แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 เป็นหัวหน้าแผนกวิชาทันตกรรมประดิษฐ์ มีหน้าที่บังคับบัญชากิจการทั้งหลายในแผนกและปฏิบัติตามข้อตกลงของคณะกรรมการประจำคณะและข้อบังคับต่าง ๆ เพื่อให้การสอนและหลักสูตรการสอนดำเนินไปโดยเรียบร้อยตามพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย พ.ศ.2486 มาตรา 24, 25, 26 ซึ่งแก้ไขโดย (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2497 มาตรา 14, 15 เช่นนี้ การที่จำเลยที่ 1 ออกคำสั่งตั้งโจทก์เป็นผู้ช่วยหน่วยวิชาพาเชี่ยลเด็นเจอร์และให้โจทก์รายงานการสอนนักศึกษาปีที่ 2 ในวิชานี้เป็นรายละเอียดและจำนวนชั่วโมง ทั้งการบรรยายและปฏิบัติการพร้อมกับผลของการปฏิบัติงานทางด้านคลีดนิคของนิสิตปีที่ 4 มายังจำเลยที่ 1 ภายในวันที่กำหนด จึงเป็นการสั่งเกี่ยวกับกาารบังคับบัญชากิจการทั้งหลายในแผนกของจำเลยที่ 1 มิใช่เป็นการวางระเบียบการภายในแผนกวิชาหรือการอื่นอันเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการประจำคณะที่จะต้องเสนอต่อสภามหาวิทยาลัยตามพระราบัญญัติจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย พ.ศ.2486 มาตรา 22 ซึ่งแก้ไขโดย (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2497 มาตรา 14 การที่โจทก์บันทึกโต้แย้งว่าไม่ยอมรับทราบคำสั่ง ไม่มีอะไรให้อีกแล้วและไม่มีผลใด ๆ ทั้งสิ้น แสดงว่าโจทก์จงใจไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 อันเป็นการกระทำผิดวินัยตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2497 มาตรา 71 วรรคสอง การที่จำเลยที่ 1 รายงานต่อคณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของโจทก์เหนือจำเลยที่ 1 ขึ้นไปเพื่อให้ลงโทษโจทก์ จึงเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนฯ มาตรา 93 ทั้งพยานหลักฐานของโจทก์ก็ฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ออกคำสั่ง (ดังกล่าวตอนต้น) เพื่อแกล้งโจทก์ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์
บ.รัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัยของรัฐมีคำสั่งแต่งตั้งจำเลยที่ 3, ที่ 4 และที่ 5 เป็นกรรมการสอบสวนโจทก์ทางวินัย จำเลยที่ 3, ที่ 4, ที่ 5 สอบสวนแล้วเสนอความเห็นว่าโจทก์ขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชาสมควรลงโทษตัดเงินเดือน บ. เห็นชอบตามข้อเสนอของปลัดทบวงที่ให้ลงโทษโจทก์ตามที่คณะกรรมการสอบสวนพิจารณาแล้ว แต่ บ. พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีเสียก่อน จำเลยที่ 2 ซึ่งรัฐมนตรีต่อจาก บ.จึงออกคำสั่งลงโทษโจทก์ตามความเห็นของคณะกรรมการ การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยชอบด้วยกฎหมาย ส่วนการกระทำของจำเลยที่ 3, ที่ 4 และ ที่ 5 ก็เป็นการเสนอความเห็นจากพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนการสอบสวนเมื่อฟังไม่ได้ว่าเสนอความเห็นเพื่อเจตนาแกล้งโจทก์ การกระทำของจำเลยที่ 2 ที่ 3, ที่ 4 และที่ 5 จึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 2 ออกคำสั่งให้ตัดเงินเดือนโจทก์ทั้ง ๆ ที่ทราบแล้วว่าโจทก์มิได้กระทำผิดดังที่จำเลยที่ 1 ร้องเรียน เช่นนี้จะมาอุทธรณ์ฎีกาว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะไม่ได้รับความเห็นชอบจากสภามหาวิทยาลัยหาได้ไม่ เพราะไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จำเลยเป็นข้าราชการพลเรือน สังกัดทบวงมหาวิทยาลัยของรัฐ โดยโจทก์เป็นอาจารย์ในแผนกทันตกรรมประดิษฐ์ คณะทันตแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำเลยที่ ๑ เป็นหัวหน้าแผนกทันตกรรมประดิษฐ์และเป็นผู้บังคับบัญชาโจทก์ จำเลยที่ ๒ เป็นอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัยของรัฐ จำเลยที่ ๓, ที่ ๔, ที่ ๕ เป็นคณบดีคณะรัฐศาสตร์หัวหน้าแผนกเภสัชเวช คณะเภสัชกรรมศาสตร์ และคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตามลำดับ เมื่อระหว่าง พ.ศ.๒๕๑๕ ถึง พ.ศ.