คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5044/2549

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์โดยทำหลักฐานเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ไว้ เมื่อครบกำหนดตามหนังสือรับสภาพหนี้จำเลยไม่ชำระหนี้คืนให้แก่โจทก์ โจทก์ทวงถามแล้วจำเลยเพิกเฉยแต่โจทก์กลับนำสืบว่า จำเลยทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้างตลาดสดและตึกแถวและชักชวนให้โจทก์ร่วมลงทุน โจทก์จึงนำเงินจำนวน 310,000 บาท ไปร่วมลงทุนกับจำเลย หลังจากนั้นจำเลยไม่คืนเงินลงทุนและไม่แบ่งผลกำไรให้โจทก์ ต่อมาโจทก์ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ตามฟ้องไปให้จำเลยลงลายมือชื่อเพื่อเป็นหลักฐานว่าจำเลยได้กู้ยืมเงินของโจทก์ไป แต่เมื่อครบกำหนดตามหนังสือรับสภาพหนี้แล้วจำเลยไม่ชำระเงินคืน เห็นได้แจ้งชัดว่าโจทก์นำสืบไม่สมฟ้องและเป็นการนำสืบนอกฟ้องนอกประเด็น ซึ่งต้องห้ามมิให้ศาลรับฟังตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87 (1) ศาลจึงไม่อาจวินิจประเด็นดังกล่าวและพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีได้ตามมาตรา 142

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2540 จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์จำนวน 310,000 บาท ตกลงดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี กำหนดชำระต้นเงินและดอกเบี้ยคืนในวันที่ 6 มกราคม 2541 โดยทำหลักฐานเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ไว้ เมื่อครบกำหนดตามหนังสือรับสภาพหนี้ จำเลยไม่ชำระหนี้คืนให้แก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินคืนโจทก์จำนวน 381,138.63 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี จากต้นเงิน 310,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้กู้ยืมเงินโจทก์ หนังสือรับสภาพหนี้เป็นเอกสารปลอม เนื่องจากโจทก์ทำแบบฟอร์มเปล่ามาให้จำเลยลงลายมือชื่อ หลังจากนั้นโจทก์นำแบบฟอร์มดังกล่าวไปกรอกข้อความว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์ การรับสภาพหนี้เป็นโมฆะ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 381,138.63 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี จากต้นเงิน 310,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลยโดยกำหนดค่าทนายความรวม 8,000 บาท
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์โดยทำหลักฐานเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ไว้ เมื่อครบกำหนดตามหนังสือรับสภาพหนี้ จำเลยไม่ชำระหนี้คืนให้แก่โจทก์โจทก์ทวงถามแล้วจำเลยเพิกเฉย แต่โจทก์กลับนำสืบว่า จำเลยทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้างตลาดสดและตึกแถวและชักชวนให้โจทก์ร่วมลงทุน โจทก์จึงนำเงินจำนวน 310,000 บาท ไปร่วมลงทุนกับจำเลย หลังจากนั้นจำเลยไม่คืนเงินลงทุนและไม่แบ่งผลกำไรให้โจทก์ โจทก์จึงทวงถามและต่อมาโจทก์ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้เอกสารหมาย จ.1 ตามฟ้องไปให้จำเลยลงลายมือชื่อเพื่อเป็นหลักฐานว่าจำเลยได้กู้ยืมเงินของโจทก์ไป แต่เมื่อครบกำหนดตามหนังสือรับสภาพหนี้แล้วจำเลยเพิกเฉยไม่ชำระเงินคืนให้โจทก์ ดังนั้น การนำสืบในประเด็นดังกล่าวเป็นที่เห็นได้แจ้งชัดว่าโจทก์นำสืบไม่สมสภาพแห่งข้อหา ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาตามคำฟ้องของโจทก์และเป็นการนำสืบนอกฟ้องนอกประเด็น ซึ่งต้องห้ามมิให้ศาลรับฟังตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87 (1) ศาลฎีกาจึงไม่อาจวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวและพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 ที่โจทก์อ้างในฎีกาว่า เงินที่โจทก์ให้จำเลยไปนั้นมิใช่เป็นการร่วมลงทุนในความหมายของกฎหมายเป็นเพียงความเข้าใจตามธรรมดาของชาวบ้านเช่นโจทก์เท่านั้นและถึงแม้จะรับฟังว่ามิใช่เป็นการกู้ยืมเงินแต่เริ่มแรก แต่การที่โจทก์กับจำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้ขึ้นใหม่ว่าเป็นการกู้ยืมเงินก็มีลักษณะเป็นการแปลงหนี้ใหม่ในสาระสำคัญแห่งหนี้จากหนี้อื่นเป็นหนี้เงินกู้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ที่โจทก์นำมาฟ้อง พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาจึงมิใช่เป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็นนั้น เห็นว่า โจทก์มีทนายความซึ่งย่อมต้องมีความรอบรู้ทางกฎหมายทำหน้าที่ว่าความคดีนี้ให้มาตั้งแต่เริ่มแรก ทั้งการอ้างว่าเป็นการแปลงหนี้ใหม่จากหนี้อื่นเป็นหนี้เงินกู้ยืมนั้น ก็มิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์จะนำสืบอย่างไรก็ได้โดยมิพักต้องปฏิบัติในการดำเนินกระบวนพิจารณาชั้นสืบพยานโจทก์ให้เป็นไปอย่างสอดคล้องสมสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในคำฟ้องตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง ข้อโต้แย้งตามฎีกาของโจทก์ดังกล่าวไม่มีเหตุผลเพียงพอให้รับฟังได้ ฉะนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายกฟ้องโจทก์มาจึงชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าทนายความชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share