คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1658/2514

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เรือชะล่าของกลางที่จับได้จากจำเลยเป็นเรือที่ต่อด้วยไม้สักใหม่ ๆทั้งลำ สภาพไม่แน่นหนา โดยหลังคาตอกตะปูไว้คร่าว ๆ ไม้ไม่ได้เข้าลิ้นบังใบ ร่องเพดานกว้างยาชันเป็นบางส่วนซึ่งฝนรั่วได้ ท้องเรือมีรอยตอกหมันบางส่วนมีน้ำเข้า พฤติการณ์เห็นได้ว่าทำขึ้นให้เห็นเป็นรูปเรือ มิได้เจตนาประกอบเป็นเรือจริงจังเช่นนี้ ถือว่าไม้ที่ใช้ต่อเรือนี้ยังไม่อยู่ในสภาพเป็นเครื่องใช้ จึงต้องถือว่าเป็นไม้แปรรูปตามพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2503 มาตรา 4(4)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2511 เวลากลางวัน จำเลยกับนายไพบูลย์ ลักษณะวารี ซึ่งยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง บังอาจร่วมกันมีไม้สักแปรรูปซึ่งเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. โดยต่อเป็นรูปเรือโป๊ะหรือเรือชะล่า ทำขึ้นเพียงชั่วคราวยังไม่เสร็จ เพื่อพรางตาโดยเจตนาหลีกเลี่ยงกฎหมาย จำนวนไม้แปรรูป 74 แผ่น ปริมาตรเนื้อไม้ 1.99 ลูกบาศก์เมตร และมีไม้สักแปรรูปติดมากับเรือยนต์จำนวน 57 แผ่น ปริมาตรเนื้อไม้ 1.98 ลูกบาศก์เมตร รวมทั้งสิ้น 131 แผ่น ปริมาตรเนื้อไม้ 3.97 ลูกบาศก์เมตรไว้ในความครอบครอง ภายในเขตควบคุมการแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต เหตุเกิดที่ตำบลหอรัตนไชย และตำบลคลองตะเคียน อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมด้วยของกลางดังกล่าวและเรือยนต์1 ลำ มีนายไพบูลย์ ลักษณะวารี ใช้เป็นยานพาหนะบรรทุกไม้สักแปรรูปติดมากับเรือและได้ใช้เรือยนต์นี้เป็นยานพาหนะลากจูงพ่วงเรือโป๊ะหรือเรือชะล่านั้นล่องไปตามลำน้ำเจ้าพระยาอันเป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการทำผิด ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 48, 73, 74, 74 ทวิ; (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2494 มาตรา 17; (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2503 มาตรา 17, 18 และสั่งริบของกลาง

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นฟังว่า ไม้สักที่ติดมากับเรือยนต์เป็นส่วนประกอบของตัวเรืออย่างธรรมดามีลักษณะเป็นเครื่องใช้ไม่ใช่ไม้แปรรูปไม่เป็นความผิด ส่วนเรือโป๊ะหรือเรือชะล่า เป็นการสร้างขึ้นชั่วคราวเพื่อลวงหรืออำพรางในการมีไม้สักแปรรูปและไม่เชื่อว่าเรือลำนี้ได้ต่อมาถึง 2 ปีแล้วพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 48, 72 ; (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2494 มาตรา 17 ; (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2503 มาตรา 17 ให้จำคุก 6 เดือน ปรับ 2,000 บาท โทษจำคุกให้รอไว้ภายในกำหนด 2 ปี ไม่ชำระค่าปรับ ให้กักขังแทนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบเรือโป๊ะ ส่วนเรือยนต์ให้คืนเจ้าของ

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกาเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่า เรือชะล่าของจำเลยมีสภาพเป็นพาหนะที่ใช้สอยตามปกติเพราะลอยน้ำได้ ไม่ใช่ไม้แปรรูปตามกฎหมายที่โจทก์อ้าง

ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ที่จำเลยขอแถลงการณ์ด้วยวาจาเห็นว่าไม่จำเป็นแก่คดี จึงสั่งงด ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยดังกล่าว ศาลฎีกาต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 222 ซึ่งปรากฏว่าเรือโป๊ะหรือเรือชะล่าของกลางเป็นเรือที่ต่อด้วยไม้สักใหม่ ๆ ทั้งลำไม่แน่นหนา หลังคาตอกตะปูไว้คร่าว ๆ มีร่องเพดานกว้าง ยาชันบ้างไม่ยาบ้าง ไม้ไม่ได้เข้าลิ้นบังใบ ฝนตกรั่วได้ ท้องเรือมีรอยตอกหมันบ้างไม่มีบ้าง พื้นเรือมีน้ำเข้าต้องวิดอยู่ตลอดเวลาหลังคาโยกคลอน พฤติการณ์เห็นได้ชัดว่าแม้จะใช้ลอยน้ำได้ดังจำเลยฎีกา แต่ก็เป็นการทำเพียงให้เห็นเป็นรูปเรือ เพื่อลวงหรือพรางโดยเจตนาจะหลีกเลี่ยงกฎหมาย มิได้มีเจตนาจะใช้ประกอบเป็นเรือจริงจังแต่ประการใด จะถือว่าเป็นไม้ที่อยู่ในสภาพเป็นเครื่องใช้ตามความหมายแห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2503 มาตรา 4(4) หาได้ไม่ คำพิพากษาฎีกาที่ 257/2506 ที่จำเลยอ้างข้อเท็จจริงต่างกับคดีนี้ ศาลล่างทั้งสองฟังว่าจำเลยมีไม้แปรรูปโดยผิดกฎหมายชอบแล้ว

พิพากษายืน

Share