คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 237/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ในวันเกิดเหตุ ป. นำใบมอบอำนาจของ อ. มาแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่าโฉนดที่ดินของ อ. หายไป โดยมีจ่าสิบตำรวจ ส. เป็นผู้ลงบันทึกประจำวันไว้และต่อมาจำเลยได้ร่วมกับ ร. ไปยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานที่ดินขอให้ออกโฉนดที่ดินของ อ. ฉบับใหม่ โดยแสดงหลักฐานหนังสือที่ อ. มอบอำนาจให้ ร. มาขอออกโฉนดที่ดินใหม่ และสำเนารายงานประจำวันที่ ป. ไปแจ้งความว่าโฉนดที่ดินของ อ. สูญหาย โดยจำเลยให้ถ้อยคำแก่เจ้าพนักงานที่ดินรับรองว่า อ. มอบอำนาจให้ ป. ไปแจ้งความโฉนดที่ดินของ อ. สูญหายนั้นเป็นความจริง แม้ข้อความที่ ป. นำไปแจ้งความนั้นเป็นเท็จ แต่ในวันที่ ป. ไปแจ้งความจำเลยมิได้ไปกับ ป. ด้วย และโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดมาแสดงให้เห็นว่าจำเลยได้ร่วมกับ ป. ในการไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนพยานหลักฐานโจทก์จึงไม่น้ำหนักเพียงพอให้รับฟังได้ว่าจำเลยได้ร่วมกับ ป. แจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อพนักงานสอบสวน และแจ้งให้จดข้อความอันเป็นเท็จลงในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีอันเป็นเอกสารราชการซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐาน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกร่วมกันกระทำผิดโดยจำเลยมอบหนังสือมอบอำนาจของนายอำนวยให้นายประทวนไปแจ้งต่อร้อยตำรวจเอกบุญเกิดเรเฮือง เจ้าพนักงานผู้กระทำตามหน้าที่ให้จดข้อความอันเป็นเท็จลงในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีอันเป็นเอกสารราชการ ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐานหรือใช้เป็นหลักฐานในการออกโฉนดที่ดินฉบับใหม่ว่า ได้รับมอบอำนาจจากนายอำนวยให้แจ้งความแทนเรื่องทำโฉนดที่ดินสูญหายไป ซึ่งเป็นความเท็จความจริงนายอำนวยได้นำโฉนดที่ดินดังกล่าวไปจดทะเบียนจำนองไว้แก่นางสาววันเพ็ญ ทิพย์ศิริโอภาส และนางสาววันเพ็ญได้รักษาโฉนดที่ดินไว้ทั้งนี้โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่นางสาววันเพ็ญ ร้อยตำรวจเอกบุญเกิดและผู้อื่นหรือประชาชนขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 90,137, 267

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 267 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามมาตรา 267 ซึ่งเป็นบทหนักที่สุด จำคุก 4 เดือน

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามคำแก้ฎีกาของจำเลยเป็นอันดับแรกว่า ฎีกาของโจทก์มิได้กล่าวโต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 วรรคสอง, 195 ประกอบด้วยมาตรา 225 จริงหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยกับพวกร่วมกันแจ้งความเท็จต่อร้อยตำรวจเอกบุญเกิด เรเฮือง เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่ให้จดข้อความอันเป็นเท็จลงในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีอันเป็นเอกสารราชการ ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐานว่าได้รับมอบอำนาจจากนายอำนวยให้แจ้งความแทนเรื่องทำโฉนดที่ดินหาย ซึ่งเป็นความเท็จ ความจริงโฉนดที่ดินดังกล่าวอยู่ที่นางสาววันเพ็ญ ทิพย์ศิริโอภาส ผู้ซึ่งนายอำนวยนำที่ดินไปจำนองไว้ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่นางสาววันเพ็ญ ร้อยตำรวจเอกบุญเกิดและผู้อื่นหรือประชาชน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 90, 137, 267 ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยได้แจ้งความเท็จต่อนายสงวน มูลพันธ์ เจ้าพนักงานที่ดินให้จดข้อความอันเป็นเท็จว่าโฉนดที่ดินของนายอำนวยสูญหายเพื่อขอออกใบแทนโฉนดที่ดินซึ่งนายสงวนก็ได้จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐานเพื่อประกอบการขอออกใบแทนโฉนดที่ดิน น่าจะเกิดความเสียหายแก่นางสาววันเพ็ญ การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 267 และลงโทษจำเลยตามมาตรา 267 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก 4 ปี เห็นได้ชัดเจนว่าศาลชั้นต้นนำข้อเท็จจริงซึ่งโจทก์มิได้กล่าวในฟ้องและไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษมาลงโทษจำเลย จึงไม่ถูกต้อง จำเลยอุทธรณ์ว่าคำพิพากษาของศาลชั้นต้นไม่ชอบ และจำเลยมิได้กระทำความผิดตามฟ้อง เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นว่าคำพิพากษาของศาลชั้นต้นผิดพลาด ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 ศาลอุทธรณ์ก็ต้องแก้ไข และพิพากษาความผิดของจำเลยให้ตรงกับข้อเท็จจริง ตามที่โจทก์บรรยายไว้ในคำฟ้อง การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ไปโดยมิได้พิจารณาว่าพยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมาเพียงพอให้รับฟังลงโทษจำเลยตามฟ้องได้หรือไม่ หรือย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ดังนั้น การที่โจทก์ฎีกาว่าพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาเพียงพอรับฟังลงโทษจำเลยตามฟ้องได้ จึงถือว่าเป็นการโต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์แล้ว ศาลฎีกาสมควรพิพากษาความผิดของจำเลยตามข้อเท็จจริงที่โจทก์บรรยายมาในคำฟ้องและฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่

