แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
สถานที่ทำพินัยกรรมไม่ใช่ข้อสาระสำคัญของแบบแห่งพินัยกรรมซึ่งจำต้องระบุไว้แต่อย่างใด ดังนั้น การที่ระบุสถานที่ทำพินัยกรรมผิดจากความเป็นจริงไม่ทำให้พินัยกรรมต้องเสียไปแต่อย่างใด
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องเป็นบุตรและผู้รับพินัยกรรมของนางลัดดาผู้ตาย และมีข้อกำหนดในพินัยกรรมตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก แต่การจัดการมรดกมีเหตุขัดข้องขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ผู้คัดค้านทั้งสามยื่นคำร้องคัดค้านว่า ผู้คัดค้านทั้งสามเป็นบุตรของนางลัดดาผู้ตาย ขณะทำพินัยกรรมผู้ตายไม่มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ พินัยกรรมฉบับดังกล่าวทำขึ้นโดยการฉ้อฉลระหว่างผู้ร้องกับนายจักรวาลทนายความของผู้ร้อง จึงไม่มีผลบังคับตามกฎหมายและเป็นพฤติการณ์ฉ้อฉลของผู้ร้ายเป็นเหตุให้ผู้ร้องต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกของผู้ตาย ขอให้ยกคำร้อง และตั้งผู้คัดค้านทั้งสามเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ตั้ง นางสุชาดาผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนางลัดดาผู้ตาย กับให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายยกคำคัดค้าน
ผู้คัดค้านทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
ผู้คัดค้านทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติได้ว่าผู้ร้องและผู้คัดค้านทั้งสามเป็นบุตรของนางลัดดาผู้ตาย เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2541 นางลัดดาได้ถึงแก่ความตาย คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสามว่า พินัยกรรมมีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมายหรือไม่ และสมควรตั้งผู้คัดค้านทั้งสามเป็นผู้จัดการมรดกหรือไม่ พยานผู้ร้องมีตัวผู้ร้องและนายจักรวาลเบิกความว่า เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2541 นายจักรวาลได้ทำพินัยกรรมให้กับผู้ตาย จากนั้นพากันเดินทางไปที่สำนักงานเขตดินแดงและผู้ตายลงชื่อในช่องผู้ทำพินัยกรรม นายจักรวาลลงชื่อเป็นพยานและนางอุไรรัตน์ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตดินแดงลงชื่อเป็นพยานในพินัยกรรมและมอบพินัยกรรมให้หัวหน้าฝ่ายทะเบียนเก็บรักษาไว้ที่สำนักงานเขตด้วย พินัยกรรมดังกล่าวระบุให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกและเป็นผู้รบมรดกตามพินัยกรรม ผู้คัดค้านทั้งสามนำสืบว่า นางลัดดาผู้ตายมีอาการสมองฝ่อ สติเลอะเลือนไม่สามารถจำบุตรหลานได้ผู้คัดค้านที่ 1 และผู้ร้องพาผู้ตายไปรักษาตัวที่สถาบันประสาทวิทยา ผู้ตายพูดจาไม่รู้เรื่อง จึงพาไปรักษาตัวต่อที่โรงพยาบาลเดอะซีเนียร์ หลังจากนั้นกลับมาพักที่บ้านผู้ร้องและผู้ตายผูกคอตายที่บ้านผู้ร้อง แต่นายแพทย์สมชายกับนายแพทย์เฉลิมชาติเบิกความว่า เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2541 นายแพทย์สมชายได้ทำการตรวจรักษาผู้ตาย พบว่า ผู้ตายมีเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอสมองขาดเลือดเป็นจุดๆ มีอาการวิงเวียนเป็นบางครั้ง แต่สติสัมปชัญญะยังสมบูรณ์ สามารถพูดคุยกันรู้เรื่องดี เห็นว่า ผู้ร้องและผู้คัดค้านทั้งสามต่างเบิกความโต้แย้งกันโดยผู้ร้องยืนยันว่าผู้ตายขณะทำพินัยกรรมมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ แต่ผู้คัดค้านทั้งสามอ้างว่าขณะผู้ตายทำพินัยกรรม ผู้ตายมีสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์ แต่นายแพทย์สมชายและนายแพทย์เฉลิมชาติ พยานผู้คัดค้านทั้งสามซึ่งเป็นพยานคนกลางไม่มีส่วนได้เสียกับคู่ความฝ่ายใด กลับเบิกความว่า พยานเป็นผู้ตรวจรักษาผู้ตายก่อนถึงแก่ความตายระหว่างปี 2541 ถึง 2543 โดยนายแพทย์สมชายตรวจรักษาผู้ตายก่อนถึงแก่ความตายหลังทำพินัยกรรมประมาณ 1 เดือน และนายแพทย์เฉลิมชาติตรวจรักษาผู้ตายเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2543 หลังจากผู้ตายทำพินัยกรรมได้ประมาณ 2 ปี เบิกความยืนยันว่าผู้ตายมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ นอกจากนี้ นายแพทย์สมชายและนายเฉลิมชาติยังเบิกความตอบคำถามค้านของผู้ร้องว่า ผู้ตายสามารถพูดคุยรู้เรื่องและมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์พอที่จะทำพินัยกรรมได้ ประกอบกับหนังสือรับรองของแพทย์ก็ไม่ได้ระบุว่าทำขึ้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แตกต่างกับคำเบิกความของนายจักรวาลที่ว่า พินัยกรรมทำขึ้นที่สำนักงานของนายจักรวาลที่กรุงเทพมหานคร เห็นว่า สถานที่ทำพินัยกรรมไม่ใช่ข้อสาระสำคัญของแบบแห่งพินัยกรรมซึ่งจำต้องระบุไว้แต่อย่างใด ดังนั้น การที่ระบุสถานที่ทำพินัยกรรมผิดจากความเป็นจริง ไม่ทำให้พินัยกรรมต้องเสียไปแต่อย่างใด สำหรับฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสามที่ว่าผู้ร้องไม่ได้นำตัวนางอุไรรัตน์พยานในพินัยกรรมมาเบิกความเป็นพยาน จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าผู้ตายมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ขณะทำพินัยกรรมนั้น การที่ผู้ร้องจะนำพยานเข้าสืบแค่ไหนเพียงใดเป็นเรื่องดุลยพินิจของผู้ร้อง และฝ่ายผู้คัดค้านทั้งสามเองก็สามารถอ้างนางอุไรรัตน์เป็นพยานของตนได้ ไม่มีข้อพิรุธแต่อย่างใด พยานหลักฐานผู้ร้องมีน้ำหนักดีกว่าพยานผู้คัดค้านทั้งสาม จึงรับฟังได้ว่า ผู้ตายได้ทำพินัยกรรมในขณะที่ผู้ตายมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์พินัยกรรมดังกล่าวใช้บังคับได้ตามกฎหมาย จึงสมควรตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายและไม่มีเหตุที่จะตั้งผู้คัดค้านทั้งสามเป็นผู้จัดการมรดก ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสามฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน