คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8750/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ป.วิ.พ. มาตรา 229 ที่กำหนดให้ผู้อุทธรณ์ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นมาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์นั้น มิได้ใช้บังคับเฉพาะกรณีอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีของศาลชั้นต้นเท่านั้น แม้คดีนี้จำเลยที่ 1 จะเพียงอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นในชั้นขอเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ และมิได้อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่เป็นเนื้อหาสาระในคำฟ้องของโจทก์ แต่เป็นการที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ภายหลังจากศาลชั้นต้นพิพากษาตัดสินคดีแล้ว ซึ่งอาจมีผลให้คำพิพากษาศาลชั้นต้นถูกยกเลิกเพิกถอนไปได้หากอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น กรณีจึงอยู่ภายใต้บังคับของ ป.วิ.พ. มาตรา 229 ซึ่งบัญญัติให้เป็นหน้าที่ของผู้อุทธรณ์ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษาหรือคำสั่งมาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์นั้นด้วย เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่นำเงินค่าธรรมเนียมดังกล่าวมาวางศาลพร้อมอุทธรณ์จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และกรณีมิใช่เรื่องที่ต้องพิจารณาว่าอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 เป็นคดีมีทุนทรัพย์หรือไม่เพราะค่าขึ้นศาลซึ่งต้องเสียในเวลายื่นอุทธรณ์ตามตาราง 1 ท้าย ป.วิ.พ. และค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษาที่ต้องนำมาวางศาลพร้อมอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229 เป็นคนละส่วนกัน
จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตั้งแต่ชั้นสืบพยานโจทก์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 นำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229 มาวางศาลภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด คำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวถือเป็นกระบวนพิจารณาในชั้นตรวจอุทธรณ์ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 232 ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของศาลชั้นต้น คำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวมิใช่เป็นคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ ซึ่งผู้อุทธรณ์อาจอุทธรณ์คำสั่งไปยังศาลอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 234 ได้ การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ยื่นอุทธรณ์โดยขอให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตั้งแต่ชั้นสืบพยานโจทก์ ซึ่งจะทำให้คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่บังคับให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ชำระหนี้แก่โจทก์เป็นอันเพิกถอนไปได้ มีผลเท่ากับเป็นการอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นอยู่ในตัวนั่นเอง ดังนั้น จำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นมาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์ โดยศาลชั้นต้นไม่จำต้องมีคำสั่งให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ปฏิบัติก่อน แม้ศาลชั้นต้นจะให้โอกาสจำเลยที่ 2 และที่ 3 นำเงินค่าธรรมเนียมมาวางศาล แต่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็มิได้ปฏิบัติตามจนระยะเวลาล่วงเลยไปแล้วจึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบ ศาลชั้นต้นชอบที่จะสั่งไม่รับอุทธรณ์

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดตามสัญญากู้เงิน สัญญาค้ำประกันและสัญญาจำนองชำระเงิน 1,610,585.66 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14 ต่อปี ของต้นเงิน 859,488.48 บาท นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน จำเลยทั้งสามให้การต่อสู้คดีขอให้ยกฟ้อง ระหว่างพิจารณาทนายจำเลยที่ 1 ยื่นคำแถลงว่าจำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย และศาลจังหวัดนนทบุรีมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดก ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของจำเลยที่ 1 ตามคำสั่งศาลเข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยที่ 1 แล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 859,488.48 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 17.25 ต่อปี นับแต่วันที่ 24 ตุลาคม 2540 ถึงวันที่ 20 มกราคม 2542 อัตราร้อยละ 14 ต่อปี นับแต่วันที่ 22 มกราคม 2542 ถึงวันที่ 14 กันยายน 2543 อัตราร้อยละ 9 ต่อปี นับแต่วันที่ 15 กันยายน 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 54465 ตำบลบางรักใหญ่ (บางแพรก) อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 1 ที่ดินโฉนดเลขที่ 80889, 80891 ตำบลบางรักใหญ่ อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 2 และที่ดินโฉนดเลขที่ 80890 ตำบลบางรักใหญ่ อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 3 ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์ หากได้เงินไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์จนครบ กับให้จำเลยทั้งสามใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 15,000 บาท
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์ขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนกระบวนพิจารณาผิดระเบียบตั้งแต่ชั้นสืบพยานโจทก์ เท่ากับขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วพิจารณาคดีใหม่ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษาหรือคำสั่งมาวางศาลพร้อมอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 229 แต่จำเลยที่ 2 และที่ 3 วางเงินค่าขึ้นศาลมาเพียง 200 บาท จึงให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 วางเงินจำนวนดังกล่าวให้ครบถ้วนภายในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2546 มิฉะนั้นให้ถือว่าไม่ติดใจอุทธรณ์
จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และยกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 คืนค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 และที่ 3
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 229 ที่กำหนดให้ผู้อุทธรณ์ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นมาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์นั้น มิได้ใช้บังคับเฉพาะกรณีอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีของศาลชั้นต้นเท่านั้น แม้คดีนี้จำเลยที่ 1 จะเพียงอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นในชั้นขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ และมิได้อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่เป็นเนื้อหาสาระในคำฟ้องของโจทก์ แต่เป็นการที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ภายหลังจากศาลชั้นต้นพิพากษาชี้ขาดตัดสินคดีแล้ว ซึ่งอาจมีผลให้คำพิพากษาศาลชั้นต้นถูกยกเลิกเพิกถอนไปได้ หากอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น กรณีจึงอยู่ภายใต้บังคับของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 229 ซึ่งบัญญัติให้เป็นหน้าที่ของผู้อุทธรณ์ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษาหรือคำสั่งมาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์นั้นด้วย เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่นำเงินค่าธรรมเนียมดังกล่าวมาวางศาลพร้อมอุทธรณ์จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และกรณีมิใช่เรื่องที่ต้องพิจารณาว่าอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 เป็นคดีมีทุนทรัพย์หรือไม่ เพราะค่าขึ้นศาลซึ่งต้องเสียในเวลายื่นอุทธรณ์ตามตาราง 1 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษาที่ต้องนำมาวางศาลพร้อมอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 229 เป็นคนละส่วนกัน ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 นำเงินค่าธรรมเนียมมาวางศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 229 หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดชำระเงินตามฟ้องพร้อมดอกเบี้ย โดยให้จำเลยทั้งสามใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ กำหนดค่าทนายความ 1,500 บาท จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตั้งแต่ชั้นสืบพยานโจทก์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 นำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 229 มาวางศาลภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด คำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวถือเป็นกระบวนพิจารณาในชั้นตรวจคำฟ้องอุทธรณ์ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 232 ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของศาลชั้นต้น คำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวมิใช่เป็นคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ ซึ่งผู้อุทธรณ์อาจอุทธรณ์คำสั่งไปยังศาลอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 234 ได้ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าว และพิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 นั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อย่างไรก็ดี ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 229 บัญญัติว่า “การอุทธรณ์นั้นให้ทำเป็นหนังสือยื่นต่อศาลชั้นต้นซึ่งมีคำพิพากษาหรือคำสั่งภายในกำหนด 1 เดือน นับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น และผู้อุทธรณ์ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษาหรือคำสั่งมาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์นั้นด้วย” การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ยื่นอุทธรณ์โดยขอให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตั้งแต่ชั้นสืบพยานโจทก์ ซึ่งจะทำให้คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่บังคับให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ชำระหนี้แก่โจทก์เป็นอันเพิกถอนไปได้ มีผลเท่ากับเป็นการอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นอยู่ในตัวนั่นเอง ดังนั้น จำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นมาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์ โดยศาลชั้นต้นไม่จำต้องมีคำสั่งให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ปฏิบัติก่อนแม้ศาลชั้นต้นจะให้โอกาสจำเลยที่ 2 และที่ 3 นำเงินค่าธรรมเนียมมาวางศาลแต่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็มิได้ปฏิบัติตามจนระยะเวลาล่วงเลยไปแล้วจึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบ ศาลชั้นต้นชอบที่จะสั่งไม่รับอุทธรณ์ฉบับลงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2546 ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เมื่ออุทธรณ์ฉบับดังกล่าวของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่อาจเปลี่ยนแปลงผล ศาลฎีกาชอบที่จะยกอุทธรณ์ฉบับดังกล่าวไปเสียทีเดียวโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นสั่งอุทธรณ์ฉบับดังกล่าวอีก”
พิพากษายืนและยกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฉบับลงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2546 คืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดในชั้นอุทธรณ์แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ค่าฤชาธรรมเนียมนอกจากที่สั่งคืนในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share