คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 50/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยมีเจตนาก่อหนี้ด้วยวิธีนำเช็คไปแลกเงินสดอันเป็นเอกเทศสัญญาชนิดหนึ่งที่ใช้บังคับได้เมื่อโจทก์ได้รับชำระเงินแต่เพียงบางส่วนจำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ให้จนครบหนี้อันเกิดจากการนำเช็คไปแลกเงินสดตามกฎหมายมิได้กำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความสิบปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา164เดิมที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ปรากฏว่าจำเลยชำระหนี้เป็นบางส่วนแก่โจทก์ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่30มิถุนายน2534อันเป็นการรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงและเริ่มนับอายุความขึ้นใหม่ตั้งแต่วันดังกล่าวโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่30เมษายน2536ภายในอายุความสิบปีสิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ที่จำเลยฎีกาว่าการนำเช็คไปแลกเงินสดไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยตรงทั้งไม่มีจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นที่จะยกขึ้นปรับแก่คดีได้จึงต้องอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งคือออกกฎหมายลักษณะกู้ยืมเมื่อการนำเช็คไปแลกเงินสดมีจำนวนเงินเกินกว่า50บาทมิได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลยไว้เป็นสำคัญโจทก์จะฟ้องร้องให้จำเลยรับผิดหาได้ไม่นั้นจำเลยให้การว่าโจทก์บรรยายฟ้องเป็นเรื่องการนำเช็คไปแลกเงินสดไม่ใช่เรื่องการกู้ยืมหรือผิดสัญญาซึ่งจะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญดังนั้นฎีกาของจำเลยในข้อนี้จึงขัดแย้งกับคำให้การของจำเลยศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2533 จำเลยที่ 1นำเช็คธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด สาขาชุมพร ลงวันที่ 5ธันวาคม 2533 จำนวนเงิน 2,000,000 บาท มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่าย ไปแลกเงินสดจากโจทก์โดยตกลงจะชำระเงินคืนภายในวันที่ 5 ธันวาคม 2533 ต่อมาวันที่ 18 กันยายน 2533จำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 1,000,000 บาท ยังคงค้างอยู่อีก 1,000,000 บาท ครั้งถึงกำหนดชำระหนี้จำเลยทั้งสองขอผัดผ่อนหลายครั้ง โดยจำเลยที่ 2 ออกเช็คธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การจำกัด สาขาชุมพร ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2534 ให้โจทก์เป็นประกันหนี้และรับเช็คฉบับเดิมไป เมื่อถึงกำหนดจำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้ โจทก์จึงนำเช็คเข้าบัญชีของโจทก์เพื่อเรียกเก็บเงิน ปรากฏว่าธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2534 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายโจทก์ขอคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 30 มิถุนายน2534 ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 137,500 บาท รวมเป็นเงินต้นและดอกเบี้ย 1,137,500 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 1,137,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีในต้นเงิน 1,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 เพียงแต่แนะนำให้จำเลยที่ 2 รู้จักกับโจทก์เพื่อติดต่อกู้เงินจากโจทก์เท่านั้น จำเลยที่ 2เป็นผู้มอบเช็คธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด สาขาชุมพรฉบับลงวันที่ 5 ธันวาคม 2533 แก่โจทก์ และจำเลยที่ 2 เป็นผู้นำเงินจำนวน 2,000,000 บาท ที่ได้รับจากโจทก์ไปใช้ประโยชน์จำเลยที่ 1 ไม่เคยลงลายมือชื่อในเช็คฉบับใด ๆ จึงไม่ต้องรับผิดตามเช็ค โจทก์บรรยายฟ้องเป็นเรื่องการนำเช็คไปแลกเงินสด ไม่ใช่เรื่องการกู้ยืมหรือการผิดสัญญาซึ่งจะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค โจทก์มิได้ฟ้องคดีภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ลงในเช็ค คดีของโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 1,000,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2534จนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน137,500 บาท ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2
