แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 โจทก์อุทธรณ์ในปัญหานี้ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ส่วนจำเลยที่ 2 ไม่อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ดังนี้คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยให้กระทบกระเทือนถึงส่วนได้เสียของจำเลยที่ 2 ดังนั้น จำเลยที่ 2จึงฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์มิได้ ถึงแม้ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 2 ไว้ ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัยให้ การดำเนินการเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนในท้องที่อำเภอปากเกร็ด พ.ศ. 2530 อยู่ในอำนาจหน้าที่และวัตถุประสงค์ของกระทรวงมหาดไทย จำเลยที่ 2 ตามประกาศของคณะปฎิวัติ ฉบับที่ 216 เรื่องปรับปรุงกระทรวง ทบวงกรม ข้อ 19 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาแก้ไขเพิ่มเติมประกาศของคณะปฎิวัติ ฉบับที่ 216 อีกหลายฉบับ ต่อมามีการยกเลิกประกาศของคณะปฎิวัติ ฉบับที่ 216 โดยพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2534 และบัญญัติอำนาจหน้าที่นี้ของจำเลยที่ 2 ไว้ในมาตรา 19 จำเลยที่ 2 จึงมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบการปฎิบัติงานของทางการพิเศษแห่งประเทศไทยจำเลยที่ 1ให้เป็นไปโดยถูกต้องและชอบด้วยกฎหมาย รวมตลอดถึงการเวนคืนที่ดินและการกำหนดเงินค่าทดแทนให้แก่ผู้ที่ถูกเวนคืน อันอยู่ภายในกรอบอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 2 เมื่อโจทก์ผู้ถูกเวนคืนโต้แย้งว่าการกำหนดเงินค่าทดแทนเวนคืนที่ดินของโจทก์ไม่ถูกต้องเป็นธรรมและไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2ให้ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ได้ พยานหลักฐานที่โจทก์และจำเลยนำสืบยังรับฟังไม่ได้ว่าราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของที่ดินของโจทก์ทั้งเก้าในวันที่ใช้บังคับพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน พ.ศ. 2530 มีราคาตารางวาเท่าใด ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรพิจารณากำหนดค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่จะต้องถูกเวนคืนตามเหตุผลที่ควรจะเป็น โดยพิจารณากำหนดค่าทดแทนจากหลักเกณฑ์ทั้ง 5 ประการ ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21 ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ในราคาที่สูงเกินไปกว่าราคาที่โจทก์กล่าวในอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นการไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติ ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 26 วรรคสาม มาตรา 10วรรคสอง และมาตรา 11 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์กับจำเลยได้ทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 ในกรณีที่ไม่อาจตกลงกันได้ในเรื่องจำนวนเงินค่าทดแทน เมื่อวันที่30 ตุลาคม 2532 นับแต่วันดังกล่าวไปอีก 120 วันซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่จำเลยที่ 1 จะต้องจ่ายเงินให้แก่โจทก์ทั้งเก้าคือวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2533 อันเป็นวันที่ต้องมีการจ่ายเงินค่าทดแทนตามความในมาตรา 26 วรรคสาม โจทก์ทั้งเก้าจึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจากเงินค่าทดแทนที่เพิ่มขึ้นนับแต่วันดังกล่าวในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน ส่วนจะได้รับในอัตราเท่าใดนั้น ต้องเป็นไปตามประกาศของธนาคารออมสินที่ประกาศอัตราดอกเบี้ยขึ้นลง แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินอัตราและไม่เกินจำนวนเงินตามคำของโจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งเก้าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 2873 ตำบลบางกะปิ (ลาดพร้าวฝั่งเหนือ) อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 6 ไร่ 1 งาน 98 ตารางวาจำเลยที่ 1 เป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดจำเลยที่ 2 เมื่อปี 2530ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่อำเภอปากเกร็ด อำเภอเมืองนนทบุรีจังหวัดนนทบุรีและเขตบางเขน เขตดุสิต เขตพญาไท เขตปทุมวัน เขตบางรักเขตยานนาวา เขตห้วยขวาง เขตบางกะปิ เขตพระโขนงกรุงเทพมหานครพ.