แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
บริษัทจำเลยที่ 1 มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการเงินทุนเพื่อการพัฒนาและเพื่อการเคหะ โจทก์ได้ฝากเงินไว้กับจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ได้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คให้โจทก์ โดยไม่มีการประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 เมื่อโจทก์ทักท้วงไปยังเลขานุการของจำเลยที่ 2 ก็ได้รับ คำตอบว่าใช้ได้เมื่อถึงกำหนดชำระดอกเบี้ยพนักงานของจำเลยที่ 1 ก็นำดอกเบี้ยไปชำระให้แก่โจทก์ ซองใส่เอกสารที่มอบให้โจทก์เป็นของจำเลยที่ 1 พฤติการณ์ดังกล่าวทำให้บุคคลภายนอกโดยทั่วไปเชื่อว่าการกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3เป็นการกระทำแทนจำเลยที่ 1 ตลอดมาโจทก์ไม่ได้ตกลงหรือรู้เห็นด้วยว่าเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องการกำหนดให้บริษัทเงินทุนปฏิบัติในการกู้ยืมเงินหรือรับเงินจากประชาชนและการกำหนดอัตราดอกเบี้ยหรือส่วนลดที่บริษัทเงินทุนจะ จ่ายหรืออาจเรียกได้ จึงมิใช่นิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์ขัดต่อกฎหมายอันจะเป็นการนอกวัตถุประสงค์ ของบริษัทจำเลยที่ 1 ดังนั้นการที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับเงินจากโจทก์แล้วไม่ได้มอบหรือนำเงินเข้าบัญชีให้ จำเลยที่ 1 ย่อมเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็น ตัวแทนไม่ส่งมอบทรัพย์สินที่ได้มาแก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวการ และแม้หากตัวแทนจะอาศัยตำแหน่งหน้าที่อ้างชื่อจำเลยที่ 1 หาประโยชน์ใส่ตนก็ตามจำเลยที่ 1 ก็จะอ้างเอาการที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็น ตัวแทนของตนกระทำการทุจริตหรือไม่ส่งมอบเงินแก่ตน นั้นมาบอกปัดความรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริตหาได้ไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดมีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการเงินทุนเพื่อการพัฒนาและการเคหะจำเลยที่ 2 และที่ 3 เคยเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1โจทก์ได้นำเงินจำนวน 210,000 บาท ไปฝากไว้กับจำเลยที่ 1ณ ที่ทำการจำเลยที่ 1 โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการและมีจำเลยที่ 3 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1ในการรับฝากเงินจากโจทก์ดังกล่าวจำเลยที่ 1 สัญญาจะให้ดอกเบี้ยแก่โจทก์ร้อยละ 14.5 ต่อปี จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3ได้ร่วมกันลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คธนาคารมหานคร จำกัดสำนักงานใหญ่ ลงวันที่ 3 ตุลาคม 2527 จำนวนเงิน210,000 บาท เพื่อชำระหนี้คืนเงินฝากแก่โจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ยืนยันกับโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 และลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คในฐานะตัวแทนผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 แต่ละเดือนพนักงานของจำเลยที่ 1ได้นำดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี ของต้นเงินตามเช็คมามอบแก่โจทก์เพื่อเป็นค่าผลประโยชน์ตอบแทนแก่โจทก์แสดงว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 รับฝากเงินจากโจทก์ในฐานะตัวแทนผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ในฐานะตัวการจึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 รับผิดชำระหนี้คืนเงินฝากตามเช็คพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงเช็คโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยทั้งสามไม่ได้ชำระดอกเบี้ยให้โจทก์ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2527 เมื่อเช็คถึงกำหนด ธนาคารตามเช็คได้ปฏิเสธการจ่ายเงินเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2527 ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดชำระเงินจำนวน 260,750 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี ในต้นเงิน 210,000 บาทนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า เช็คที่โจทก์นำมาฟ้องไม่ใช่เช็คของจำเลยที่ 1 เพราะไม่มีตราสำคัญของจำเลยที่ 1 ประทับไว้แต่เป็นเช็คส่วนตัวของจำเลยที่ 2 และที่ 3 โจทก์จำเลยที่ 2และที่ 3 มีความสัมพันธ์เป็นการส่วนตัว จำเลยที่ 1 เป็นบริษัทจำกัดและได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลังให้ประกอบกิจการประเภทเงินทุนเพื่อการพัฒนาและเพื่อการเคหะซึ่งเป็นกิจการที่จัดหาเงินทุนจากประชาชนโดยการกู้ยืมเงินหรือรับเงินจากประชาชนในการกู้ยืมเงินหรือรับเงินจากประชาชนจำเลยที่ 1 จะออกเอกสารการกู้ยืมเงินหรือออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่ผู้ให้กู้โดยไม่จ่ายส่วนลดตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2526 และตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาฉบับลงวันที่ 14 กรกฎาคม 2524 การออกเอกสารการกู้ยืมเงินหรือหรือตั๋วสัญญาใช้เงินแก่ผู้ให้กู้ของจำเลยที่ 1 จะต้องลงลายมือชื่อกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนและประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 ด้วย จำเลยที่ 1 ไม่มีวัตถุประสงค์ในการรับฝากเงินจากประชาชนและออกเช็คพิพาทดังที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ไม่เคยมอบหมายหรือมอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 3 เป็นตัวแทนหรือตัวแทนเชิดรับฝากเงินจากประชาชนแล้วออกเช็คชำระเงินคืนแทนจำเลยที่ 1 เพราะเป็นการนอกวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 และต้องห้ามชัดแจ้งตามกฎหมาย จำเลยที่ 1 ไม่อาจให้สัตยาบันแก่การนั้นได้และไม่เคยให้สัตยาบันเกี่ยวกับการรับฝากเงินและออกเช็คเพื่อชำระเงินคืน รวมทั้งจำเลยที่ 1 ไม่ได้รับประโยชน์ใด ๆ เกี่ยวกับการรับฝากเงินดังกล่าว โจทก์เองก็รู้อยู่ว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีวัตถุประสงค์ในการรับฝากเงินจากประชาชน การที่โจทก์นำเงินมาให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็เพราะโจทก์ต้องการรับดอกเบี้ยในอัตราสูง และไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ให้แก่รัฐ ซึ่งเป็นเรื่องที่โจทก์ยอมเสี่ยงภัยด้วยตนเอง เมื่อโจทก์ได้รับความเสียหายจากการเสี่ยงภัยดังกล่าวแล้วนำคดีมาฟ้องจำเลยที่ 1 จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตทำให้จำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหายขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงิน225,750 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 210,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ส่วนที่ขอเกินมาให้ยก จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อสองมีว่าจำเลยที่ 1 จะต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้องหรือไม่ จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดเนื่องจากจำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำการฝ่าฝืนกฎหมายและนอกวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำไปในฐานะส่วนตัวจำเลยที่ 1 ไม่เคยมอบหมายหรือมอบอำนาจให้จำเลยที่ 2และที่ 3 เป็นตัวแทนหรือเชิดจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นตัวแทนให้บุคคลทั้งสองรับฝากเงินจากประชาชน แล้วออกเช็คพิพาทชำระเงินคืนแทนจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด เห็นว่า คดีได้ความว่าจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 2เป็นกรรมการผู้จัดการ จำเลยที่ 3 เป็นกรรมการ จำเลยที่ 2และที่ 3 มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ได้ตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการเงินทุนเพื่อการพัฒนาและเพื่อการเคหะปรากฏตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย ล.17 นางวรวรรณ วุฒิปุระจักร์ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์เบิกความว่า โจทก์มอบให้พยานนำเงินไปฝากที่บริษัทจำเลยที่ 1 ครั้งแรกเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2525 จำนวนเงิน 210,000 บาท จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นกรรมการสั่งจ่ายเช็คจำนวน 210,000 บาท ลงวันที่ 3 ตุลาคม 2526 ในนามโจทก์ครั้นวันที่ 3 ตุลาคม 2526 โจทก์ฝากต่อโดยจำเลยที่ 1 ซึ่งมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาทปรากฏตามภาพถ่ายเช็ค เอกสารหมาย จ.2 พร้อมทั้งใส่ของพลาสติกประทับตราและชื่อของจำเลยที่ 1 ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.3 จำเลยที่ 1 จ่ายดอกเบี้ยให้ทุกเดือนโดยพนักงานของจำเลยที่ 1 นำมามอบให้พยานในที่ทำงานของพยานแล้วพยานนำไปมอบให้กับโจทก์ เมื่อพยานได้รับเช็คจากจำเลยที่ 1 ปรากฏว่าไม่มีตราสำคัญของจำเลยที่ 1 ประทับไว้ จึงได้สอบถามนางสาวอรวรรณ เจริญสุขวิพัฒน์ เลขานุการของจำเลยที่ 2 นางสาวอรวรรณแจ้งให้พยานทราบว่า เช็คดังกล่าวจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 แม้ไม่มีตราสำคัญของจำเลยที่ 1 ประทับไว้ก็ใช้ได้ พยานเชื่อตามที่นางสาวอรวรรณบอกเพราะเห็นว่าจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการจำเลยที่ 3 เป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 และเพื่อนของพยานซึ่งนำเงินไปฝากไว้กับจำเลยที่ 1 ก็ได้รับเช็คจากจำเลยที่ 1 โดยไม่มีตราสำคัญของจำเลยที่ 1 ประทับเช่นเดียวกัน พยานเคยนำเงินไปฝากจำเลยที่ 1 ซึ่งมีวิธีการฝากและรับดอกเบี้ยเช่นเดียวกับโจทก์ เช็คที่ได้รับก็มีลักษณะ อย่างเดียวกันคือไม่มีตราสำคัญของจำเลยที่ 1 ประทับปรากฏตามสำเนาเช็คเอกสารหมาย จ.5นอกจากนี้โจทก์มีนางสุชิต จงนิรามัยสถิต และนายคมสัน ก้องวงศ์วานิช เบิกความทำนองเดียวกันว่า พยานทั้งสองได้ฝากเงินไว้กับจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็ค โดยไม่มีการประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 เมื่อนางสุชินทักท้วงไปยังนางสาวอรวรรณ เลขานุการของจำเลยที่ 2 ก็ได้รับคำตอบเช่นเดียวกับที่โจทก์ได้รับ เห็นได้ว่าจำเลยทั้งสามปฏิบัติต่อเจ้าของเงินที่นำเงินมาฝากเช่นเดียวกับที่ปฏิบัติต่อโจทก์ เมื่อถึงกำหนดชำระดอกเบี้ยพนักงานของจำเลยที่ 1 ก็นำดอกเบี้ยไปชำระให้แก่โจทก์ ซองใส่เอกสารที่มอบให้โจทก์ก็เป็นของจำเลยที่ 1 เมื่อนางวรวรรณและนางสุชินสงสัยในการออกเช็คก็สอบถามไปยังเลขานุการของจำเลยที่ 2 และได้รับแจ้งว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีอำนาจสั่งจ่ายเช็คแทนจำเลยที่ 1 ได้ เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นบริษัท จำกัด ซึ่งเป็นนิติบุคคลเจตนาของนิติบุคคลย่อมแสดงออกทาง ผู้แทนของนิติบุคคล เมื่อผู้แทนของนิติบุคคลได้แสดงเจตนาซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ในทางการดำเนินกิจการตามวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลต้องถือว่าเป็นเจตนาของนิติบุคคลและผูกพันนิติบุคคล พฤติการณ์ของจำเลยทั้งสามทำให้บุคคลภายนอกโดยทั่วไปเชื่อว่าการกระทำของจำเลยที่ 2และที่ 3 เป็นการกระทำแทนจำเลยที่ 1 ตลอดมา โจทก์ไม่ได้ตกลงหรือรู้เห็นด้วยว่าการกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นการฝ่าฝืนประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดให้บริษัทเงินทุนปฏิบัติในการกู้ยืมเงินหรือรับเงินจากประชาชนและการกำหนดอัตราดอกเบี้ยหรือส่วนลดที่บริษัทเงินทุนอาจจ่ายหรืออาจเรียกได้ จึงมิใช่นิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์ขัดต่อกฎหมายอันจะเป็นการนอกวัตถุประสงค์ของบริษัทจำเลยที่ 1 ดังนั้น การที่จำเลยที่ 2และที่ 3 รับเงินจากโจทก์แล้วไม่ได้มอบหรือนำเงินเข้าบัญชีให้จำเลยที่ 1 ย่อมเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นตัวแทนไม่ส่งมอบทรัพย์สินที่ได้มาแก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวการและแม้หากตัวแทนหรือจำเลยที่ 2 และที่ 3 จะอาศัยตำแหน่งหน้าที่อ้างชื่อจำเลยที่ 1 หาประโยชน์ใส่ตนดังจำเลยที่ 1 ฎีกาหรือไม่ก็ตาม จำเลยที่ 1 จะอ้างเอาการที่จำเลยที่ 2 และที่ 3ซึ่งเป็นตัวแทนของตนกระทำการทุจริตหรือไม่ส่งมอบเงินแก่ตนนั้นมาบอกปัดความรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริตหาได้ไม่ จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้อง”
พิพากษายืน