คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5176/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ตามคำฟ้องของโจทก์ไม่ปรากฏข้อความว่า บิลเงินสดที่จำเลยปลอมเป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวนหรือระงับซึ่งสิทธิ อันเป็นนิยามของคำว่า เอกสารสิทธิ ตาม ป.อ. มาตรา 1 (9) แม้โจทก์จะขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 265 ด้วยก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าบิลเงินสดเป็นเอกสารสิทธิถือได้ว่าคำฟ้องของโจทก์มิได้บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดฐานปลอมและใช้เอกสารสิทธิปลอมตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) การกระทำของจำเลยตามที่โจทก์บรรยายมาในฟ้อง จึงไม่เป็นความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารสิทธิปลอมตาม ป.อ. มาตรา 265 และมาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อเดือนมกราคม 2548 วันใดไม่ปรากฏชัด เวลากลางวันจำเลยทำปลอมขึ้นบางส่วน เติมและแก้ไขด้วยประการใดๆ ในเอกสารที่แท้จริงซึ่งบิลเงินสดของห้างหุ้นส่วนจำกัดศิริชัยเสนา ฉบับเล่มที่ 076 เลขที่ 7536 วันที่ 11 มกราคม 2548 โดยจำเลยนำบิลเงินสดฉบับดังกล่าวมาแก้ไขจำนวนเงินในช่องน้ำมันดีเซลจากเดิมจำนวน 300 บาท แก้ไขเป็นจำนวน 800 บาท และในช่องรวมเงินจากเดิมจำนวน 300 บาท แก้ไขเป็นจำนวน 800 บาท เติมข้อความลงในช่องสุดท้ายของรายการว่าแปดร้อยบาทถ้วนและเติมข้อความลงเป็นบรรทัดล่างสุดว่า บจ.8781 โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดศิริชัยเสนา ผู้อื่นและประชาชน และจำเลยทำปลอมขึ้นบางส่วนเติมและแก้ไขด้วยประการใดๆ ในเอกสารที่แท้จริงซึ่งบิลเงินสดของห้างหุ้นส่วนจำกัดรินทองวิเศษเซอร์วิส ฉบับเล่มที่ 173 เลขที่ 8635 วันที่ 26 ธันวาคม 2547 โดยจำเลยนำบิลเงินสดดังกล่าวมาแก้ไขเดือนและปีจากเดิมวันที่ 26 ธันวาคม 2547 แก้ไขเป็นวันที่ 26 มกราคม 2548 แก้ไขจำนวนในช่องน้ำมันดีเซลจากเดิมจำนวน 300 บาท แก้ไขเป็นจำนวน 800 บาท และในช่องรวมเงินจากเดิมจำนวน 300 บาท แก้ไขเป็นจำนวน 800 บาท กับเติมข้อความเหนือบรรทัดสุดท้ายว่า บจ.8781 โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดรินทองวิเศษเซอร์วิส ผู้อื่นและประชาชน ภายหลังจำเลยปลอมบิลเงินสด 2 ฉบับ ดังกล่าวแล้วจนถึงวันที่ 25 เมษายน 2548 ต่อเนื่องกัน จำเลยใช้บิลเงินสดปลอมทั้งสองฉบับดังกล่าว ยื่นเบิกเงินตามจำนวนที่ทำปลอมรวม 1,600 บาท จากบริษัทรังสิตฟุตแวร์ จำกัด ผู้เสียหาย โดยใช้ยื่นต่อนายอุดม และผู้มีชื่อ ซึ่งเป็นพนักงานผู้มีหน้าที่ของผู้เสียหาย ทั้งนี้ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดศิริชัยเสนา ห้างหุ้นส่วนจำกัดทองวิเศษเซอร์วิส นายอุดมผู้มีชื่อบริษัทรังสิตฟุตแวร์ จำกัด ผู้อื่นและประชาชน เหตุเกิดที่ตำบลบางนมโค อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 264, 265 และ 268
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณาบริษัทรังสิตฟุตแวร์ จำกัด ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 265 ,268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอม รวม 2 กระทง ให้ลงโทษฐานใช้เอกสารสิทธิปลอม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 ตามมาตรา 268 วรรคสอง จำคุกกระทงละ 1 ปี และปรับกระทงละ 2,000 บาท รวม 2 กระทง เป็นจำคุก 2 ปี และปรับ 4,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