จำเลย ที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
จำเลย ที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่าโจทก์เป็นผู้ทรงเช็คพิพาทเป็นเช็คธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การจำกัด สาขาชุมพร ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2534 จำนวนเงิน 2,000,000บาท จำเลยที่ 2 เป็นผู้สั่งจ่าย ต่อมาเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2534โจทก์นำเช็คพิพาทเข้าบัญชีเรียกเก็บเงิน ปรากฏว่าธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินอ้างเหตุโปรดติดต่อผู้สั่งจ่าย ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 มีว่า จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดใช้เงินให้แก่โจทก์หรือไม่ จากข้อนำสืบของคู่ความทั้งสองฝ่ายรับกันว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้นำเช็คของจำเลยที่ 2 ไปแลกเงินสดจากโจทก์โจทก์ตกลงให้แลกโดยจ่ายเป็นแคชเชียร์เช็คจำนวน 2,000,000 บาทรับเช็คของจำเลยที่ 2 และโฉนดที่ดินของจำเลยที่ 1 เป็นประกันจำเลยที่ 1 ได้รับแคชเชียร์เช็คแล้วนำเข้าบัญชีกระแสรายวันของตนเอง ต่อมาได้เลื่อนกำหนดการชำระเงินโดยเปลี่ยนเช็คหลายครั้ง ฉบับสุดท้ายเป็นเช็คฉบับพิพาท เมื่อจำเลยทั้งสองไม่ชำระเงินส่วนที่ค้างโจทก์จึงนำเช็คพิพาทไปขึ้นเงิน ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน เห็นว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้นำเช็คของจำเลยที่ 2 ไปขอแลกเงินสดจากโจทก์ ครั้งแรกจำเลยที่ 1ไปเพียงผู้เดียวและยอมมอบโฉนดที่ดินของจำเลยที่ 1 เองให้โจทก์ยึดไว้เป็นประกัน เงินที่แลกได้ซึ่งเป็นแคชเชียร์เช็คจำเลยที่ 1ก็นำเข้าบัญชีของตนเอง เมื่อเรียกเก็บเงินได้แล้วแบ่งให้จำเลยที่ 2 เพียง 1,000,000 บาท การชำระเงินบางส่วนคืนให้แก่โจทก์จำเลยที่ 1 ก็สั่งจ่ายเช็คของตนเองไปชำระหนี้ ต่อมาได้ขอผัดผ่อนการชำระหนี้หลายครั้ง ครั้งสุดท้ายจำเลยทั้งสองร่วมกันไปหาโจทก์ที่บ้านให้จำเลยที่ 2 สั่งจ่ายเช็คฉบับพิพาทลงวันที่ล่วงหน้ามอบให้แก่โจทก์แทนเช็คฉบับเดิม พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาก่อหนี้ด้วยวิธีนำเช็คไปแลกเงินสด อันเป็นเอกเทศสัญญาชนิดหนึ่งที่ใช้บังคับได้เมื่อโจทก์ได้รับชำระเงินแต่เพียงบางส่วน จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชดใช้ให้จนครบหนี้อันเกิดจากการนำเช็คไปแลกเงินสดกฎหมายมิได้กำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความสิบปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 164 เดิม ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองชำระหนี้เป็นบางส่วนแก่โจทก์ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2534 อันเป็นการรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงและเริ่มนับอายุความขึ้นใหม่ตั้งแต่วันดังกล่าว โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2536ภายในอายุความสิบปี สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า การนำเช็คไปแลกเงินสดไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยตรง ทั้งไม่มีจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นที่จะยกขึ้นปรับแก่คดีได้ จึงต้องอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง คือกฎหมายลักษณะกู้ยืม เมื่อการนำเช็คไปแลกเงินสดมีจำนวนเงินเกินกว่า 50 บาท มิได้ทำหนักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลยที่ 1 ไว้เป็นสำคัญ โจทก์จะฟ้องร้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดหาได้ไม่นั้น จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์บรรยายฟ้องเป็นเรื่องการนำเช็คไปแลกเงินสด ไม่ใช่เรื่องการกู้ยืมหรือผิดสัญญาซึ่งจะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ ดังนั้น ฎีกาของจำเลยที่ 1 ในข้อนี้จึงขัดแย้งกับคำให้การของจำเลยที่ 1 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชดใช้เงินให้แก่โจทก์
พิพากษายืน

Share