คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4909/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามสัญญาค้ำประกันข้อ 2 ที่ว่า ผู้ค้ำประกันตกลงยอมรับผิดร่วมกับลูกจ้างเพื่อชดใช้ให้แก่บริษัท ในการที่บริษัทจะได้รับความเสียหายอย่างหนึ่งอย่างใด อันอาจเกิดขึ้นจากการกระทำของลูกจ้างในการปฏิบัติตามหน้าที่การงานทั้งปวงนั้น เห็นได้ชัดว่าความเสียหายที่จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันดังกล่าวเป็นความเสียหายที่จะพึงเกิดขึ้นในอนาคต หาใช่ความเสียหายที่ได้เกิดขึ้นมาก่อนแล้วไม่
ส่วนสัญญาค้ำประกัน ข้อ 3 ที่ว่า การที่บริษัทยังคงให้ลูกจ้างทำงานต่อไป แม้เมื่อลูกจ้างได้ทำผิดหน้าที่และเกิดความรับผิดขึ้นแล้วก็ดีหาทำให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันไม่นั้นหมายความว่า ถ้าจำเลยที่ 1 ลูกจ้างทำความเสียหายในระหว่างที่จำเลยที่ 2 ค้ำประกันอยู่ แต่โจทก์ยังคงให้จำเลยที่ 1 ทำงานต่อไปหรือไม่ได้บังคับเอาค่าเสียหาย จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันก็ยังคงต้องรับผิดต่อโจทก์อยู่ ยังไม่พ้นจากความรับผิด หาได้มีความหมายว่า จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายย้อนหลังไปถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นก่อนวันทำสัญญาค้ำประกันไม่
จำเลยที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 ในวันที่ 9 พฤศจิกายน2535 เพื่อให้จำเลยที่ 1 เข้าทำงานกับโจทก์ และต่อมาโจทก์ก็ได้ตกลงจ้างจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2535 ถือได้ว่าเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 3 ประกันหนี้ในอนาคต ตาม ป.พ.พ.มาตรา 681 วรรคสอง สัญญาค้ำประกันจึงผูกพันจำเลยที่ 3เมื่อจำเลยที่ 1 ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ในระหว่างที่ปฏิบัติหน้าที่เป็นลูกจ้างโจทก์นับแต่เดือนพฤศจิกายน 2536 ถึงเดือนกันยายน 2537 จำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดในค่าเสียหายดังกล่าวให้แก่โจทก์ตามสัญญาค้ำประกัน

Share