๒๕๑๖ จำเลยที่ ๑ โดยเจตนาจะกลั่นแกล้งโจทก์นำความเท็จข้อร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชากล่าวหาว่าโจทก์ขัดขืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาซึ่งสั่งในหน้าที่ราชการโดยชอบด้วยกฎหมาย จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง เป็นเหตุให้นายบุญรอด บัณฑสันต์ ซึ่งขณะนั้นเป็นรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัยของรัฐมีคำสั่งแต่งตั้งให้จำเลยที่ ๓, ที่ ๔ และที่ ๕ เป็นคณะกรรมการทำการสอบสวนโจทก์ ความจริงโจทก์ไม่เคยกระทำความผิดดังจำเลยที่ ๑ ร้องเรียน จำเลยที่ ๓, ที่ ๔ และที่ ๕ กลั่นแกล้งโจทก์โดยสอบสวนอย่างไม่เป็นธรรมและรายงานข้อเท็จจริงอันเป็นความเท็จต่อจำเลยที่ ๒ ๆ ใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบออกคำสั่งที่ ๗๗/๒๕๑๖ ลงโทษโจทก์ฐานคำสั่งผู้บังคับบัญชาให้ตัดเงินเดือนโจทก์ร้อยละ ๑๐ ปีกำหนด ๖ เดือน การกระทำของจำเลยทั้งห้าทำให้โจทก์เสียหายถูกตัดเงินเดือนเป็นเงิน ๓,๑๔๔ บาท ไม่ได้รับบำเหน็จประจำปีอย่างน้อย ๑ ชั้นตลอดไปจนครบเกษียณอายุเป็นเงิน ๒๓,๗๖๐ บาท และต้องเสียชื่อเสียงและประวัติในการปฏิบัติราชการคิดเป็นเงิน ๓๐,๐๐๐ บาท ขอให้ศาลพิพากษาว่าคำสั่งที่ ๗๗/๒๕๑๖ เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้จำเลยที่ ๒ เพิกถอนคำสั่งเสีย ให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันประกาศคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์รายวัน ๒ ฉบับติดต่อกันไม่น้อยกว่า ๓ วัน โดยให้จำเลยทั้งห้าออกค่าใช้จ่าย ให้จำเลยทั้งห้าใช้ค่าเสียหาย ๕๖,๘๐๔ บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗ ครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินเสร็จให้โจทก์
จำเลยทั้งห้าให้การว่า จำเลยที่ ๑ มิได้นำความเท็จไปแกล้งกล่าวหาโจทก์ ความจริงโจทก์กระทำการขัดคำสั่งและขัดขวางการปฏิบัติงานของจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชา จำเลยที่ ๑ ต้องรายงานผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นเพื่อให้พิจารณาลงโทษทาง วินัย จำเลยที่ ๒ จึงแต่งตั้งให้จำเลยที่ ๓, ที่ ๔ และที่ ๕ เป็นคณะกรรมการสอบสวนโจทก์ทางวินัย จำเลยที่ ๓, ที่ ๔ และที่ ๕ สอบสวนพยานหลักฐานแล้วเห็นว่าโจทก์ขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชาที่สั่งในหน้าที่ราชการโดยชอบด้วยกฎหมาย ควรลงโทษตัดเงินเดือนร้อยละ ๑๐ มีกำหนด ๖ เดือน นายบุญรอด บิณฑสันต์ รัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัยของรัฐในขณะนั้นเห็นชอบด้วย แต่ต่อมานายบุญรอดพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัยของรัฐ จำเลยที่ ๒ ได้รับตำแหน่งแทนจึงลงนามในคำสั่งตัดเงินเดือนให้โจทก์ ความเสียหายของโจทก์เกิดจากการที่โจทก์ทำผิดวินัย จำเลยไม่ต้องรับผิดชอบ คำสั่งที่ ๗๗/๒๕๑๖ ที่สั่งตัดเงินเดือนโจทก์เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าจำเลยที่ ๑ เป็นหัวหน้าแผนกวิชาทันตกรรมประดิษฐ์กิจการในแผนกจึงอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของจำเลยที่ ๑ ตามพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ.๒๔๘๖ มาตรา ๒๔ ซึ่งแก้ไขโดยพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๔๙๗ มาตรา ๑๕ จำเลยที่ ๑ มีหน้าที่บังคับบัญชากิจการทั้งหลายของแผนกและปฏิบัติการตามข้อตกลงของคณะกรรมการประจำคณะและข้อบังคับต่าง ๆ เพื่อให้การสอบสวนและหลักสูตรการสอนดำเนินไปโดยเรียบร้อยตามพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาตรา ๒๕ ประกอบด้วยมาตรา ๒๖ ดังนั้น การที่จำเลยที่ ๑ ออกคำสั่งที่ ๑/๒๕๑๕ ตั้งโจทก์เป็นผู้ช่วยหน่วยวิชาพาเชี่ยลเด็นเจอร์และออกคำสั่งที่ ๒/๒๕๑๖ ให้โจทก์รายงานการสอนนักศึกษาปีที่ ๒ วิชาพาเชี่ยลเดนเจอร์ปี พ.ศ.