คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1235/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นเจ้าของผู้ครอบครองที่ดินซึ่งมีเขตติดต่อกับที่ดินของมารดาโจทก์ โดยจำเลยซื้อมาจากผู้อื่น ผู้ขายได้ชี้แนวเขตที่ดินตามแนวเขตเช่นเดียวกับที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน จำเลยครอบครองที่ดินตลอดมา ตามคำให้การดังกล่าวเป็นการแสดงให้เห็นโดยชัดแจ้งว่าจำเลยเป็นเจ้าของผู้ครอบครองที่พิพาทมาแต่ต้น มิได้แย่งการครอบครองไปจากโจทก์ เพราะการแย่งการครอบครองจะมีขึ้นได้แต่เฉพาะในที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น เมื่อคดีไม่มีประเด็นเรื่องแย่งการครอบครอง ศาลจึงจะยกปัญหาในข้อที่ว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1375 วรรคสอง โดยอ้างว่าเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนขึ้นวินิจฉัยเองตามที่จำเลยฎีกาหาได้ไม่ เพราะจะเป็นการวินิจฉัยขัดแย้งกับข้อที่จำเลยต่อสู้ในคำให้การ
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยทั้งหมดก็ชอบที่จะพิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยและคืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ให้จำเลย แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนและไม่คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ให้จำเลยจึงไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไข

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งหกเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกและเป็นผู้จัดการมรดกของนางนิติการณ์ประสม (จวง ชัยเฉนียนหรือนิติการณ์ประสม)นางนิติการณ์ประสมเป็นเจ้าของผู้ครอบครองที่ดินตาม น.ส. 3 เลขที่ 354เนื้อที่ 65 ไร่ 2 งาน 66 ตารางวา ปี 2536 นางนิติการณ์ประสมถึงแก่ความตายโจทก์ทั้งหกเป็นผู้รับมรดกร่วมกัน และมีอำนาจจัดการทรัพย์มรดกร่วมกันในฐานะผู้จัดการมรดก จำเลยเป็นผู้ครอบครองที่ดินตาม น.ส.3 เลขที่ 291 ซึ่งปัจจุบันเป็นน.ส.3 ก. เลขที่ 1261 และ 1265 ที่ดินของจำเลยดังกล่าวมีอาณาเขตติดต่อกับที่ดินของโจทก์ทางด้านทิศเหนือ ปี 2532 นางนิติการณ์ประสมขอรังวัดที่ดินของตนแต่จำเลยคัดค้านการรังวัดและโต้แย้งสิทธิกันจนกระทั่งนางนิติการณ์ประสมถึงแก่ความตาย ต่อมาวันที่ 20 ธันวาคม 2536 โจทก์ที่ 4 ในฐานะผู้จัดการมรดกและฐานะส่วนตัวมอบอำนาจให้นายไพฑูรย์นำรังวัดที่ดินของนางนิติการณ์ประสมที่เคยครอบครองได้เนื้อที่ 63 ไร่ 11 ตารางวา จำเลยก็นำรังวัดที่ดินของจำเลยเช่นกัน และชี้แนวเขตล้ำที่ดินโจทก์ด้านทิศเหนือ 1 งาน 34 ตารางวาเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรีจึงได้นัดหมายโจทก์และจำเลยไปพบเพื่อไกล่เกลี่ยแต่ไม่สามารถตกลงกันได้ จึงเกิดเป็นข้อโต้แย้งสิทธิขึ้นมา และจำเลยได้สร้างรั้วล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์ด้วย โจทก์ทั้งหกเคยบอกกล่าวให้จำเลยรื้อถอนรั้วออกไปแต่จำเลยเพิกเฉยทำให้โจทก์ทั้งหกได้รับความเสียหาย จึงขอคิดค่าเสียหาย 50,000บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งหก กับให้จำเลยรื้อถอนรั้วที่สร้างล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์ทั้งหกให้อยู่ในสภาพเดิมและห้ามจำเลยยุ่งเกี่ยวกับที่ดินพิพาท

จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นผู้ครอบครองที่ดินตาม น.ส.3 ก. เลขที่ 1261และ 1265 มีอาณาเขตติดต่อกับที่ดินของนางจวง นิติการณ์ประสม จำเลยซื้อที่ดินมาจากบริษัทลัคกี้ แอล ที กรุ๊ป จำกัด เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2532 ผู้ขายได้ชี้แนวเขตที่ดินและส่งมอบการครอบครองให้แก่จำเลยตามสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ในปีที่จำเลยซื้อที่ดินนั้น นางจวงได้นำเจ้าพนักงานที่ดินรังวัดรุกล้ำที่ดินของจำเลย ผู้แทนของจำเลยไปคัดค้าน ปี 2534 จำเลยรังวัดตรวจสอบแนวเขตและทำรั้วรอบแนวเขตที่ดินทุกด้าน โดยปักเสาคอนกรีตขึงลวดหนามเป็นการถาวรเจ้าของที่ดินข้างเคียงรวมทั้งนางจวงก็ทราบและไม่ได้คัดค้าน จำเลยจึงครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวตลอดมา เมื่อปลายปี 2536 นางจวงได้นำเจ้าพนักงานที่ดินไปรังวัดที่ดินอีก จำเลยก็ยังยืนยันว่าแนวเขตที่ดินของจำเลยด้านที่ติดต่อกับของนางจวงมีแนวเขตตามรั้วที่จำเลยทำขึ้น จำเลยได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งหกเรื่องแนวเขตที่ดินตั้งแต่ปี 2532 และเมื่อจำเลยทำรั้วตามแนวเขตที่ดิน นางจวงก็ไม่ได้โต้แย้งคัดค้าน โจทก์ทั้งหกเพิ่งมาอ้างสิทธิฟ้องจำเลยเมื่อล่วงเลยเวลา3 ปี นับจากจำเลยทำรั้ว โจทก์ทั้งหกเป็นผู้สืบสิทธิในฐานะผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินของนางจวงต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ที่นางจวงมีอยู่ โดยโจทก์ทั้งหกเองก็รู้ว่าที่ดินถูกแย่งการครอบครองตั้งแต่ปี 2534 แม้จะเป็นดังที่โจทก์ทั้งหกอ้างว่าส่วนที่จำเลยทำรั้วอยู่ในแนวเขตที่ดินของนางจวง โจทก์ทั้งหกไม่มีอำนาจฟ้องเอาคืนการครอบครองเพราะโจทก์ไม่ได้ฟ้องภายในกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 15,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งหก กับให้จำเลยรื้อถอนรั้วที่สร้างล้ำเข้าไปในที่ดินตาม น.ส.3เลขที่ 354 เฉพาะส่วนพิพาทเนื้อที่ 134 ตารางวา และทำที่ดินให้อยู่ในสภาพเดิมห้ามจำเลยยุ่งเกี่ยวกับที่พิพาทอีก

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า คำให้การของจำเลยไม่ชัดแจ้งว่าที่พิพาทเป็นของจำเลยหรือของโจทก์ ไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทเรื่องแย่งการครอบครอง คดีจึงไม่มีประเด็นว่าโจทก์ฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองที่พิพาทเกิน 1 ปีหรือไม่ ถือได้ว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่รับวินิจฉัยให้ และในประเด็นค่าเสียหายคดีมีทุนทรัพย์ไม่เกิน 50,000 บาท ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ข้อเท็จจริงศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่รับวินิจฉัยให้เช่นเดียวกัน และพิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาว่า แม้ข้อต่อสู้ของจำเลยไม่ชัดแจ้งในเรื่องแย่งการครอบครอง แต่โจทก์มิได้ฟ้องเรียกเอาที่พิพาทคืนจากจำเลยภายใน 1 ปี โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1375 วรรคสอง ซึ่งเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ขอให้ยกฟ้องโจทก์นั้น เห็นว่า ที่จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นเจ้าของผู้ครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) เลขที่ 1261 และ 1265 ซึ่งมีเขตติดต่อกับที่ดินของมารดาโจทก์ทั้งหกจำเลยซื้อและรับมอบการครอบครองจากบริษัทลัคกี้ แอล ที กรุ๊ป จำกัด ตั้งแต่วันที่ 8 สิงหาคม 2532 และผู้ขายได้ชี้แนวเขตที่ดินตามแนวเขตเช่นเดียวกับที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน จำเลยครอบครองที่ดินตลอดมาและจำเลยทำรั้วตั้งแต่ปี 2534 โจทก์ทั้งหกไม่ฟ้องเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองที่พิพาทภายในกำหนด 1 ปี โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เป็นการแสดงให้เห็นโดยชัดแจ้งว่าจำเลยเป็นเจ้าของผู้ครอบครองที่พิพาทมาแต่ต้น จำเลยมิได้แย่งการครอบครองไปจากโจทก์ เพราะการแย่งการครอบครองจะมีขึ้นได้แต่เฉพาะในที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น เมื่อคดีไม่มีประเด็นเรื่องแย่งการครอบครอง ศาลจึงจะยกปัญหาในข้อที่ว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 วรรคสอง โดยอ้างว่าเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนขึ้นวินิจฉัยเองตามที่จำเลยฎีกาหาได้ไม่ เพราะจะเป็นการวินิจฉัยขัดแย้งกับข้อที่จำเลยต่อสู้ในคำให้การ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย

อนึ่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยทั้งหมดศาลอุทธรณ์ภาค 1 ชอบที่จะพิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยและคืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ให้จำเลย แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนและไม่คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ให้จำเลยนั้นไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกอุทธรณ์ของจำเลยและให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ให้จำเลยทั้งหมด นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share