โจทก์ร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลยกระทงละ 6 เดือน รวม 2 กระทง เป็นจำคุก 12 เดือน โดยไม่ปรับและไม่รอการลงโทษ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษจำคุกนั้น เห็นว่า จำเลยทำงานกับโจทก์ร่วมมานานเกือบ 7 ปี ไม่ปรากฏว่าจำเลยมีความประพฤติไปในทางที่เสียหาย ตามระเบียบของโจทก์ร่วม จำเลยมีสิทธิเบิกค่าน้ำมันรถเป็นค่าสวัสดิการได้เดือนละไม่เกิน 3,000 บาท จำเลยปลอมบิลน้ำมันรถเพียง 2 ฉบับ โดยแก้ไขจำนวนเงินสูงขึ้นฉบับละ 500 บาท ซึ่งเป็นจำนวนเล็กน้อย แม้เป็นการกระทำที่ไม่สมควร แต่พฤติการณ์แห่งคดีก็ไม่ร้ายแรงนัก การต้องโทษจำคุกระยะสั้นตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 นอกจากจะไม่เกิดผลในการฟื้นฟูแก้ไขความประพฤติของจำเลยแล้ว ยังทำให้จำเลยมีประวัติเสื่อมเสีย เมื่อพ้นโทษแล้วก็ยากที่จะกลับตนเป็นพลเมืองดีประกอบสัมมาชีพโดยสุจริตต่อไปได้ เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงเห็นสมควรรอการลงโทษจำคุกและคุมความประพฤติจำเลยไว้ เพื่อให้มีเจ้าพนักงานคอยแนะนำ ช่วยเหลือตักเตือน หรือสอดส่องดูแลซึ่งน่าจะเป็นผลดีแก่จำเลยและสังคมมากกว่า ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น แต่เพื่อให้หลาบจำและป้องปรามมิให้จำเลยกระทำความผิดทำนองนี้อีก เห็นสมควรวางโทษปรับจำเลยอีกสถานหนึ่ง รวมทั้งกำหนดเงื่อนไขการคุมประพฤติจำเลยให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดี
อนึ่ง ตามคำฟ้องของโจทก์ไม่ปรากฏข้อความว่า บิลเงินสดที่จำเลยปลอมเป็นเอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวนหรือระงับซึ่งสิทธิอันเป็นนิยามของคำว่า เอกสารสิทธิ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (9) แม้โจทก์จะขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 ด้วยก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าบิลเงินสดเป็นเอกสารสิทธิ ถือได้ว่าคำฟ้องของโจทก์มิได้บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดฐานปลอมและใช้เอกสารสิทธิปลอม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) การกระทำของจำเลยตามที่โจทก์บรรยายมาในฟ้อง จึงไม่เป็นความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารสิทธิปลอม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 และมาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 ที่ศาลล่างทั้งสองปรับบทลงโทษจำเลยในความผิดดังกล่าวมาจึงไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคแรก, มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำเลยเป็นผู้ปลอมและใช้เอกสารปลอมเอง จึงให้ลงโทษจำเลยฐานใช้เอกสารปลอมแต่เพียงกระทงเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก ตามมาตรา 268 วรรคสอง ให้จำคุกกระทงละ 6 เดือน และปรับกระทงละ 6,000 บาท อีกสถานหนึ่ง รวม 2 กระทง เป็นจำคุก 12 เดือน และปรับ 12,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี และคุมความประพฤติของจำเลยภายในระยะเวลาที่รอการลงโทษ นับตั้งแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟัง โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติปีละ 3 ครั้ง ตามเงื่อนไขและกำหนดระยะเวลาที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรกำหนด กับให้กระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรมีกำหนด 20 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ข้อหาอื่นให้ยก

Share