แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๒๔/๒๕๕๔
วันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๕๔
เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน
ศาลปกครองนครราชสีมา
ระหว่าง
ศาลจังหวัดอุบลราชธานี
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองนครราชสีมาโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๕๒ นางสาวจารุวรรณ ทวีสิทธิ์ ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้อง เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดอุบลราชธานี ที่ ๑ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองนครราชสีมา เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๒๐๖/๒๕๕๒ ความว่า เมื่อวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๔๙๔ บิดาและมารดาของผู้ฟ้องคดีซื้อที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ์จากผู้มีชื่อ ต่อมาบิดาของผู้ฟ้องคดีได้แจ้งการครอบครองที่ดินต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.๑) ลงวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๔๙๘ เนื้อที่ ๓๖ ตารางวา เมื่อบิดามารดาของผู้ฟ้องคดีถึงแก่กรรมผู้ฟ้องคดีและพี่น้องรวม ๓ คน ได้ครอบครองที่ดินดังกล่าวต่อจากบิดาและมารดาถึงปัจจุบัน ที่ดินดังกล่าวอยู่ติดกับที่ดินของนายวิฤทธิ์ ทวีสิทธิ์ ซึ่งออกโฉนดที่ดินได้ เมื่อวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๕๑ ผู้ฟ้องคดียื่นขอออกโฉนดที่ดินตามหลักฐาน ส.ค. ๑ ต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และได้รับแจ้งจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ว่า ผู้ฟ้องคดีได้นำรังวัดทับที่ดินตามหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) เลขที่ อบ ๔๕๙๙ เต็มทั้งแปลง ไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ออกโฉนดที่ดินได้ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๓ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงมีคำสั่งยกเลิกคำขอออกโฉนดที่ดินของผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ พิจารณาอุทธรณ์แล้วไม่เห็นด้วยกับคำอุทธรณ์ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์มีความเห็นยืนตามความเห็นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองดำเนินการออกโฉนดที่ดินตามคำขอฉบับที่ ๒๒๗/๒๒๗/๒๕๕๑ ลงวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๕๑ ให้ผู้ฟ้องคดี และให้เพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เลขที่ อบ ๔๕๙๙ ในส่วนที่ออกทับที่ดินของผู้ฟ้องคดี
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองให้การว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีคำสั่งยกเลิกคำขอออกโฉนดที่ดินของ ผู้ฟ้องคดีเนื่องจากเห็นว่าผู้ฟ้องคดีนำรังวัดออกโฉนดที่ดินทับที่ดินตามหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เลขที่ อบ ๔๕๙๙ เต็มทั้งแปลง หนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงดังกล่าวออกตามคำขอของอำเภอเมืองอุบลราชธานีซึ่งแจ้งขอรังวัดแปลงที่สาธารณประโยชน์ “ริมแม่น้ำมูล” ผู้ฟ้องคดีเคยคัดค้านอ้างว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง แต่ไม่ได้คัดค้านภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด การออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงจึงออกโดยชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองนครราชสีมาพิจารณาแล้วเห็นว่า เกณฑ์การพิจารณาในเรื่องเขตอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลปกครองและศาลยุติธรรมจะต้องพิจารณาเขตอำนาจของศาลปกครองเป็นสำคัญ หากคดีพิพาทใดอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองแล้วศาลยุติธรรมย่อมไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนั้น ตามนัยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๑๘ และมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง โดยที่การออกโฉนดที่ดินตามมาตรา ๕๙ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน บัญญัติว่า เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่พิจารณาเห็นสมควรให้ดำเนินการออกโฉนดที่ดินตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ประมวลกฎหมายนี้กำหนด และมาตรา ๕๗ วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายดังกล่าวบัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัด เจ้าพนักงานที่ดินสาขา หรือเจ้าพนักงานที่ดินซึ่งอธิบดีกรมที่ดินมอบหมายเป็นผู้ลงนามออกโฉนดที่ดิน ซึ่งในการดำเนินการออกหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินเจ้าพนักงานที่ดินจะต้องดำเนินการตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๓ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ และกรณีเจ้าพนักงานที่ดินมีคำสั่งยกเลิกคำขอที่ยื่นขอออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน คำสั่งยกเลิกคำขอดังกล่าวเป็นคำสั่งทางปกครองตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ เมื่อคดีนี้ปรากฏว่า เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดอุบลราชธานี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามความในมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้มีคำสั่งยกเลิกคำขอออกโฉนดที่ดินของผู้ฟ้องคดี การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ พิจารณาแล้วมีคำสั่งยกเลิกคำขอออกโฉนดที่ดินของผู้ฟ้องคดีดังกล่าว จึงเป็นการใช้อำนาจทางปกครองของเจ้าหน้าที่ของรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติตามมาตรา ๕๙ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๕๗ วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน การที่ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นขอออกโฉนดที่ดินตามหลักฐานแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. ๑) ลงวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๔๙๘ ต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ตามคำขอลงวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๕๑ แล้วได้รับแจ้งจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ตามหนังสือลงวันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๕๒ ว่า ช่างรังวัดได้ดำเนินการรังวัดที่ดินแล้วปรากฏว่า ผู้ฟ้องคดีได้นำรังวัดทับที่ดินตามหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) เลขที่ อบ ๔๕๙๙ ลงวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๐ เต็มทั้งแปลง ที่ดินที่ผู้ฟ้องคดียื่นขอออกโฉนดที่ดินจึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ออกโฉนดที่ดินได้ตามข้อ ๑๔ ของกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๓ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงมีคำสั่งตามหนังสือลงวันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๕๒ ยกเลิกคำขอออกโฉนดที่ดินของผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงได้อุทธรณ์คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ พิจารณาแล้วมีคำวินิจฉัยยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีจึงยื่นฟ้องคดีนี้โดยมีคำขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองดำเนินการออกโฉนดที่ดินตามคำขอลงวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๕๑ ให้ผู้ฟ้องคดี และให้เพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เลขที่ ๔๕๙๙ ในส่วนที่ออกทับที่ดินของผู้ฟ้องคดี ตามคำฟ้องและคำขอดังกล่าวจึงเป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีประสงค์ให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ยกเลิกคำขอออกโฉนดที่ดินของผู้ฟ้องคดี และเพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ที่วินิจฉัยยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี อีกทั้งให้เพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เลขที่ ๔๕๙๙ ในส่วนที่ออกทับที่ดินของผู้ฟ้องคดี แล้วให้ผู้ถูกฟ้องคดี ทั้งสองดำเนินการออกโฉนดที่ดินตามคำขอให้ผู้ฟ้องคดี อันเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการใช้อำนาจทางปกครอง หรือดำเนินกิจการทางปกครองของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลปกครอง ทั้งนี้ แม้คดีมีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่าที่ดินตามหลักฐานแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.๑) ลงวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๔๙๘ ที่พิพาทเป็นที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีสิทธิครอบครองและทำประโยชน์ หรือเป็นที่ดินตามหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) เลขที่ ๔๕๙๙ ประเด็นดังกล่าวก็เป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ศาลต้องพิจารณาในเนื้อหาของคดีอันเป็นเพียงประเด็นปัญหาย่อยหนึ่งในหลายประเด็นปัญหาที่จะพิจารณาว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีคำสั่งยกเลิกและไม่ออกโฉนดที่ดินตามคำขอให้ผู้ฟ้องคดีเป็นการกระทำการที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และแม้การพิจารณาว่าผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีสิทธิครอบครองและทำประโยชน์ในที่พิพาทดังกล่าวหรือไม่จะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือประมวลกฎหมายที่ดินก็ตาม แต่การพิจารณาในปัญหาดังกล่าวก็มิใช่เกณฑ์การพิจารณาว่าคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลใด อีกทั้งไม่มีบทบัญญัติใดห้ามศาลปกครองมิให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้ หรือมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกำหนดให้เป็นอำนาจเฉพาะศาลหนึ่งศาลใดเท่านั้นที่จะนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้ ศาลปกครองจึงนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้เช่นเดียวกัน และนอกจากนั้นมาตรา ๗๑ (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินมีผลผูกพันบุคคลภายนอก คู่กรณีที่เกี่ยวข้องอาจอ้างกับบุคคลภายนอกได้ เว้นแต่บุคคลภายนอกจะมีสิทธิดีกว่า อันเป็นบทบัญญัติที่ยืนยันให้เห็นว่า ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินและนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาวินิจฉัยข้อพิพาทในคดีได้ อีกทั้ง มาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจออกคำบังคับสั่งให้ถือปฏิบัติต่อสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลที่เกี่ยวข้องในกรณีที่มีการฟ้องให้ศาลมีคำพิพากษาแสดงความเป็นอยู่ของสิทธิหรือหน้าที่นั้น