แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นเจ้าของและครอบครองที่ดินพิพาททั้งสองแปลง โดยจดทะเบียนซื้อมาจาก ย. และ ป. ตามลำดับ เมื่อโจทก์เข้าครอบครองที่ดินพิพาททั้งสองแปลงแล้วได้ปลูกพืชผลต่างๆ จำเลยทั้งหกบุกรุกเข้ามาครอบครองที่ดินพิพาทปลูกมันสำปะหลัง ปลูกกระต๊อบเป็นที่พักและทำลาย ทำให้เสียหายที่ดินและต้นไม้ของโจทก์ เป็นเงินทั้งสิ้น 359,250 บาท และมีคำขอท้ายฟ้องให้บังคับจำเลยทั้งหกร่วมกันชำระค่าเสียหาย ให้โจทก์นับถึงวันฟ้องเป็นเงิน 359,250 บาท และร่วมกันชำระค่าเสียหาย ค่าที่ดิน และต้นไม้ในอัตราไร่ละ 500 บาท ต่อปี ในที่ดิน 52 ไร่ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งหกและบริวารได้ขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินพิพาทและส่งมอบที่ดินพิพาทในสภาพเรียบร้อยแก่โจทก์ แม้โจทก์ไม่ได้มีคำขอบังคับขับไล่จำเลยทั้งหกและบริวารออกจากที่ดินพิพาท แต่ที่โจทก์ระบุว่าจนกว่าจำเลยทั้งหกและบริวารได้ขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินพิพาทและส่งมอบที่ดินพิพาทแก่โจทก์นั้น เป็นกรณีพอแปลความหมายได้ว่า จนกว่าจำเลยทั้งหกจะออกไปจากที่ดินพิพาท ซึ่งมีผลเป็นอย่างเดียวกับการขอให้ขับไล่จำเลยทั้งหกและบริวารออกจากอสังหาริมทรัพย์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (1)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งหกร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย 359,250 บาท แก่โจทก์ และชำระค่าเสียหายในอัตราไร่ละ 500 บาทต่อปี ในเนื้อที่ดิน 52 ไร่ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจำเลยทั้งหกและบริวารได้ขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดิน และส่งมอบที่ดินในสภาพเรียบร้อยคืนแก่โจทก์
จำเลยทั้งหกให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งหกและบริวารขนย้ายทรัพย์สินและออกไปจากที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 2420 และ 2395 ของโจทก์ตามหมายสีเขียวในแผนที่พิพาทเอกสาร จ.22 ห้ามจำเลยทั้งหกและบริวารเข้าไปเกี่ยวข้องในที่ดินพิพาทอีกต่อไป ให้จำเลยทั้งหกร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ จำนวน 100,000 บาท และชดใช้ค่าเสียหายต่อไปอีกปีละ 26,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งหกจะส่งมอบที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อย ให้จำเลยทั้งหกร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความรวม 15,000 บาท คำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งหกฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติตามที่โจทก์และจำเลยทั้งหกนำสืบรับกันไม่คัดค้านโต้แย้งว่า โจทก์เป็นผู้มีชื่อได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 2420 และเลขที่ 2395 รวมสองแปลง อันเป็นที่ดินพิพาทตามสำเนา น.ส. 3 ก. เอกสารหมาย จ.5 และ จ.6 แต่ปัจจุบันจำเลยทั้งหกเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทแปลงเลขที่ 2420 เต็มแปลง และครอบครองแปลงเลขที่ 2395 เป็นเนื้อที่ 4 ไร่ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งหกว่า จำเลยทั้งหกพร้อมบริวารต้องออกไปจากที่ดินพิพาททั้งสองแปลง และต้องชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นเจ้าของและครอบครองที่ดินพิพาททั้งสองแปลงโดยจดทะเบียนซื้อมาจากนายเย้ย และนายประหยัด ตามลำดับเมื่อโจทก์เข้าครอบครองที่ดินพิพาททั้งสองแปลงแล้ว ได้ปลูกพืชผลจำพวกมะม่วง มันสำปะหลัง บางส่วนของที่ดินปลูกต้นสะเดา ต้นแต้ ต้นเต็ง ต้นไผ่ ต้นรัง ต้นไม้แดง จำเลยทั้งหกบุกรุกเข้ามาครอบครองที่ดินพิพาท ปลูกมันสำปะหลัง ปลูกกระต๊อบเป็นที่พักและทำลาย ทำให้เสียหายที่ดินและต้นไม้ของโจทก์ เป็นเงินทั้งสิ้น 359,250 บาท จึงมีคำขอท้ายฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งหกร่วมกันชำระค่าเสียหายให้โจทก์นับถึงวันฟ้องเป็นเงิน 359,250 บาท และร่วมกันชำระค่าเสียหาย ค่าที่ดิน และต้นไม้ในอัตราไร่ละ 500 