแลจำเลยไปอีกระยะหนึ่ง จึงเห็นควรกำหนดเงื่อนไขคุมความประพฤติจำเลยไว้ด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 102 ริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ริบของกลาง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคสาม, 66 วรรคสอง, 100/1 ฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย พฤติการณ์ไม่ร้ายแรง ประกอบกับจำเลยอายุยังไม่เกิน 17 ปี ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่ง ตาม ป.อ. มาตรา 75 จำคุก 3 ปี 6 เดือน ปรับ 200,000 บาท อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 104 (2) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งจำเลยไปฝึกและอบรมยังสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนกลางมีกำหนด 2 ปี หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้ส่งตัวจำเลยไปควบคุมเพื่อฝึกและอบรมยังสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนกลาง มีกำหนด 30 วัน ริบของกลาง
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาขอให้จำเลยได้ศึกษาเล่าเรียนนั้นถือได้ว่าจำเลยขอให้รอการลงโทษ เห็นว่า เมทแอมเฟตามีนที่จำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายมีปริมาณเพียง 27 เม็ด และปรากฏตามรายงานแสดงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเด็กหรือเยาวชนของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานครว่า ขณะกระทำความผิดจำเลยอายุ 16 ปีเศษ ไม่ปรากฏว่าเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน บิดามารดาจำเลยยังคงรักใคร่ห่วงใย โดยหลังจากจำเลยถูกดำเนินคดีได้เข้ามาร่วมดูแลจำเลยอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น ทั้งหลังเกิดเหตุก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยไปกระทำความผิดใดอีก นับว่าจำเลยยังอยู่ในวิสัยที่สามารถแก้ไขฟื้นฟูตนเองให้ทำคุณประโยชน์แก่สังคมได้ เห็นควรให้โอกาสจำเลยกลับตนเป็นพลเมืองดีสักครั้ง อาศัยอำนาจตาม ป.อ. มาตรา 56 ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 106 (2) (3) ให้รอการลงโทษจำคุกและโทษปรับแก่จำเลย แต่เพื่อแก้ไขความประพฤติที่เสียหายของจำเลยดังกล่าวและสอดส่องดูแลจำเลยไปอีกระยะหนึ่ง จึงเห็นควรกำหนดเงื่อนไขคุมความประพฤติจำเลยไว้ด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่เปลี่ยนแปลงโทษจำคุกเป็นส่งจำเลยไปควบคุมเพื่อฝึกและอบรมยังสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนกลางมีกำหนด 2 ปี และไม่ส่งจำเลยไปควบคุมเพื่อฝึกและอบรมยังสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนกลางมีกำหนด 30 วัน หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับ แต่โทษจำคุกและโทษปรับให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟัง และให้คุมความประพฤติจำเลยไว้มีกำหนด 2 ปี โดยในระยะเวลา 6 เดือนแรกของปีที่หนึ่ง ให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติเดือนละครั้ง ในระยะเวลา 6 เดือนถัดไป ให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 2 เดือนต่อครั้ง และในปีที่สองให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือนต่อครั้ง ให้จำเลยนำผลการเรียนมาแสดงต่อพนักงานคุมประพฤติทุกครั้งที่มารายงานตัว ห้ามจำเลยเกี่ยวข้องกับสิ่งเสพติดทุกชนิด ห้ามคบสมาคมกับบุคคลความประพฤติไม่ดี และให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรมีกำหนด 48 ชั่วโมง ตาม ป.อ. มาตรา 56 ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 106 (2) (3) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.