คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 798/2497

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีที่โจทก์ฟ้องฐานละเมิดว่าจำเลย ที่ 2 เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 ขับรถโดยประมาททำให้โจทก์เสียหาย จำเลยที่1 ต่อสู้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้เช่ารถของจำเลยที่ 1 ไม่ใช่ลูกจ้าง เมื่อโจทก์สืบพยานว่า จำเลย ที่ 2 เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 เป็น หน้าที่จำเลยที่ 1 ผู้จ้างจะต้องนำสืบให้ชัดเจนว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้เช่า

ย่อยาว

คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยฐานละเมิด กล่าวว่าจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของรถยนต์รับบรรทุกคนและสิ่งของ จำเลยที่ 2เป็นคนขับและเป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ได้ขับรถชนภริยาโจทก์ตายด้วยความประมาท ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกคดีถึงที่สุดไปแล้วจึงขอให้จำเลยทั้ง 2 ใช้ค่าเสียหาย จำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้ว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นลูกจ้างหากจำเลยที่ 2 ทำสัญญาเช่ารถของจำเลยที่ 1 ไปทำการรับจ้างเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2494 ขอให้ยกฟ้อง จำเลยที่ 2 ก็ให้การว่าได้ทำสัญญาเช่ารถจากจำเลยที่ 1 ดังข้อต่อสู้จำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 2 ขับรถชนภริยาโจทก์ตายด้วยความประมาท แล้ววินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1เป็นนายจ้าง จำเลยที่ 2 ส่วนสัญญาเช่าอาจทำขึ้นภายหลัง พิพากษาให้จำเลยทั้ง 2 ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 4,549 บาท กับค่าธรรมเนียมค่าทนาย จำเลยที่ 1 ผู้เดียวอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยเชื่อว่า จำเลยที่ 2 ได้เช่ารถยนต์ไปจากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิด พิพากษาให้ยกฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 1 โจทก์จึงได้ฎีกาอนาถาขึ้นมา ศาลฎีกาปรึกษาเห็นว่า คดีมีประเด็นในชั้นนี้เพียงว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้เช่ารถจำเลยที่ 1 หรือเป็นลูกจ้าง คดีได้ความว่าจำเลยที่ 2 ขับรถของจำเลยที่ 1 ซึ่งฝ่ายโจทก์สืบพยานว่าจำเลยที่ 2เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 ข้อที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้เช่านั้นเป็นหน้าที่จำเลยผู้อ้างจะต้องสืบแสดงให้ชัดเจนว่าได้มีการเช่ากันจริง ตามทางพิจารณาคงได้ความว่า จำเลยที่ 1มีอาชีพทางรับจ้างบรรทุกคนและสิ่งของโดยรถยนต์ของจำเลย จำเลยขับเองบ้าง จ้างคนขับบ้าง จำเลยที่ 1 แสดงเอกสารว่าได้ให้จำเลยที่ 2 เช่ารถของจำเลยไปแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2494 โดยมีนายอาภรณ์ทนายความเป็นพยานประกอบว่าเป็นผู้ทำสัญญาฉบับนี้ให้จำเลยทั้ง 2 แต่ตามคำพยานมีแตกกันในข้อที่ว่าสัญญานั้นพิมพ์ที่ไหน คือนายสักจำเลยที่ 1 เบิกความว่า สัญญาเช่าพิมพ์ที่ร้านจำเลย แต่นายอาภรณ์ว่าพยานเป็นผู้พิมพ์ที่ร้านพยานแล้วนำไปให้คู่สัญญาที่ร้านจำเลย และฝ่ายโจทก์มีพยานเจ้าพนักงานผู้สอบสวนเรื่องรถชนภริยาโจทก์มาสืบว่า จำเลยที่ 2 ได้ให้ถ้อยคำว่าเป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 2 ให้การว่ามิได้ให้การเช่นนั้น พิจารณาคำปฏิเสธจำเลยที่ 2 กับคำให้การนายวสันต์พนักงานผู้สอบสวนแล้ว เห็นว่าคดีไม่มีเหตุที่จะให้เห็นว่า นายวสันต์จะให้การปรักปรำจำเลยเพื่อช่วยเหลือโจทก์ ฉะนั้น ข้ออ้างจำเลยที่ว่าได้มีสัญญาเช่ารถกันจึงไม่น่ารับฟัง เพราะเป็นเรื่องที่อาจทำขึ้นเมื่อไรก็ได้ เหตุนี้จึงพิพากษาแก้ให้จำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2ตลอดทั้งค่าธรรมเนียมและค่าทนายตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และให้จำเลยที่ 1 เสียค่าธรรมเนียมค่าทนาย 150 บาท แก่โจทก์ด้วย

Share