คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6182/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจะต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา เมื่อในคดีส่วนอาญา ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโดยฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท แม้โจทก์จะอุทธรณ์แต่ศาลชั้นต้นก็สั่งไม่รับอุทธรณ์เฉพาะในคดีส่วนอาญา เพราะเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามกฎหมาย โจทก์ก็มิได้อุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นคดีส่วนอาญาจึงถึงที่สุด ดังนั้น ในคดีส่วนแพ่งย่อมต้องฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทเช่นเดียวกับในคดีส่วนอาญา.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) จำเลยทั้งสามร่วมกันบุกรุกเข้าไปในที่ดินแปลงดังกล่าวของโจทก์ โดยไถที่ดินและหว่านเมล็ดข้าวลงในที่ดิน อันเป็นการถือการครอบครองที่ดินและรบกวนการครอบครองที่ดินของโจทก์โดยปกติสุข ทำให้โจทก์เสียหายไม่สามารถทำนาได้ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362, 358, 83 ให้จำเลยทั้งสามส่งมอบการครอบครองคืนให้แก่โจทก์ในสภาพเดิม และร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 7,000 บาท กับร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ปีละ 7,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะมอบการครอบครองที่ดินคืนแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 และที่ 3 โดยซื้อจากโจทก์ โจทก์มอบการครอบครองให้ตั้งแต่วันที่30 เมษายน 2521 และจำเลยที่ 1 ที่ 3 เข้าครอบครองทำประโยชน์ตั้งแต่วันรับมอบจนบัดนี้ หนังสือรับรองการทำประโยชน์สำหรับที่ดินพิพาทโจทก์ทำขึ้นในฐานะเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ที่ 3
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…เห็นว่าคดีนี้เป็นคดีอาญาและคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 เมื่อในคดีส่วนอาญาศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโดยฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท แม้โจทก์จะอุทธรณ์คำพิพากษาดังกล่าว แต่ศาลชั้นต้นก็สั่งไม่รับอุทธรณ์เฉพาะในคดีส่วนอาญาเพราะเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามตามกฎหมาย โจทก์มิได้อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าว คดีส่วนอาญาจึงถึงที่สุดและในคดีส่วนแพ่งย่อมต้องฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทเช่นเดียวกับในคดีส่วนอาญา โจทก์จะฎีกาโต้เถียงเป็นอย่างอื่นหาได้ไม่…”
พิพากษายืน.

Share