อันเป็นกฎหมายอีกมาตราหนึ่งที่ยืนยันให้เห็นว่าศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินและเมื่อพิจารณาคำฟ้องของผู้ฟ้องคดี เห็นได้ว่า การที่ผู้ฟ้องคดีมีคำขอท้ายคำฟ้องให้ศาลพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองดำเนินการออกโฉนดให้แก่ผู้ฟ้องคดีและให้เพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงที่ออกทับที่ดินของผู้ฟ้องคดีนั้น เท่ากับว่า ผู้ฟ้องคดีประสงค์ให้ศาลมีคำพิพากษาแสดงความเป็นอยู่ของสิทธิที่ผู้ฟ้องคดีมีอยู่เหนือที่ดินพิพาท ซึ่งตามกรณีพิพาทในคดีนี้ศาลปกครองมีอำนาจออกคำสั่งตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้ตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๑) (๓) และ (๔) และวรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมายหรือดำเนินกิจการทางปกครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และศาลปกครองมีอำนาจออกคำบังคับตามคำขอของผู้ฟ้องคดีตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๑) (๓) และ (๔) และวรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดอุบลราชธานีพิจารณาแล้วเห็นว่า เหตุแห่งการฟ้องคดีสืบเนื่องมาจากการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) เลขที่ อบ ๔๕๙๙ ลงวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๐ ทับที่ดินของผู้ฟ้องคดีที่ครอบครองต่อเนื่องมาจากบิดาและมารดา ทำให้ผู้ฟ้องคดีไม่อาจออกเอกสารสิทธิในที่ดินได้ อันเป็นกรณีโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ทั้งความมุ่งหมายของผู้ฟ้องคดีที่ฟ้องคดีต่อศาล ก็เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองและคุ้มครองสิทธิในที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดินของผู้ฟ้องคดี การที่ศาลจะมีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองดำเนินการออกโฉนดที่ดินให้ผู้ฟ้องคดี รวมทั้งให้เพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) เลขที่ อบ ๔๕๙๙ ในส่วนที่ออกทับที่ดินของผู้ฟ้องคดีได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีตามที่กล่าวอ้างหรือไม่เป็นสำคัญแล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไปได้ คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้แม้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ก็ตาม แต่ตามคำฟ้องคดีนี้ผู้ฟ้องคดีอ้างว่า บิดามารดาของผู้ฟ้องคดีซื้อที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ์จากผู้มีชื่อ และแจ้งการครอบครองตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.๑) ลงวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๔๙๘ เนื้อที่ ๓๖ ตารางวา หลังจากบิดามารดาของผู้ฟ้องคดีถึงแก่กรรม ผู้ฟ้องคดียื่นขอออกโฉนดที่ดินตามหลักฐาน ส.ค. ๑ ดังกล่าว แต่ได้รับแจ้งจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ว่า ผู้ฟ้องคดีนำรังวัดทับที่ดินตามหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) เลขที่ อบ ๔๕๙๙ เต็มทั้งแปลง ไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ออกโฉนดที่ดินได้ และมีคำสั่งยกเลิกคำขอออกโฉนดที่ดิน ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ไม่เห็นด้วยกับคำอุทธรณ์ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีความเห็นยืนตามความเห็นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองดำเนินการออกโฉนดที่ดินตามคำขอให้ผู้ฟ้องคดี และให้เพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เลขที่ อบ ๔๕๙๙ ในส่วนที่ออกทับที่ดินของผู้ฟ้องคดี ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง ให้การว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีคำสั่งยกเลิกคำขอออกโฉนดที่ดินของผู้ฟ้องคดีเนื่องจากเห็นว่าผู้ฟ้องคดีนำรังวัดออกโฉนดที่ดินทับที่ดินตามหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เลขที่ อบ ๔๕๙๙ เต็มทั้งแปลง หนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงดังกล่าวออกตามคำขอของอำเภอเมืองอุบลราชธานีซึ่งแจ้งขอรังวัดแปลงที่สาธารณประโยชน์ “ริมแม่น้ำมูล” ผู้ฟ้องคดีเคยคัดค้านอ้างว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง แต่ไม่ได้คัดค้านภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด การออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงจึงออกโดยชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง ดังนั้น การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทดังกล่าวนั้น ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีสิทธิครอบครองหรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นสำคัญ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนางสาวจารุวรรณ ทวีสิทธิ์ ผู้ฟ้องคดี เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดอุบลราชธานี ที่ ๑ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) สบโชค สุขารมณ์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายสบโชค สุขารมณ์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท ศิลปชัย สรภักดี (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ศิลปชัย สรภักดี) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