คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2675/2549

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คำฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับยาสูบระบุว่าเป็นความผิดต่อ พ.ร.บ.ศุลกากร ฯ และ พ.ร.บ.ยาสูบ ฯ แต่ความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ อีกทั้งวัตถุแห่งการกระทำความผิดเป็นคนละชนิดกับแผ่นดิจิตอลวีดีโอดิสในความผิดต่อ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ฯ และไม่มีลักษณะของการกระทำความผิดที่เป็นเงื่อนไขซึ่งกันและกันแยกกันได้เด็ดขาด ลำพังแต่ผู้กระทำความผิดทุกข้อหาเป็นบุคคลเดียวกัน กระทำในขณะเดียวกันและในสถานที่เดียวกันเท่านั้นยังไม่ถือว่าเป็นความผิดเกี่ยวเนื่องกันตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 36 ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางชอบที่จะมีคำสั่งให้โจทก์แยกฟ้องจำเลยในข้อหาความผิดในส่วนที่เกี่ยวกับยาสูบตาม พ.ร.บ.ศุลกากร ฯ และ พ.ร.บ.ยาสูบ ฯ ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27, 27 ทวิ พระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ.2509 มาตรา 4, 5, 5 ตรี, 19, 23, 24, 44, 49, 50 พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4, 6, 8, 15, 28, 31, 61, 70, 75, 76 พระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 มาตรา 4, 6, 34 และให้แผ่นดิจิตอลวีดีโอดีสของกลางที่ละเมิดลิขสิทธิ์ทั้งหมดตามฟ้องข้อ (3) จำนวน 13,640 แผ่น ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ สั่งจ่ายเงินค่าปรับฐานละเมิดลิขสิทธิ์กึ่งหนึ่งให้แก่ผู้เสียหายทั้งยี่สิบสองบริษัทซึ่งเป็นเจ้าของ ริบแผ่นดิจิตอลวีดีโอดีสจำนวน 37,000 แผ่น ตกเป็นของแผ่นดิน และริบยาสูบชนิดบุหรี่ซิกาแรตของกลางทั้งหมดให้เป็นของกรมสรรพสามิตด้วย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณาจำเลยยื่นคำร้องว่า ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่มีอำนาจรับฟ้องคดีนี้ไว้พิจารณาพิพากษา เพราะโจทก์ฟ้องกล่าวหาจำเลยว่ากระทำความผิดหลายเรื่องเกี่ยวพันกัน ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 24 วรรคสอง บัญญัติให้โจทก์ฟ้องคดีทุกเรื่องต่อศาลซึ่งมีอำนาจชำระในฐานความผิดซึ่งมีอัตราโทษสูงกว่า ในคดีนี้ความผิดซึ่งมีอัตราโทษสูงสุดคือความผิดต่อพระราชบัญญัติศุลกากร ฯ ซึ่งตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 เป็นความผิดที่ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลนี้ จึงขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายว่าศาลดังกล่าวไม่มีอำนาจรับคดีนี้ทุกข้อหาไว้พิจารณาพิพากษา และขอให้ยกฟ้องหรือจำหน่ายคดี
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งให้โจทก์แยกฟ้องจำเลยในข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติศุลกากร ฯ และความผิดต่อพระราชบัญญัติยาสูบ ฯ เป็นคดีใหม่ยังศาลซึ่งมีอำนาจภายในกำหนด 30 วัน
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า คำสั่งของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางที่ให้โจทก์แยกฟ้องในข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติศุลกากร ฯ และความผิดต่อพระราชบัญญัติยาสูบ ฯ เป็นคดีใหม่ต่อศาลซึ่งมีอำนาจนั้นชอบหรือไม่ เห็นว่า ตามคำฟ้องโจทก์บรรยายการกระทำความผิดของจำเลยในส่วนที่เกี่ยวกับยาสูบในข้อ (1) (2) ว่าเป็นความผิดต่อพระราชบัญญัติศุลกากร ฯ และพระราชบัญญัติยาสูบ ฯ นั้น โดยลำพังความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางแต่อย่างใด อีกทั้งวัตถุแห่งการกระทำความผิดตามฟ้องนั้นเป็นยาสูบซึ่งเป็นคนละชนิดกับแผ่นดิจิตอลวีดีโอดิสในความผิดต่อพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ ฯ และพระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ ฯ ที่โจทก์ฟ้องรวมกันมา ซึ่งลักษณะของการกระทำความผิดตามบรรยายฟ้องของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับยาสูบและแผ่นดิจิตอลวีดีโอดิสนั้นไม่มีลักษณะของการกระทำความผิดที่เป็นเงื่อนไขซึ่งกันและกันแต่อย่างใด โดยแยกกันได้เด็ดขาดทั้งการกระทำและบทบัญญัติของกฎหมายที่เป็นความผิด ลำพังแต่เพียงผู้กระทำความผิดทุกข้อหาเป็นบุคคลเดียวกัน กระทำในขณะเดียวกันและในสถานที่เกิดเหตุเดียวกันเท่านั้นยังไม่ถือว่าเป็นความผิดเกี่ยวเนื่องกันตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 36 การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งให้โจทก์แยกฟ้องจำเลยในข้อหาความผิดในส่วนที่เกี่ยวกับยาสูบตามพระราชบัญญัติศุลกากร ฯ และพระราชบัญญัติยาสูบ ฯ นั้น จึงชอบแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share