ศ. 2530 เพื่อดำเนินการสร้างทางด่วนพิเศษสายแจ้งวัฒนะ-บางโคล่ และสายพญาไท – ศรีนครินทร์ ที่ดินของโจทก์ดังกล่าวอยู่ในเขตที่จะต้องถูกเวนคืน เนื้อที่ 2,458 ตารางวา จำเลยทั้งสองได้กำหนดค่าทดแทนที่ดินให้โจทก์ทั้งเก้าไม่เป็นธรรมโจทก์จึงได้ยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และได้รับแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2534โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเห็นชอบด้วยกับจำนวนเงินค่าทดแทนที่จำเลยทั้งสองกำหนดให้ ที่ดินของโจทก์ทั้งเก้าตั้งอยู่ใจกลางเมือง มีราคาซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดในขณะที่ถูกเวนคืนตารางวาละ 50,000 บาท คิดเป็นเงิน122,900,000 บาท จำเลยทั้งสองจึงต้องจ่ายเงินค่าทดแทนเพิ่มแก่โจทก์ทั้งเก้า 110,313,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยประเภทเงินฝากประจำของธนาคารออมสิน นับแต่วันที่มีการจ่ายเงินค่าทดแทนในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2532 จนถึงวันฟ้อง16,622,024.27 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน126,935,024.27 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13 ต่อปีจากต้นเงิน 110,313,000 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ทั้งเก้าไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองได้กำหนดค่าทดแทนให้ด้วยความเป็นธรรมและชอบด้วยกฎหมายโดยใช้หลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 9, 21 (2) (3) โจทก์ทั้งเก้าไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยตามฟ้อง หากจำเลยทั้งสองต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยก็ไม่เกินอัตราร้อยละ 10 ต่อปี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 59,681,214 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อปี นับแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน2532 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งเก้า ยกฟ้องจำเลยที่ 2
โจทก์ทั้งเก้าและจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มอีก 71,971,213.13 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินค่าทดแทนที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระเพิ่มขึ้น แต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 13 ต่อปี นับแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน 2532 จนกว่าจะชำระเสร็จ ทั้งนี้ดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 16,662,014บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ทั้งเก้าและจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 โจทก์อุทธรณ์ในปัญหานี้ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ส่วนจำเลยที่ 2 ไม่อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยให้กระทบกระเทือนถึงส่วนได้เสียของจำเลยที่ 2 ดังนั้นจำเลยที่ 2 จึงฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์มิได้ ถึงแม้ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 2 ไว้ ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัยให้ คดีจึงเข้าสู่การพิจารณาของศาลฎีกาเฉพาะตามฎีกาของโจทก์ทั้งเก้าและของจำเลยที่ 1 เท่านั้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งเก้าเป็นประการแรกว่า โจทก์ทั้งเก้ามีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ให้ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 หรือไม่ในปัญหาดังกล่าวเห็นว่า ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่อำเภอปากเกร็ด พ.