คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 360/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ว่าบกพร่องต่อหน้าที่ในระหว่างทำงานให้โจทก์และก่อความเสียหายแก่โจทก์ จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่งร่วมกับจำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์ เป็นการฟ้องว่าจำเลยที่ 2 ได้ทำละเมิดต่อโจทก์ในขณะที่ทำงานตามสัญญาจ้างให้โจทก์อันเป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงานด้วย ซึ่งไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองเป็นลูกจ้างโจทก์และได้กระทำผิดสัญญาจ้างแรงงานที่ทำไว้กับโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายดังนี้ คือ 1. เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2536 จำเลยที่ 1 ได้ปลอมลายมือชื่อผู้ฝากถอนเงินจากบัญชีเงินฝากประเภทเผื่อเรียกของนางดวล เรืองเดชา จำนวน 34,000 บาท จำเลยที่ 1 และนางแก้วตา ยุตตานนท์ ได้ชดใช้เงินดังกล่าวพร้อมด้วยดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว 2. เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2536 จำเลยที่ 1 ได้ปลอมลายมือชื่อผู้ฝากถอนเงินจากบัญชีเงินฝากประเภทเผื่อเรียกของนายจัด บุญยอด จำนวน 20,000 บาท จำเลยทั้งสองได้ชดใช้เงินดังกล่าวพร้อมด้วยดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว 3. เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2537 จำเลยที่ 1 ได้ปลอมลายมือชื่อผู้ฝากถอนเงินจากบัญชีเงินฝากประเภทเผื่อเรียกของนางลำดวน ทองมา จำนวน 30,000 บาท จำเลยทั้งสองได้ชดใช้เงินดังกล่าวพร้อมด้วยดอกเบี้ยให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว 4. เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2537 จำเลยที่ 1 ได้ปลอมลายมือชื่อผู้ฝากถอนเงินจากบัญชีเงินฝากประเภทเผื่อเรียกของนางลำดวน ทองมา จำนวน 4,500 บาท จำเลยที่ 1 ได้ชดใช้เงินดังกล่าวพร้อมด้วยดอกเบี้ยให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว 5. เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2537 จำเลยที่ 1 ปลอมลายมือชื่อผู้ฝากถอนเงินจากบัญชีเงินฝากประเภทเผื่อเรียกของนายเฉลิม สีคำอ่อน จำนวน 6,000 บาท นายสุรินทร์ ร่วมเจริญ ได้ชดใช้เงินดังกล่าวพร้อมด้วยดอกเบี้ยให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว 6. เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2537 จำเลยที่ 1 ได้ปลอมลายมือชื่อผู้ฝากถอนเงินจากบัญชีเงินฝากประเภทประจำ 12 เดือน ของนางวิไลรัตน์ ดิษฐสระ จำนวน 1,076.50 บาท โจทก์ได้รับชดใช้เงินดังกล่าวพร้อมด้วยดอกเบี้ยแล้ว 7. เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2537 จำเลยที่ 1 ได้ลงรายการเพิ่มยอดเงินฝากในบัญชีของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบัญชีเผื่อเรียกเลขที่ 101242 โดยยกยอดเงินในบัญชีให้สูงกว่าความเป็นจริงจำนวน 490,000 บาท และในวันที่ 25 พฤษภาคม 2537 จำเลยที่ 1 ได้ลงรายการเพิ่มยอดเงินฝากในบัญชีของตนเองดังกล่าวโดยยกยอดเงินในบัญชีให้สูงกว่าความเป็นจริงอีก 100,000 บาท แล้วจำเลยที่ 1 ได้ทยอยถอนเงินออกจากบัญชีจนหมด การลงบัญชีเครื่องจักรใช้รหัสกุญแจ บี ซึ่งตามหลักฐานระบุว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ยืมกุญแจดังกล่าว การทุจริตเกี่ยวกับเงินฝากในบัญชีของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว จำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดชดใช้ให้แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 490,000 บาท นับตั้งแต่วันที่ 12 พฤษภาคม 2537 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และจากต้นเงินจำนวน 100,000 บาท นับตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2537 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยที่ 1 ได้ชำระเงินให้โจทก์บางส่วนแล้วเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2541 จำนวน 127,168.63 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,093,677.32 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 590,000 บาท นับตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัด
จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้เรียกร้องให้จำเลยรับผิดชดใช้ค่าเสียหายจากการกระทำละเมิดในทางแพ่ง มิใช่คดีอันเกิดจากการละเมิดระหว่างโจทก์กับจำเลยเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงาน โจทก์ทราบถึงการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2538 และสรุปโดยแน่ชัดเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2538 ว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้กระทำการทุจริตแก่โจทก์เป็นเงินจำนวน 640,576.50 บาท การที่โจทก์ปล่อยเวลาให้ล่วงเลยมาถึง 6 ปี จึงนำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2544 จึงล่วงพ้นกำหนดเวลา 1 ปี นับตั้งแต่วันที่รู้ถึงการกระทำความผิดและรู้ตัวผู้จะพึงชดใช้ค่าสินไหมทดแทน คดีโจทก์ขาดอายุความ จำเลยที่ 2 ไม่ได้มีส่วนช่วยให้จำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามที่โจทก์กล่าวอ้างแต่อย่างใด จำเลยที่ 2 ไม่เคยชดใช้เงินแก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลาง พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 590,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน 2537 จนถึงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2541 แก่โจทก์ โดยให้นำเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระให้แก่โจทก์เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2541 จำนวน 127,169.27 บาท มาหักชำระหนี้ดังกล่าวข้างต้น หากยังมีหนี้เหลือค้างชำระอยู่เพียงใด ให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ดังกล่าวแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินที่คงเหลือ นับตั้งแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้ยกฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติธนาคารออมสิน พ.ศ.2489 จำเลยทั้งสองเป็นลูกจ้างของโจทก์ โดยจำเลยที่ 1 เข้าทำงานเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2527 และลาออกจากงานเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2537 ส่วนจำเลยที่ 2 เข้าทำงานเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2521 ต่อมาเดือนกุมภาพันธ์ 2538 ผู้อำนวยการธนาคารออมสินภาค 9 ได้รายงานโจทก์ว่า ระหว่างที่จำเลยทั้งสองทำงานที่ธนาคารออมสิน สาขาหาดใหญ่ จำเลยทั้งสองมีพฤติการณ์ส่อไปในทางทุจริตหลายประการ โจทก์จึงมีคำสั่งเฉพาะที่ มส. 7/2538 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความผิดวินัยและความรับผิดทางแพ่ง คณะกรรมการดังกล่าวทำการสอบสวนข้อเท็จจริงเสร็จแล้วทำรายงานให้โจทก์ทราบเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2538 ว่า จำเลยที่ 1 ได้ทุจริตต่อหน้าที่ในระหว่างวันที่ 27 มกราคม 2536 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2537 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายตามฟ้อง แต่จำเลยที่ 1 ลาออกไปแล้ว จึงไม่สามารถลงโทษจำเลยที่ 1 ทางวินัยได้ และจำเลยที่ 2 ได้ปฏิบัติหน้าที่บกพร่องต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่งให้แก่โจทก์ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อแรกว่า คดีของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ว่าบกพร่องต่อหน้าที่ในระหว่างทำงานให้โจทก์ที่ธนาคารออมสิน สาขาหาดใหญ่ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่งร่วมกับจำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์ เป็นการฟ้องว่าจำเลยที่ 2 ได้ทำละเมิดต่อโจทก์ในขณะที่ทำงานตามสัญญาจ้างให้โจทก์อันเป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงานด้วย ซึ่งไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 2 บกพร่องต่อหน้าที่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายระหว่างวันที่ 27 มกราคม 2536 ถึง 31 ตุลาคม 2537 และศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ทราบว่าจำเลยที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2539 โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ให้รับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2544 ซึ่งยังไม่พ้นกำหนด 10 ปี คดีของโจทก์ที่ฟ้องจำเลยที่ 2 จึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาว่าคดีของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ขาดอายุความนั้น ไม่ต้องความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อสองว่า จำเลยที่ 2 จะต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่า ตามพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบมา ข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ทำการทุจริตต่อหน้าที่หรือสนับสนุนให้จำเลยที่ 1 กระทำการทุจริตต่อหน้าที่ เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ได้กระทำละเมิดในระหว่างทำงานให้แก่โจทก์ จึงไม่ต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ ที่โจทก์อุทธรณ์อ้างคำเบิกความของพยานโจทก์ที่เบิกความว่า จำเลยที่ 2 ทำงานบกพร่องไม่ตรวจสอบยอดเงินให้ถูกต้องและยอมให้จำเลยที่ 1 ใช้รหัสกุญแจทำการลงเครื่องจักรได้เองนั้น แม้จำเลยที่ 2 ไม่ได้ทุจริตแต่ก็มีส่วนก่อให้เกิดการทุจริตทำความเสียหายให้แก่โจทก์นั้น เป็นอุทธรณ์ที่โต้แย้งดุลพินิจการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย…”
พิพากษายืน

Share