บาท ต่อปี ในที่ดิน 52 ไร่ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งหกและบริวารได้ขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินพิพาทและส่งมอบที่ดินพิพาทในสภาพเรียบร้อยแก่โจทก์ แม้โจทก์ไม่ได้มีคำขอบังคับขับไล่จำเลยทั้งหกและบริวารออกจากที่ดินพิพาท แต่ที่โจทก์ระบุว่าจนกว่าจำเลยทั้งหกและบริวารได้ขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินพิพาทและส่งมอบที่ดินพิพาทแก่โจทก์นั้น เป็นกรณีพอแปลความหมายได้ว่า จนกว่าจำเลยทั้งหกจะออกไปจากที่ดินพิพาท ซึ่งมีผลเป็นอย่างเดียวกับการขอให้ขับไล่จำเลยทั้งหกและบริวารออกจากอสังหาริมทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (1) คดีจึงมีประเด็นให้วินิจฉัยว่าโจทก์หรือจำเลยทั้งหกมีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทดีกว่ากัน และโจทก์เสียหายเพียงใดซึ่งจะได้วินิจฉัยประเด็นดังกล่าวไปพร้อมกัน…เห็นว่า โจทก์นำสืบรับว่า เหตุที่ซื้อที่ดินพิพาททั้งสองแปลงก็เพื่อจะนำไปขายต่อให้แก่บริษัท บี แอนด์ เอส ฟายน์โฮม จำกัด ทั้งยังยอมรับว่า เมื่อโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทแปลงเลขที่ 2420 จากนายเย้ยแล้ว โจทก์ยังไม่จดทะเบียนรับโอนมาเป็นของโจทก์ ทั้งนี้เพราะต้องการให้บริษัทดังกล่าวจดทะเบียนรับโอนจากนายเย้ยโดยตรงทีเดียว เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียค่าธรรมเนียมการโอน 2 ครั้ง จึงเป็นการแสดงให้เห็นว่าโจทก์ซื้อที่ดินพิพาททั้งสองแปลงมิใช่เพื่อจะนำมาทำประโยชน์ในที่ดิน แต่ซื้อมาเพื่อจะนำไปขายต่อ อันเป็นการหากำไรหรือผลประโยชน์ในระยะเวลาสั้นๆ ฉะนั้นที่โจทก์นำสืบอ้างว่า เมื่อโจทก์ซื้อที่ดินพิพาททั้งสองแปลงมาแล้ว ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ปลูกพืชผลต่างๆ นั้น จึงรับฟังเป็นจริงไม่ถนัด แต่ในขณะเดียวกัน จำเลยทั้งหกกลับนำสืบให้เห็นว่า จำเลยทั้งหกเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทแปลงเลขที่ 2420 ตั้งแต่ปี 2528 ที่รับโอนมาจากนายสำราญถึงปัจจุบัน โดยนอกจากมีจำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 เบิกความยืนยันแล้ว จำเลยทั้งหกยังมีนายวิชัย นายมณี นายมานพ และนางสายัณห์ เป็นพยานเบิกความสนับสนุน นายวิชัยเบิกความว่า พยานรับจ้างจำเลยที่ 1 นำรถไถของพยานไปไถไร่เพื่อปลูกมันสำปะหลังให้จำเลยที่ 1 โดยยืนยันว่าที่ดินที่นำรถไปไถนั้นคือที่ดินพิพาทแปลงเลขที่ 2420 นายมณีเบิกความว่า พยานเป็นผู้รับจ้างขนมันสำปะหลังจากไร่ของจำเลยที่ 1 ไปส่งโรงงาน ส่วนนายมานพและนางสายัณห์เบิกความว่า พยานทั้งสองเช่าที่ดินของบุคคลภายนอกปลูกมันสำปะหลังติดที่ดินพิพาทแปลงเลขที่ 2420 และเห็นจำเลยทั้งหกปลูกมันสำปะหลังอยู่ในที่ดินแปลงดังกล่าว พยานทั้งสี่คนของจำเลยทั้งหกเป็นบุคคลภายนอก แม้นายมณีจะมีศักดิ์เป็นญาติกับจำเลยทั้งหก แต่ก็ไม่มีส่วนได้เสียกับจำเลยทั้งหก น่าเชื่อว่าเบิกความไปตามความเป็นจริง จึงมีน้ำหนักรับฟังได้ ทำให้ข้อนำสืบของจำเลยทั้งหกมีน้ำหนักรับฟังดีกว่าพยานโจทก์ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยทั้งหกครอบครองทำประโยชน์บนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงตามที่จำเลยทั้งหกนำสืบ จำเลยทั้งหกจึงมีสิทธิครอบครองในที่ดินแปลงพิพาทดีกว่าโจทก์ อีกทั้งไม่ได้ความว่าโจทก์เข้าทำประโยชน์บนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงตามเนื้อที่ดังกล่าวแต่อย่างใด โจทก์จึงไม่มีความเสียหาย ส่วนความเสียหายในอนาคต เมื่อได้ความว่าปัจจุบันจำเลยทั้งหกเข้าครองครองและทำประโยชน์บนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงตามเนื้อที่ที่จำเลยทั้งหกนำสืบ จึงต้องถือว่าจำเลยทั้งหกยึดถือที่ดินพิพาททั้งสองแปลงไว้เพื่อตน โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายในส่วนนี้อีกเช่นกัน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งหกฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนจำเลยทั้งหก โดยกำหนดค่าทนายความรวม 20,000 บาท