ศ.2530 มาตรา 6 บัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จำเลยที่ 2 รักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้ และในฐานะดังกล่าวพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ.2530 มาตรา 9, 23 และ 25 บัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีอำนาจหน้าที่ในการแต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นและจำนวนเงินค่าทดแทนของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนและวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนที่ไม่พอใจในราคาของอสังหาริมทรัพย์หรือจำนวนเงินค่าทดแทนที่คณะกรรมการตามมาตรา 9 หรือ 23 กำหนด และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยยังเป็นผู้รักษาการ ตามประกาศของคณะปฎิวัติ ฉบับที่ 290 ซึ่งเป็นกฎหมายจัดตั้งการทางพิเศษแห่งประเทศไทยจำเลยที่ 1 ขึ้น ให้มีอำนาจหน้าที่ในการจัดให้มีทางพิเศษโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีอำนาจหน้าที่ดูแลให้การดำเนินเวนคืนเพื่อสร้างทางพิเศษเป็นไปโดยถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งการดำเนินการในฐานะต่าง ๆ เป็นการดำเนินการในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และในกิจการของกระทรวงมหาดไทย จำเลยที่ 2 ด้วยดังจะเห็นได้ว่าการดำเนินการเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวอยู่ในอำนาจหน้าที่และวัตถุประสงค์ของกระทรวงมหาดไทยจำเลยที่ 2 ตามประกาศของคณะปฎิวัติ ฉบับที่ 216 เรื่องปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม ข้อ 19ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศของคณะปฎิวัติ ฉบับที่ 216 อีกหลายฉบับ ต่อมามีการยกเลิกประกาศของคณะปฎิวัติ ฉบับที่ 216 โดยพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวงทบวง กรม พ.ศ.2534 และบัญญัติอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 2ไว้ในมาตรา 19 จำเลยที่ 2 จึงมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบการปฎิบัติงานของจำเลยที่ 1 ให้เป็นไปโดยถูกต้องและชอบด้วยกฎหมาย รวมตลอดถึงการเวนคืนที่ดินและการกำหนดเงินค่าทดแทนให้แก่ผู้ที่ถูกเวนคืน อันอยู่ภายในกรอบอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 2 เมื่อโจทก์ทั้งเก้าโต้แย้งว่าการกำหนดเงินค่าทดแทนเวนคืนที่ดินของโจทก์ทั้งเก้าไม่ถูกต้องเป็นธรรมและไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ทั้งเก้าจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ให้ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ได้
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปเป็นประการที่สองตามฎีกาของโจทก์ทั้งเก้าและจำเลยที่ 1 มีว่า การกำหนดค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ทั้งเก้าที่ถูกเวนคืนชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมหรือไม่โจทก์มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นหรือไม่เพียงใดพิเคราะห์แล้ว ที่ดินโฉนดเลขที่ 2873 ตำบลบางกะปิ(ลาดพร้าวฝั่งเหนือ) อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร เนื้อที่6 ไร่ 1 งาน 98 ตารางวา (2,598 ตารางวา) ของโจทก์ทั้งเก้าอยู่ในเขตที่ดินที่จะเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่อำเภอปากเกร็ด พ.