๒๕๑๕-๒๕๑๖ พร้อมกับผลของการปฏิบัติงานด้านคลีนิคของนิสิตปีที่ ๔ มายังจำเลยที่ ๑ ภายในวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๑๖ จึงเป็นการสั่งเกี่ยวกับการบังคับบัญชากิจการทั้งหลายของแผนกวิชาทันตกรรมประดิษฐ์ อันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ มิ่เป็นการวางระเบียบการภายในแผนกวิชาหรือการอื่นอันเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการประจำคณะที่จะต้องเสนอต่อสภามหาวิทยาลัยตามพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ.๒๔๘๖ มาตรา ๒๒ ซึ่งแก้ไขโดยพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๔๙๗ มาตรา ๑๔ การที่โจทก์บังทึกโต้แย้งว่าโจทก์ไม่ยอมรับทราบคำสั่งของจำเลยที่ ๑ และบันทึกโต้แย้งในเอกสารหมาย ล.๑๒ ว่าโจทก์ไม่มีอะไรให้อีกแล้วและไม่มีผลใด ๆ ทั้งสิ้นแสดงว่าโจทก์จงใจไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยที่ ๑ ซึ่งสั่งในหน้าที่ราชการโดยชอบด้วยกฎหมาย และระเบียบแบบแผนของทางราชการอันเป็นการกระทำผิดวินัยตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.๒๔๙๗ มาตรา ๗๑ วรรคสอง การที่จำเลยที่ ๑ รายงานต่อคณบดีคณะทันตแพทย์เพื่อให้ลงโทษโจทก์จึงเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย ทั้งจากพยานหลักฐานของโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ ๑ ออกคำสั่งเพื่อแกล้งโจทก์ การกระทำของจำเลยที่ ๑ จึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์
ที่จำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัยของรัฐสืบต่อจากนายบุญรอด บิณฑสันต์ ออกคำสั่งที่ ๗๗/๒๕๑๖ ลงโทษโจทก์โดยให้ตัดเงินเดือนร้อยละ ๑๐ มีกำหนด ๖ เดือน ก็ปรากฏว่าหลังจากที่จำเลยที่ ๑ รายงานให้คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ลงโทษโจทก์แล้ว นายบุญรอดมีคำสั่งแต่งตั้งจำเลยที่ ๓, ที่ ๔ และที่ ๕ เป็นคณะกรรมการเพื่อทำการสอบสวนทางวินัยแก่โจทก์ จำเลยที่ ๓, ที่ ๔ และที่ ๕ สอบสวนแล้วเสนอความเห็นว่าโจทก์ขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชา สมควร ลงโทษตัดเงินเดือนร้อยละ ๑๐ มีกำหนด ๖ เดือน นายบุญรอดเห็นชอบตามข้อเสนอของปลัดทบวงมหาวิทยาลัยของรัฐ ซึ่งเห็นควรให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการสอบสวนพิจารณา แต่นายบุญรอดพ้นจากตำแหน่งเสียก่อน การที่จำเลยที่ ๒ ออกคำสั่งลงโทษโจทก์ตามที่รัฐมนตรีคนก่อนสั่งไว้จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยชอบด้วยกฎหมายมิใช่เป็นการละเมิดต่อโจทก์
สำหรับจำเลยที่ ๓, ที่ ๔ และที่ ๕ สอบสวนโจทก์ตามคำสั่งของรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัยของรัฐอันเป็นคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมาย และเสนอความเห็นจากพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนว่าโจทก์ขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชา ควรลงโทษโจทก์ พยานหลักฐานของโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ ๓, ที่ ๔ และที่ ๕ เสนอความเห็นเช่นนั้นเพื่อเจตนาแกล้งโจทก์ การกระทำของจำเลยดังกล่าวจึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์
โจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่าจำเลยที่ ๒ ออกคำสั่งที่ ๗๗/๒๕๑๖ ให้ตัดเงินเดือนโจทก์ทั้ง ๆ ที่จำเลยที่ ๒ ทราบแล้วว่าโจทก์มิได้กระทำผิดดังที่จำเลยที่ ๑ ร้องเรียน จำเลยให้การว่าจำเลยตั้งกรรมการสอบสวนโจทก์ตามกฎหมายแล้วปรากฏว่าโจทก์ทำผิดวินัยจริง จึงมีคำสั่งที่ ๗๗/๒๕๑๖ ลงโทษโจทก์ และศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า คำสั่งที่ ๗๗/๒๕๑๖ ของจำเลยที่ ๒ ชอบด้วยกฎหมายและระเบียบแบบแผนของทางราชการโดยมิได้กล่าวอ้างถึงการรับความเห็นชอบของสภามหาวิทยาลัยแต่อย่างใด ปัญหาข้อที่ว่าคำสั่งของจำเลยที่ ๒ ที่ให้ตัดเงินเดือนโจทก์ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๕ ที่ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่าคำสั่งที่ให้ตัดเงินเดือนโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะไม่ได้รับความเห็นชอบจากสภามหาวิทยาลัยนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน