แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศ. สามีโจทก์ที่ 1 และเป็นบิดาโจทก์ที่ 2 เป็นผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดและกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด เจ้าพนักงานมีเหตุอันควรสงสัยว่าทรัพย์สินของ ศ. และโจทก์ทั้งสองเป็นทรัพย์เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินและเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจึงมีอำนาจตรวจสอบทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและยึดหรืออายัดทรัพย์สินดังกล่าวได้ตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 16 (2) (4) และมาตรา 22 ดังนั้น การที่คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินมีคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์สินของ ศ. และโจทก์ทั้งสองจึงชอบด้วยกฎหมาย
กรณีที่ ศ. ผู้ต้องหาหลบหนีและพนักงานอัยการไม่อาจดำเนินคดีได้ภายใน 2 ปี นับแต่วันที่การกระทำความผิดเกิด ทรัพย์สินที่ได้ยึดหรืออายัดไว้เนื่องจากการกระทำความผิดของ ศ. ต้องตกเป็นของกองทุน ตามมาตรา 32 วรรคสอง หากโจทก์ทั้งสองเห็นว่าทรัพย์สินที่คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัดไว้ไม่เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด โจทก์ทั้งสองจะต้องดำเนินการยื่นคำร้องพร้อมทั้งเอกสารหลักฐานต่อคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินตามมาตรา 33 ดังนั้น เมื่อคำสั่งคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินของคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินได้
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้อง ขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินของคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินและคืนทรัพย์สินดังกล่าวแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินที่ให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของโจทก์ทั้งสอง และให้คืนเงินสดจำนวน 404,550 บาท สร้อยคอทองลายโซ่จำนวน 1 เส้น น้ำหนักประมาณ 30.2 กรัม สร้อยคอทองลายคดกริชสี่เหลี่ยมจำนวน 1 เส้น น้ำหนักประมาณ 60.8 กรัม สร้อยคอทองลายคดกริชจำนวน 1 เส้น น้ำหนักประมาณ 30.2 กรัม สร้อยคอทองลายปล้องกลมสลับห่วงจำนวน 1 เส้น น้ำหนักประมาณ 45.5 กรัม สร้อยคอทองรูปตัววายประดับเพชรจำนวน 1 เส้น น้ำหนักประมาณ 54.4 กรัม สร้อยข้อมือทองลายบิดจำนวน 1 เส้น น้ำหนักประมาณ 76.0 กรัม สร้อยข้อมือทองลายรูปตัวยูคู่ประดับเพชรจำนวน 1 เส้น น้ำหนักประมาณ 55.2 กรัม สร้อยข้อมือทองลายห่างสลับสี่เหลี่ยมจำนวน 1 เส้น น้ำหนักประมาณ 30.4 กรัม แหวนทองประดับหินสีเขียวล้อมเพชรจำนวน 1 วง น้ำหนักประมาณ 8.9 กรัม แหวนทองประดับหินสีเขียวรูปหกเหลี่ยมล้อมเพชรจำนวน 1 วง น้ำหนักประมาณ 9.1 กรัม พระเครื่องพิมพ์นางพญาพร้อมกรอบทองจำนวน 1 องค์ น้ำหนักประมาณ 6.8 กรัม พระพุทธรูปยอดธงพร้อมกรอบทองจำนวน 1 องค์ น้ำหนักประมาณ 14 กรัม และน้ำหนักประมาณ 9.2 กรัม จำนวน 1 องค์ เหรียญรัชกาลที่ 5 พร้อมกรอบทองจำนวน 1 องค์ น้ำหนักประมาณ 8.6 กรัม เครื่องรับโทรทัศน์สียี่ห้อโซนี หมายเลขเครื่อง 1514534 จำนวน 1 เครื่อง โทรศัพท์ยี่ห้อโมบิร่าทอล์คแมน (TALKMAN) และรุ่นซิตี้แมน (CITYMAN) จำนวนอย่างละ 1 เครื่อง รถยนต์บรรทุกยี่ห้ออีซูซุ หมายเลขทะเบียน บง 326 สมุทรสงคราม รถยนต์กระบะยี่ห้อฮีโน่ หมายเลขทะเบียน 70 – 2349 เพชรบุรี เงินฝากพร้อมดอกเบี้ยในบัญชีเงินฝากประจำธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาถนนศรีสุริยวงศ์ เลขที่ บัญชี 774-1-00144-2 เงินฝากพร้อมดอกเบี้ยในบัญชีเงินฝากประจำธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาราชบุรี จำนวน 2 บัญชี เลขที่ 571-1-08245-0 และเลขที่ 571-1-06920-8 เงินฝากพร้อมดอกเบี้ยในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) สาขาราชบุรี เลขที่ 571-2-21770-7 เงินฝากพร้อมดอกเบี้ยในบัญชีเงินฝากประจำของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) สาขาราชบุรี จำนวน 4 บัญชี เลขที่ 119-2-10069-5 เลขที่ 119-2-07958-9 เลขที่ 119-2-07959-7 และเลขที่ 119-2-10182-9 เงินฝากพร้อมดอกเบี้ยในบัญชีเงินฝากประจำธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาราชบุรี เลขที่บัญชี 292-2-45757-3 เงินฝากพร้อมดอกเบี้ยในบัญชีเงินฝากสะสมทรัพย์ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาสามแยกวังมะนาว ราชบุรี เลขที่ 567-0-03069-0 ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 356 เลขที่ดิน 16 ตำบลทุ่งหลวง อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี ที่ดินโฉนดเลขที่ 18052 เลขที่ดิน 290 ตำบลทุ่งหลวง อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี และที่ดินโฉนดเลขที่ 15520 เลขที่ดิน 30 ตำบลหนองกระทุ่ม อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี แก่โจทก์ทั้งสอง คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่เพิกถอนคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์สินของคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินที่ 50/2542 ลงวันที่ 12 มีนาคม 2542 และไม่คืนทรัพย์สินที่ยึดและอายัดรายการที่ 1 ถึงที่ 34 จำนวน 34 รายการดังกล่าวแก่โจทก์ทั้งสอง นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า นายศักดิ์ชัยหรือจิตต์ เคยเป็นสามีโจทก์ที่ 1 มีบุตรด้วยกัน 2 คน คือ โจทก์ที่ 2 และนายมงคล โจทก์ที่ 1 และนายศักดิ์ชัยได้จดทะเบียนหย่าเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2537 ตามสำเนาใบสำคัญการหย่า เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2541 เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองราชบุรียึดเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 101,500 เม็ด เป็นของกลาง โดยกล่าวหาว่านายศักดิ์ชัยกับพวกร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย แต่นายศักดิ์ชัยหลบหนีการจับกุมไปได้ เจ้าพนักงานตำรวจจึงออกหมายจับนายศักดิ์ชัยไว้ ตามสำเนาหมายจับ (ของศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานี) วันที่ 6 มีนาคม 2541 เจ้าพนักงานตำรวจไปตรวจยึดทรัพย์สินที่บ้านเลขที่ 54 หมู่ที่ 4 ตำบลหนองกระทุ่ม อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี รวม 28 รายการ ตามสำเนาบันทึกการตรวจค้น ต่อมาจำเลยมีคำสั่งแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ตรวจสอบทรัพย์สินต่างๆ ของนายศักดิ์ชัยและโจทก์ทั้งสอง โดยได้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินเพิ่มเติมอีกรวมเป็น 35 รายการ ไว้ชั่วคราว ตามสำเนาคำสั่งและสำเนาแบบแสดงบัญชีทรัพย์สินที่ยึด ต่อมาคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินวินิจฉัยว่า ทรัพย์สินทั้ง 35 รายการ เป็นทรัพย์สินของนายศักดิ์ชัยที่มีอยู่หรือได้มาเกินกว่าฐานะหรือความสามารถในการประกอบอาชีพหรือกิจกรรมอย่างอื่นโดยสุจริต เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเป็นมูลค่า 16,717,110.01 บาท ตามสำเนาบันทึกพิจารณาการตรวจสอบทรัพย์สิน คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินจึงมีคำสั่งที่ 50/2542 ลงวันที่ 12 มีนาคม 2542 ให้ยึดและอายัดทรัพย์สินทั้ง 35 รายการ ตามสำเนาคำสั่งคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน นับแต่คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินมีคำสั่งให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของนายศักดิ์ชัยและโจทก์ทั้งสองจนถึงปัจจุบัน เจ้าพนักงานตำรวจยังไม่สามารถจับกุมนายศักดิ์ชัยมาดำเนินคดีได้ คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่า โจทก์ทั้งสองมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินของคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินได้หรือไม่ โดยโจทก์ทั้งสองฎีกาว่า ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 22 วรรคสอง ให้อำนาจคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินยึดหรืออายึดทรัพย์สินของผู้ต้องหาหรือผู้ที่อ้างว่าเป็นเจ้าของไว้ได้จนกว่าจะมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี แต่เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของเจ้าของทรัพย์ไม่ให้ต้องถูกยึดหรืออายัดทรัพย์สินโดยคณะกรรมการไว้นานเกินควร จึงจำกัดเวลาในการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีดังกล่าวไว้ว่า ต้องไม่ช้ากว่า 1 ปี นับแต่วันยึดหรืออายัด เมื่อมีคำสั่งฟ้องแล้ว คณะกรรมการจึงมีอำนาจยึดหรืออายัดทรัพย์สินต่อไปจนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องผู้ต้องหานั้น ซึ่งมีความหมายว่าคณะกรรมการไม่มีอำนาจที่จะยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้ต้องหาหรือผู้ซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของไว้โดยเด็ดขาด การที่จะให้ทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัดไว้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดได้นั้น มีอยู่ 2 ประการ ประการแรกได้แก่ โดยคำสั่งศาลในกรณีมีการดำเนินคดีตามมาตรา 29 ส่วนประการที่สองได้แก่ กรณีไม่อาจดำเนินคดีได้เนื่องจากผู้ต้องหาหรือจำเลยหลบหนีหรือถึงแก่ความตายตามมาตรา 32 วรรคสอง อย่างไรก็ดี กระบวนการก่อนหน้านี้ต้องได้ความว่ามีการสั่งฟ้องผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้นแล้ว แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าเจ้าพนักงานตำรวจยังไม่สามารถจับกุมตัวนายศักดิ์ชัยได้ โดยไม่ปรากฏว่าได้มีการสั่งฟ้องนายศักดิ์ชัยแล้วหรือไม่ ดังนั้น วันยึดหรืออายัดทรัพย์สินแต่ละรายการเมื่อนับถึงวันฟ้องเป็นเวลาเกินกว่า 1 ปีแล้ว คำสั่งคณะกรรมการที่ให้ยึดหรืออายึดทรัพย์สินจึงสิ้นสุดลงตามตัวบทกฎหมายดังกล่าวนั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นายศักดิ์ชัยสามีโจทก์ที่ 1 และเป็นบิดาโจทก์ที่ 2 เป็นผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดและกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด การที่เจ้าพนักงานไปตรวจค้นบ้านของโจทก์ที่ 1 พบทรัพย์สินจำนวนมากจึงเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานมีเหตุอันควรสงสัยว่า ทรัพย์สินของนายศักดิ์ชัยและของโจทก์ทั้งสองเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินและเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด จึงมีอำนาจตรวจสอบทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและยึดหรืออายัดทรัพย์สินดังกล่าวได้ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 16 (2) (4) และมาตรา 22 ดังนั้นคำสั่งคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย การยึดหรืออายัดทรัพย์สินของโจทก์ทั้งสองตามคำสั่งดังกล่าวย่อมมีผลสมบูรณ์ต่อไปจนกว่าศาลสั่งริบทรัพย์สินนั้น ตามมาตรา 29 วรรคหนึ่ง หรือกรณีที่บุคคลซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินได้ยื่นคำร้องขอคืนก่อนคดีถึงที่สุดและแสดงให้ศาลเห็นว่า (1) ตนเป็นเจ้าของที่แท้จริง และทรัพย์สินนั้นไม่ได้เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หรือ (2) ตนเป็นผู้รับโอน หรือผู้รับประโยชน์และได้ทรัพย์สินนั้นมาโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน หรือได้มาตามสมควรในทางศีลธรรมอันดี หรือในทางกุศลสาธารณะ ตามมาตรา 29 วรรคหนึ่ง (1) (2) หรือกรณีพนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี หรือมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องผู้ต้องหาหรือจำเลยรายใด มีผลทำให้การยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้ต้องหาหรือจำเลยรายนั้น รวมทั้งทรัพย์สินของผู้อื่นที่ได้ยึดหรืออายัดไว้เนื่องจากเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดของผู้ต้องหาหรือจำเลยรายนั้นสิ้นสุดลง ส่วนทรัพย์สินที่ไม่ปรากฏตัวเจ้าของที่ได้ยึดหรืออายัดไว้เนื่องจากการกระทำความผิดของผู้ต้องหาหรือจำเลยรายนั้น ถ้าไม่มีผู้ใดมาขอรับคืนภายใน 1 ปี นับแต่วันที่มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี หรือมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้อง ให้ตกเป็นของกองทุน ตามมาตรา 32 วรรคหนึ่ง ในกรณีที่ไม่อาจดำเนินคดีได้ภายใน 2 ปี นับแต่วันที่การกระทำความผิดเกิด และไม่อาจจับตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยได้ ให้ทรัพย์สินที่ได้ยึดหรืออายัดไว้เนื่องจากการกระทำความผิดของผู้ต้องหาหรือจำเลยรายนั้นตกเป็นของกองทุน แต่ถ้าไม่อาจดำเนินคดีต่อไปได้เพราะเหตุที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยรายใดถึงแก่ความตาย และทายาทของผู้ต้องหาหรือจำเลยรายนั้นสามารถพิสูจน์ได้ว่าทรัพย์สินนั้นไม่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หรือผู้ต้องหาหรือจำเลยรายนั้นได้ทรัพย์สินดังกล่าวมาโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน หรือได้มาตามสมควรในทางศีลธรรมอันดี หรือในทางกุศลสาธารณะ ก็ให้คืนทรัพย์สินนั้นให้แก่ทายาทของผู้ต้องหาหรือจำเลยรายนั้น ตามมาตรา 32 วรรคสอง เมื่อคำสั่งยึดหรืออายัดของคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินสิ้นผลลง ผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินจะต้องไปยื่นคำร้องพร้อมทั้งเอกสารหลักฐานต่อคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน และการขอรับทรัพย์สินคืนและการคืนทรัพย์สินให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ตามมาตรา 33 สำหรับกรณีที่นายศักดิ์ชัยผู้ต้องหาหลบหนีและพนักงานอัยการไม่อาจดำเนินคดีได้ภายใน 2 ปี นับแต่วันที่การกระทำความผิดเกิด ทรัพย์สินที่ได้ยึดหรืออายัดไว้เนื่องจากการกระทำความผิดของนายศักดิ์ชัยต้องตกเป็นของกองทุนตามมาตรา 32 วรรคสอง หากโจทก์ทั้งสองเห็นว่าทรัพย์สินที่คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัดไว้ไม่เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด โจทก์ทั้งสองจะต้องดำเนินการยื่นคำร้องพร้อมทั้งเอกสารหลักฐานต่อคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินตามมาตรา 33 ดังนั้น เมื่อคำสั่งคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินของคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