ศ.2530 เพื่อสร้างทางพิเศษสายแจ้งวัฒนะ-บางโคล่ และสายพญาไท-ศรีนครินทร์ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2531 การกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ทั้งเก้าที่อยู่ในเขตที่จะต้องถูกเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวจึงต้องบังคับตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21 และมาตรา 9วรรคสี่ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44 ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2534 ข้อ 1บัญญัติว่า ในการกำหนดราคาเบื้องต้นของอสังหาริมทรัพย์และจำนวนเงินค่าทดแทน ให้คณะกรรมการกำหนดโดยอาศัยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 18 มาตรา 21 มาตรา 22 และมาตรา 24 ทั้งนี้ในข้อ 5 ของประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติดังกล่าวบัญญัติว่า บทบัญญัติมาตรา 9 วรรคสี่ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมนั้นให้มีผลใช้บังคับแก่การเวนคืนซึ่งการกำหนดราคาเบื้องต้นการจัดซื้อ การจ่ายหรือการวางเงินค่าทดแทน การอุทธรณ์ หรือการฟ้องคดียังไม่เสร็จเด็ดขาดในวันที่ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับดังกล่าวใช้บังคับด้วยคดีนี้การเวนคืนที่ดินของโจทก์ทั้งเก้า การจ่ายเงินค่าทดแทนยังไม่เสร็จเด็ดขาดและคดีก็ยังไม่เสร็จเด็ดขาด ตามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้นการกำหนดเงินค่าทดแทนจึงต้องพิจารณาโดยใช้หลักเกณฑ์ทั้งห้าประการของมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มิใช่เพียงข้อหนึ่งข้อใด สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 2873 ตำบลบางกะปิ (ลาดพร้าวฝั่งเหนือ)อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ของโจทก์ทั้งเก้าซึ่งอยู่ในเขตที่จะต้องถูกเวนคืนเนื้อที่ 2,458 ตารางวา ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่อำเภอปากเกร็ดพ.ศ.2530 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2531การกำหนดเงินค่าทดแทนตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) ที่ให้คำนึงถึงราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 6 จึงต้องถือเอาราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของอสังหาริมทรัพย์ในวันที่ 1 มกราคม 2531 ซึ่งในข้อนี้จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ค่าทดแทนที่ดินที่จำเลยที่ 1กำหนดให้แก่โจทก์ทั้งเก้านั้นเหมาะสมและเป็นธรรมแล้วค่าทดแทนที่จำเลยที่ 1 กำหนดให้แก่โจทก์ทั้งเก้านั้นเป็นราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของที่ดินของโจทก์ทั้งเก้าที่จะต้องเวนคืนนั้น เห็นว่าการกำหนดราคาค่าทดแทนที่ดินที่จะต้องเวนคืนให้แก่โจทก์ทั้งเก้าเป็นการกำหนดโดยถือราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ซึ่งมีราคาสูงกว่าราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่มีการตีราคาไว้เพื่อประโยชน์แก่การเสียภาษีบำรุงท้องที่การกำหนดค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งเก้าของคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ จึงมิใช่ราคาซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 6 แม้ต่อมาหลังจากที่ได้มีประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับที่ 44 ได้มีการกำหนดค่าทดแทนที่ดินที่จะต้องเวนคืนเพิ่มให้แก่โจทก์ทั้งเก้า โดยมีประกาศคณะกรรมการแก้ไขราคาเบื้องต้นลงวันที่ 28 กันยายน 2535 แก้ไขราคาเบื้องต้นของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนและจำนวนเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งเก้าโดยให้โจทก์ทั้งเก้าได้รับเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นอีก 13,761,786.67บาท ก็ตาม แต่จำเลยทั้งสองก็นำสืบไม่ได้ว่าราคาค่าทดแทนที่ดินที่จะต้องเวนคืนให้แก่โจทก์ทั้งเก้าตามที่คณะกรรมการการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดเมื่อรวมกับที่คณะกรรมการแก้ไขราคาเบื้องต้นกำหนดเพิ่มขึ้นให้แก่โจทก์ทั้งเก้าแล้ว ราคาทดแทนทั้งหมดดังกล่าวเป็นราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกา คือวันที่ 1 มกราคม 2531 จึงรับฟังไม่ได้ว่าราคาค่าทดแทนที่ดินที่จะต้องเวนคืนตามที่จำเลยที่ 1 กำหนดให้แก่โจทก์ทั้งเก้าทั้งสองครั้งรวมเป็นเงิน 26,348,786.67 บาทหรือเฉลี่ยราคาตารางวาละ 10,719.60 บาท เป็นราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของที่ดินของโจทก์ทั้งเก้าตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกา การกำหนดค่าทดแทนที่ดินที่จะต้องเวนคืนให้แก่โจทก์ทั้งเก้าของจำเลยที่ 1 จึงไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่วนที่โจทก์ทั้งเก้าฎีกาและนำสืบก็ยังรับฟังไม่ได้ว่าราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของที่ดินของโจทก์ทั้งเก้าในวันที่ใช้บังคับพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน พ.