ปัญหาว่าจำเลยกระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่นั้น โจทก์มีร้อยตำรวจเอกบุญเกิด เรเฮือง ผู้เสียหายมาเบิกความว่าในวันเกิดเหตุขณะที่พยานเข้าเวรเป็นพนักงานสอบสวนมีนายประทวนนำใบมอบอำนาจของนายอำนวยมาแจ้งความว่านายประทวนได้รับมอบอำนาจจากนายอำนวยมาแจ้งความว่าโฉนดที่ดินเลขที่ 11198 ตำบลทุ่งมหาเมฆ (สาธร) อำเภอยานนาวา กรุงเทพมหานคร ของนายอำนวยหายไปพยานจึงมอบหมายให้จ่าสิบตำรวจสุเทพ บุญเจริญ เป็นผู้ลงบันทึกประจำวันไว้ โดยมีจ่าสิบตำรวจสุเทพมาเบิกความสนับสนุน ซึ่งพยานโจทก์ทั้งสองปากดังกล่าวเบิกความยืนยันว่าจำเลยมิได้ไปกับนายประทวน และจ่าสิบตำรวจสุเทพได้ยืนยันว่าในหนังสือมอบอำนาจที่นายประทวนนำไปแจ้งความนั้น ไม่มีชื่อของจำเลยปรากฏอยู่ด้วย แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าข้อความที่นำไปแจ้งนั้นเป็นความเท็จเมื่อโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดมาแสดงให้เห็นว่า จำเลยได้ร่วมกับนายประทวนในการไปแจ้งความต่อร้อยตำรวจเอกบุญเกิดพนักงานสอบสวน แม้โจทก์จะนำสืบได้ว่าต่อมาจำเลยได้ร่วมกับนางปราณี คชสุนทร ไปยื่นคำร้องต่อนายสงวน มูลพันธ์เจ้าหน้าที่ที่ดิน กรมที่ดิน ขอให้ออกโฉนดที่ดินของนายอำนวยฉบับใหม่ โดยได้แสดงหลักฐานหนังสือมอบอำนาจที่นายอำนวยมอบอำนาจให้นางปราณีมาขอออกโฉนดที่ดินใหม่ และสำเนารายงานประจำวันที่นายประทวนไปแจ้งความไว้ว่าโฉนดที่ดินของนายอำนวยสูญหายและจำเลยได้ให้ถ้อยคำไว้แก่เจ้าพนักงานที่ดินรับรองว่าตามที่นายอำนวยมอบอำนาจให้นายประทวนไปแจ้งความว่าโฉนดที่ดินของนายอำนวยสูญหายนั้น เป็นความจริงก็ตาม พยานหลักฐานโจทก์ก็ยังไม่เพียงพอให้มีน้ำหนักรับฟังได้ว่าจำเลยได้ร่วมกับนายประทวนไปแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อร้อยตำรวจเอกบุญเกิดพนักงานสอบสวนและแจ้งให้ร้อยตำรวจเอกบุญเกิดจดข้อความอันเป็นเท็จลงในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีอันเป็นเอกสารราชการ ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐานอันเป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share