คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4362/2549

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยมีคำสั่งปลดโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างออกจากงาน ถือว่าจำเลยโต้แย้งสิทธิของโจทก์แล้ว การที่โจทก์ใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยต่อคณะกรรมการการสื่อสารแห่งประเทศไทยและคณะกรรมการ ฯ ยังมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ ก็ไม่เป็นข้อจำกัดสิทธิมิให้โจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาล
ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 ให้อำนาจศาลแรงงานพิพากษาให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานหรือชดใช้ค่าเสียหายตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้เท่านั้น จะพิพากษาให้นายจ้างชดใช้ค่าเสียหายในระหว่างลูกจ้างถูกพักงานและถูกเลิกจ้างจนถึงเวลาที่นายจ้างรับกลับเข้าทำงานไม่ได้ แต่การที่โจทก์ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวเป็นขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ตามสัญญาจ้างแรงงานตาม ป.พ.พ. มาตรา 575 เมื่อจำเลยผิดสัญญาจ้างแรงงานโดยเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรมเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายที่ไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้าง โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าเสียหายดังกล่าวจากจำเลยแม้โจทก์จะไม่ได้ทำงานให้เลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2519 ปัจจุบันได้แปรสภาพเป็นบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด โจทก์เป็นอดีตพนักงานของจำเลย เข้าทำงานเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2520 ตำแหน่งสุดท้ายเป็นหัวหน้าที่ทำการไปรษณีย์กำแพงแสน ระดับ 8 อัตราขั้นเงินเดือน 29,750 บาท จำเลยมีคำสั่งปลดโจทก์ออกจากการเป็นพนักงานเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2542 โดยกล่าวหาว่าโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่และประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ซึ่งไม่เป็นความจริง กล่าวคือ เมื่อวันที่ 21 ถึง 23 ธันวาคม 2541 คณะผู้ตรวจการจากการสื่อสารแห่งประเทศไทย ได้เข้าตรวจการเงินและการงานของที่ทำการไปรษณีย์กำแพงแสน ผลการตรวจเรียบร้อยดี ไม่มีข้อบกพร่อง ต่อมาวันที่ 6 มกราคม 2542 เวลา 8 นาฬิกา เจ้าหน้าที่จากสำนักงานการสื่อสารไปรษณีย์เขต 7 จำนวน 3 คน คือ นายวิจารณ์ ศรีสมบูรณ์ นายวุฒิ วาดบุญมา และนายอุดม หมื่นจำนงค์ ได้เข้ามาทำการตรวจสอบการเงินและการงานของที่ทำการไปรษณีย์กำแพงแสน ตามคำสั่งของผู้อำนวยการสำนักงานการสื่อสารไปรษณีย์เขต 7 ซึ่งขัดกับระเบียบจำเลยฉบับที่ 321/2541 ที่กำหนดให้เป็นอำนาจของผู้ว่าการที่จะสั่งให้กองตรวจสอบภายในเป็นผู้ดำเนินการตรวจ เจ้าหน้าที่ทั้งสามคนดังกล่าวได้ทำการตรวจนับเงินสดในช่วงเช้า ปรากฏว่ามีอยู่ครบถ้วนถูกต้อง ช่วงบ่ายได้ทำการตรวจนับตราไปรษณียากร แต่ไม่ได้ให้คณะกรรมการเก็บรักษาเงินของที่ทำการไปรษณีย์กำแพงแสนทั้งสามคนทำการตรวจนับเพื่อความถูกต้องอีกครั้งหนึ่งและลงนามรับทราบ ตามระเบียบจำเลยที่ 83/2525 จึงเป็นการกระทำที่มิชอบ เจ้าหน้าที่ทั้งสามคนดังกล่าวยังได้ร่วมกันปลอมแปลงโดยการขีดฆ่าและแก้ไข บันทึกผลการตรวจนับตราไปรษณียากรข้อที่ 2 และข้อที่ 3 ในภายหลัง ในช่วงเย็นของวันที่ 6 มกราคม 2542 ก่อนปิดตู้นิรภัย คณะกรรมการเก็บรักษาเงินได้ตรวจนับเงินสดและตราไปรษณียากร ปรากฏว่ามีอยู่ครบถ้วนถูกต้องและได้รายงานให้จำเลยทราบตามคำสั่งปลดออกที่รายงานว่าได้นำเงินส่วนที่ขาดมาลงชดใช้ในภายหลังแล้วนั้น ความจริงไม่ได้มีการชดใช้ เพราะตราไปรษณียากรไม่ได้ขาดจริง ต่อมาวันที่ 18 มกราคม 2542 โจทก์ได้ย้ายไปปฏิบัติหน้าที่ ณ ที่ทำการไปรษณีย์เพชรบุรีได้ส่งมอบการเงินและงานให้นายมนัส มีชอบ หัวหน้าแผนกธุรการ สำนักงานการสื่อสารไปรษณีย์เขต 7 มารับหน้าที่หัวหน้าไปรษณีย์กำแพงแสนต่อจากโจทก์ ได้มีการตรวจนับเงินและรับงานจากโจทก์ก็เรียบร้อยดีไม่มีปัญหาใด ต่อมาวันที่ 16 มีนาคม 2542 จึงมีการร้องเรียนต่อจำเลยถึงการย้ายตำแหน่งโดยไม่เป็นธรรม จำเลยจึงมีคำสั่งสอบสวนทางวินัยโจทก์และมีคำสั่งปลดโจทก์ออกจากงานโดยไม่ได้รับบำเหน็จ โดยกล่าวหาว่าโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายคิดเป็นเงินเดือนนับตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2542 ถึงวันฟ้องรวมระยะเวลา 2 ปี 7 เดือน เป็นเงิน 922,250 บาท ค่าเสียหายทางด้านชื่อเสียงจำนวน 5,000,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยเพิกถอนคำสั่งที่ กสท. ที่ 51317/2542 ลงวันที่ 10 สิงหาคม 2542 พร้อมให้โจทก์เข้าปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งเดิม รวมทั้งสิทธิประโยชน์ที่โจทก์ควรได้รับทั้งหมดและค่าเสียหายจำนวน 5,000,000 บาท
จำเลยให้การว่า การที่นายวิจารณ์ ศรีสมบูรณ์ นายวุฒิ วาดบุญมา และนายอุดม หมื่นจำนงค์ เจ้าหน้าที่จากสำนักงานการสื่อสารไปรษณีย์เขต 7 ไปทำการตรวจที่ทำการไปรษณีย์กำแพงแสนนั้น เนื่องจากนายบุญชู โกสุข ผู้อำนวยการสำนักงานการสื่อสารไปรษณีย์เขต 7 ในฐานะผู้บังคับบัญชาดูและรับผิดชอบการปฏิบัติงานของโจทก์โดยตรง ได้ทราบผลจากรายงานการตรวจงานและการเงินของผู้ตรวจการ ตามรายงานการตรวจสอบการเงิน (ตก. 6) เมื่อวันที่ 21 ถึง 23 ธันวาคม 2541 ว่าการปฏิบัติงานของที่ทำการไปรษณีย์กำแพงแสนไม่เป็นไปตามระเบียบ จึงให้เจ้าหน้าที่ทั้งสามคนดังกล่าวไปทำการตรวจสอบข้อเท็จจริง เมื่อเจ้าหน้าที่ทั้งสามคนดังกล่าวทำการตรวจนับเงินสดและตราไปรษณียากรแล้วปรากฏว่าขาด ได้ทำบันทึกรายงานผลการตรวจสอบต่อผู้บังคับบัญชาโจทก์ก็ได้ลงลายมือชื่อยอมรับว่ามีตราไปรษณียากรขาดจริง คณะกรรมการสอบสวนทางวินัยได้พิจารณาเอกสารหลักฐานประกอบคำยืนยันของพยานบุคคลแล้วเชื่อว่าโจทก์ได้กระทำการทุจริตนำเงินที่จำหน่ายตราไปรษณียากรรวมจำนวน 48,385.50 บาท ไปใช้เป็นประโยชน์แก่ตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบตามข้อกล่าวหาและได้มีการนำเงินมาชดใช้แล้ว คณะกรรมการได้ประชุมปรึกษาหารือกันแล้วมีมติเอกฉันท์เห็นสมควรให้ลงโทษไล่โจทก์ออกจากงาน แต่เนื่องจากโจทก์ได้นำเงินมาชดใช้แล้ว จึงมีเหตุอันควรลดหย่อนให้ลดโทษไล่ออกจากงานเป็นการปลดโจทก์ออกจากงาน ซึ่งคณะกรรมการที่ปรึกษาทางวินัยและคณะกรรมการบริหารงานบุคคลพิจารณาแล้วมีความเห็นเช่นเดียวกันกับคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยจำเลย จึงมีคำสั่งที่ 51317/2542 ปลดโจทก์ออกจากงาน นอกจากนี้ โจทก์ได้อุทธรณ์คำสั่งโดยระบุในตอนท้ายของอุทธรณ์ว่า โจทก์มีวัตถุประสงค์ในการอุทธรณ์เพื่อขอลดโทษลงบ้าง เพราะที่ผ่านมาไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน แสดงว่าโจทก์ได้กระทำความผิดตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ จากจำเลย อนึ่งอุทธรณ์คำสั่งของโจทก์อยู่ในระหว่างการพิจารณาอุทธรณ์ของฝ่ายบริหารของจำเลย ดังนั้น กรณีของโจทก์จึงยังไม่ถึงที่สุด โจทก์จึงนำคดีมาฟ้องร้องต่อศาลมิได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยรับโจทก์เข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่และอัตราค่าจ้างไม่ต่ำกว่าเดิม โดยให้นับอายุงานต่อเนื่อง ให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 25,000 บาท นับแต่วันที่ 16 มีนาคม 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะรับโจทก์กลับเข้าทำงาน คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลแรงงานกลางพิจารณาพยานหลักฐานโจทก์และจำเลยแล้วฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยพยานบุคคลของจำเลยประกอบพยานเอกสารต่าง ๆ ของจำเลยรวมทั้งเอกสารหมาย ล. 12 ว่าบันทึกการตรวจสอบเอกสารหมาย ล. 12 แผ่นที่ 2 ถึงแผ่นที่ 7 มีรอยแก้ไขและขีดฆ่าหลายรายการโดยไม่มีผู้ลงลายมือชื่อกำกับการแก้ไขขีดฆ่า มีการคำนวณตัวเลขผิดหลายรายการ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการตรวจนับตราไปรษณียากรที่ใช้ในกิจการคงเหลือตามพยานเอกสารและพยานบุคคลขัดแย้งกัน และตราไปรษณียากรสะสมจำนวนที่ตรวจนับได้ทั้งหมดตามเอกสารหมาย ล. 12 แผ่นที่ 2 และแผนที่ 3 ก็ไม่ตรงกับที่ระบุไว้ในเอกสารดังกล่าวแผ่นที่ 5 และแผ่นที่ 6 นอกจากนี้เมื่อระหว่างวันที่ 21 ถึง 23 ธันวาคม 2541 ผู้ตรวจการได้ทำการตรวจการงานและการเงินของไปรษณีย์กำแพงแสนแล้วทำรายงานการตรวจสอบการปฏิบัติงานไว้ตามเอกสารหมาย ล. 9 ว่า การปฏิบัติงานของไปรษณีย์กำแพงแสนเป็นไปตามระเบียบทุกข้อมีเพียงการจำหน่ายตราไปรษณียากรเพื่อการสะสมระหว่างวันที่ 18 ถึง 20 ธันวาคม 2541 จำนวน 35,500 บาท ไม่ได้จัดทำใบยืมชั่วคราวซึ่งผู้ตรวจการได้บันทึกแนะนำว่าในโอกาสต่อไปให้จัดทำใบยืมชั่วคราวตามระเบียบด้วยเท่านั้น มิได้กล่าวว่าเป็นการทุจริตหรือมีเจตนาทุจริต นายมนัส มีชอบ พยานจำเลยซึ่งมารับตำแหน่งรักษาการหัวหน้าที่ทำการไปรษณีย์กำแพงแสนแทนโจทก์เบิกความว่า วันที่ 15 มกราคม 2542 โจทก์ได้ส่งมอบงาน นายมนัสได้ตรวจนับเงินสด ตราไปรษณียากรและของมีค่าอื่น ๆ ปรากฏว่าครบถ้วนถูกต้อง ทั้งโจทก์ยังได้นำตราไปรษณียากรเพื่อการสะสมจำนวน 20,000 บาท มาให้ตรวจนับ แต่เนื่องจากตราไปรษณียากรถูกฉีกไปจำหน่ายเป็นดวง ๆ กระจัดกระจายตรวจนับลำบาก นายมนัสจึงขอให้โจทก์คืนเป็นเงินสด โจทก์ได้คืนตราไปรษณียากรส่วนที่เหลือพร้อมเงินสดรวมจำนวน 20,000 บาท ครบถ้วน ดังนี้ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังไม่ได้ว่าตราไปรษณียากรเพื่อใช้ในกิจการและเพื่อสะสมได้ขาดไปและโจทก์ได้ทุจริตนำเงินที่จำหน่ายตราไปรษณียากรเพื่อใช้ในกิจการและเพื่อการสะสมรวมจำนวน 48,385.50 บาท ไปเป็นประโยชน์แก่ตนเองหรือผู้อื่น คำสั่งของจำเลยที่ 51317/2542 ที่ลงโทษปลดโจทก์ออกจากงานจึงไม่ชอบและไม่เป็นธรรมต่อโจทก์ การที่จำเลยอุทธรณ์ข้อแรกว่า การรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยอ้างในอุทธรณ์สรุปว่า ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยข้อเท็จจริงขัดกับพยานหลักฐานตามเอกสารหมาย จ. 38 และเอกสารหมาย ล. 24 และ ล. 31 ทั้งขัดกับคำเบิกความของโจทก์ ข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมาจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย อุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางเพื่อให้ศาลฎีการับฟังข้อเท็จจริงให้เป็นไปดังที่จำเลยอุทธรณ์จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง และที่จำเลยอุทธรณ์ในข้อที่สองว่า ศาลแรงงานกลางกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์มากเกินไปนั้นก็เป็นการอุทธรณ์ดุลพินิจในการกำหนดค่าเสียหายเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงเช่นเดียวกัน จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย อุทธรณ์ข้อที่หนึ่งและที่สองของจำเลย
สำหรับอุทธรณ์ของจำเลยประการที่สามเกี่ยวกับอำนาจฟ้องของโจทก์นั้นจำเลยกล่าวอ้างว่า จำเลยได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยข้อกฎหมายเบื้องต้นไว้แล้วซึ่งศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รอวินิจฉัยพร้อมคำพิพากษา (ที่ถูกคือศาลแรงงานกลางสั่งว่าให้รอไว้สั่งในนัดหน้าตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลแรงงานกลาง วันที่ 21 พฤศจิกายน 2544) แต่ศาลแรงงานกลางมิได้วินิจฉัยให้นั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงในคดีได้ความว่า จำเลยมีคำสั่งที่ 51317/2542 ลงวันที่ 10 สิงหาคม 2542 ปลดโจทก์ออกจากงานโดยให้มีผลนับแต่วันที่ 16 มีนาคม 2542 ถือว่าจำเลยโต้แย้งสิทธิของโจทก์แล้ว การที่โจทก์ใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยต่อคณะกรรมการการสื่อสารแห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2542 และคณะกรรมการ ฯ ยังมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ ก็หามีข้อจำกัดสิทธิมิให้โจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลไม่ เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ในวันที่ 5 ตุลาคม 2544 จึงถือว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องชอบด้วยกฎหมายแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการสุดท้ายมีว่า เมื่อศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่และอัตราค่าจ้างไม่ต่ำกว่าเดิม โดยให้นับอายุงานต่อเนื่องแล้วจำเลยจะต้องรับผิดค่าเสียหายให้แก่โจทก์เดือนละ 25,000 บาท นับตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะรับโจทก์กลับเข้าทำงานด้วยหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 ให้อำนาจศาลแรงงานพิพากษาให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานหรือชดใช้ค่าเสียหายตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้เท่านั้น จะพิพากษาให้นายจ้างชดใช้ค่าเสียหายในระหว่างลูกจ้างถูกพักงานและถูกเลิกจ้างจนถึงเวลาที่นายจ้างรับกลับเข้าทำงานไม่ได้ แต่อย่างไรก็ตาม การที่โจทก์ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวเป็นการขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ตามสัญญาจ้างแรงงานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 575 เมื่อจำเลยผิดสัญญาจ้างแรงงานโดยเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายที่ไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้าง โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าเสียหายดังกล่าวจากจำเลยแม้โจทก์จะไม่ได้ทำงานให้จำเลยก็ตาม ศาลแรงงานพิพากษาชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน.

Share