ศ. 2530 มีราคาตารางวาละ 50,000 บาท ตามที่โจทก์ทั้งเก้าฎีกา ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรพิจารณากำหนดค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ทั้งเก้าที่จะต้องถูกเวนคืนตามเหตุผลที่ควรจะเป็น โดยพิจารณากำหนดค่าทดแทนจากหลักเกณฑ์ทั้ง 5 ประการที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 21 ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้ว เห็นว่า ที่ดินของโจทก์ทั้งเก้าที่จะต้องถูกเวนคืน จำเลยที่ 1 ได้กำหนดราคาค่าทดแทนที่ดินที่จะต้องถูกเวนคืนให้แก่โจทก์ทั้งเก้ารวมแล้วในราคาตารางวาละ 10,719.60บาท ราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมใน พ.ศ. 2531 ตารางวาละ5,000 บาท ถึง 6,000 บาท สภาพที่ดินของโจทก์ทั้งเก้าเป็นที่ดินแปลงใหญ่ มีเนื้อที่ 6 ไร่เศษ ย่อมมีคุณค่าในเชิงพาณิชย์และอยู่ย่านใจกลางเมือง ห่างจากสี่แยก อ.ส.ม.ท. และองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย ไม่ไกลนัก และอยู่ห่างถนนพระราม 9เพียง 200 เมตรถือได้ว่าเป็นที่ดินที่อยู่ในบริเวณที่มีความเจริญและอยู่ในความต้องการของตลาดอย่างมาก ตามเอกสารการสรุปรายงานการประเมินค่าทดแทนของจำเลยที่ 1 และตามรายงานผลการพิจารณาอุทธรณ์เงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ ก็ได้ความว่าที่ดินของโจทก์ทั้งเก้าที่จะต้องถูกเวนคืนอยู่ติดกับทางสาธารณประโยชน์ ไม่อาจรับฟังตามคำเบิกความของพยานจำเลยทั้งสองอันได้แก่ นายสมิธ บัวรุ่ง และนายจิรวัฒน์ สมุทรอัษฎงค์พนักงานของจำเลยที่ 1 ที่ว่าที่ดินของโจทก์ทั้งเก้ามิได้อยู่ติดถนนซอย ต้องผ่านที่ดินของผู้อื่น จึงต้องถือว่าที่ดินของโจทก์ทั้งเก้าที่จะต้องถูกเวนคืนอยู่ติดกับทางสาธารณประโยชน์สามารถเข้าออกสู่ถนนพระราม 9 ได้ นอกจากนี้วัตถุประสงค์ในการเวนคืนที่ดินของโจทก์ทั้งเก้าไปก็เพื่อก่อสร้างทางด่วนพิเศษซึ่งเป็นกิจการในทางธุรกิจหารายได้จากผู้ที่ใช้ทางประกอบกับอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งเก้าต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยที่กล่าวไว้ว่า เมื่อประมาณต้นปี 2532 ที่จะมีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนฯ ราคาที่ดินในบริเวณดังกล่าวมีราคาประมาณตารางวาละ 25,000 บาท ถึง 30,000 บาทปัจจุบัน (ปี 2533) ที่ดินบริเวณดังกล่าวมีการซื้อขายกันตารางวาละไม่ต่ำกว่า 40,000 บาท ราคาท้องตลาดของที่ดินของโจทก์ทั้งเก้าควรมีราคาประมาณตารางวาละ 30,000 บาทเห็นควรกำหนดค่าทดแทนที่ดินที่จะต้องเวนคืนให้แก่โจทก์ทั้งเก้าในราคาตารางวาละ 30,000 บาท เท่ากันทั้งแปลงที่ศาลชั้นต้นกำหนดค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ทั้งเก้าในราคาตารางวาละ 35,000 บาทและที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งเก้าในราคาตารางวาละ 40,000 บาท นั้น เป็นการกำหนดที่สูงเกินไป และเกินไปกว่าราคาที่โจทก์ทั้งเก้ากล่าวในอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ที่ดินของโจทก์ทั้งเก้าถูกเวนคืนเนื้อที่ 2,458 ตารางวา จึงเป็นเงินทั้งสิ้น 73,740,000 บาท เมื่อหักจากเงินค่าทดแทนที่โจทก์ทั้งเก้าได้รับไปแล้วเป็นเงิน 26,348,786.67 บาท จึงเป็นเงินค่าทดแทนที่โจทก์ทั้งเก้ามีสิทธิได้รับเพิ่มขึ้นอีก 47,391,213.33 บาท
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 เป็นประการสุดท้ายมีว่าโจทก์ทั้งเก้ามีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในเงินค่าทดแทนที่เพิ่มขึ้นในอัตราเท่าใดและเมื่อใดโดยจำเลยที่ 1 ฎีกาว่าอัตราดอกเบี้ยที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้จำเลยที่ 1 ชำระแก่โจทก์ทั้งเก้าในอัตราไม่เกินร้อยละ 13 ต่อปี สูงเกินไป และโจทก์ทั้งเก้าไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน 2532จำเลยที่ 1 จะต้องจ่ายดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ทั้งเก้านับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลยจ่ายเงินทดแทนเพิ่มแก่โจทก์ทั้งเก้านั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 26 วรรคสาม บัญญัติว่า”ในกรณีที่รัฐมนตรีหรือศาลวินิจฉัยให้ชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ นับแต่วันที่ต้องมีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนนั้น” และมาตรา 10 วรรคสอง บัญญัติว่า “ในกรณีที่สามารถตกลงซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ที่จะถูกเวนคืนตามวรรคหนึ่งได้แต่ไม่อาจตกลงกันได้ในเรื่องจำนวนเงินค่าทดแทนหากเจ้าของจะขอรับเงินค่าทดแทนตามราคาเบื้องต้นโดยสงวนสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีตามมาตรา 25 ก็ให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการทำสัญญา โดยมีเงื่อนไขดังกล่าวแล้วจ่ายค่าทดแทนไปก่อนได้”และมาตรา 11 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในกรณีที่มีการตกลงซื้อขายอสังหาริมทรัพย์กันได้ตามมาตรา 10 ให้เจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่จ่ายเงินค่าอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวทั้งหมดให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวัน นับแต่วันที่ทำสัญญาซื้อขาย”ข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรากฎว่า โจทก์ทั้งเก้ากับจำเลยได้ทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 ในกรณีที่ไม่อาจตกลงกันได้ในเรื่องจำนวนเงินค่าทดแทน เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2532 นับแต่วันดังกล่าวไปอีก 120 วัน ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่จำเลยที่ 1 จะต้องจ่ายเงินให้แก่โจทก์ทั้งเก้า คือวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2533อันเป็นวันที่ต้องมีการจ่ายเงินค่าทดแทนตามความในมาตรา 26วรรคสาม โจทก์ทั้งเก้าจึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจากเงินค่าทดแทนที่เพิ่มขึ้นนับแต่วันดังกล่าวในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน ส่วนจะได้รับในอัตราเท่าใดนั้น ต้องเป็นไปตามประกาศของธนาคารออมสินที่ประกาศอัตราดอกเบี้ยขึ้นลง แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 13 ต่อปีและไม่เกินจำนวนเงิน 16,662,024.27 บาท ตามคำขอของโจทก์ที่ศาลอุทธรณ์คำพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินค่าทดแทนที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระเพิ่มขึ้น แต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 13ต่อปี นับแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน 2532 จนกว่าจะชำระเสร็จทั้งนี้ ดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 16,662,014 บาทนั้นถูกต้องเพียงบางส่วน เพราะมิได้กำหนดให้คิดอัตราดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินและกำหนดให้คิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน 2532เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จซึ่งไม่ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองชำระเงินค่าทดแทนเพิ่ม 47,391,213.33 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินค่าทดแทนที่ศาลให้จำเลยทั้งสองชำระเพิ่มขึ้น นับแต่วันที่ 27กุมภาพันธ์ 2533 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งเก้าแต่อัตราดอกเบี้ยและจำนวนเงินต้องไม่เกินจำนวนตามที่โจทก์ทั้งเก้าขอ นอกจากที่แก้นี้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ยกฎีกาของจำเลยที่ 2