แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
สัญญาจ้างว่าความระหว่างลูกหนี้ที่ 1 กับเจ้าหนี้ทั้งสองได้กำหนดข้อตกลงเรื่องการจ่ายค่าตอบแทนพิเศษโดยให้เป็นผลต่อเมื่อมีการถอนคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายที่ลูกหนี้ที่ 1 เป็นโจทก์ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ไม่แน่นอนว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นนิติกรรมที่มีเงื่อนไขบังคับก่อนและย่อมเป็นผลต่อเมื่อเงื่อนไขนั้นสำเร็จแล้ว ทั้งในระหว่างที่เงื่อนไขยังไม่สำเร็จ คู่กรณีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะต้องงดเว้นไม่กระทำการให้เป็นที่เสื่อมเสียประโยชน์แก่คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งจะพึงได้จากความสำเร็จแห่งเงื่อนไขนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 182,183 และ 184ลูกหนี้ที่ 1 จึงต้องผูกพันตามข้อตกลงดังกล่าว ทั้งมูลหนี้ที่ลูกหนี้ที่ 1 ได้ก่อขึ้นแก่เจ้าหนี้ทั้งสองนั้นเกิดก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 1 เด็ดขาดย่อมถือได้ว่าสิทธิของเจ้าหนี้ทั้งสองตามข้อตกลงย่อมมีอยู่แล้วก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เพียงแต่เจ้าหนี้ทั้งสองจะเรียกร้องให้ลูกหนี้ที่ 1 จ่ายค่าตอบแทนพิเศษสำหรับการว่าความดังกล่าวได้ต่อเมื่อลูกหนี้ที่ 1 ได้ถอนคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายแล้ว แต่เนื่องจากขณะที่เจ้าหนี้ทั้งสองขอรับชำระหนี้ในคดีนี้ ยังไม่มีการถอนคำขอรับชำระหนี้ของลูกหนี้ที่ 1 ในคดีดังกล่าว และไม่แน่ว่าจะมีการขอถอนคำขอรับชำระหนี้นั้นหรือไม่ เจ้าหนี้ทั้งสองจึงยังไม่มีสิทธิที่จะเรียกให้ลูกหนี้ที่ 1 จ่ายค่าตอบแทนพิเศษนั้นได้ทันที แต่ถือได้ว่าข้อตกลงดังกล่าวเป็นหนี้มีเงื่อนไขและเงื่อนไขยังไม่สำเร็จ เจ้าหนี้ทั้งสองจึงมีสิทธิขอรับชำระหนี้ค่าตอบแทนพิเศษสำหรับการว่าความเพียงจำนวน 2,500,000 บาท ซึ่งเป็นจำนวนที่ระบุในสัญญาจ้างว่าความจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลย (ลูกหนี้) ทั้งสามเด็ดขาดเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2542 ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาพิพากษายืน
เจ้าหนี้ทั้งสองยื่นคำขอรับชำระหนี้ค่าจ้างว่าความเป็นเงิน 5,847,766 บาท จากกองทรัพย์สินของนางปริม ธนะโชติ ลูกหนี้ที่ 1 รายละเอียดปรากฏตามบัญชีท้ายคำขอรับชำระหนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นัดตรวจคำขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 104 แล้ว ลูกหนี้ที่ 1 โต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ทั้งสองว่าหนี้คงเหลือประมาณ 1,000,000 บาท เศษ เท่านั้น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วมีความเห็นว่า ควรให้เจ้าหนี้ทั้งสองได้รับชำระหนี้ค่าจ้างว่าความเป็นเงิน3,322,411.20 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1 ตามมาตรา 130(8) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ส่วนที่ขอเกินมาให้ยกเสีย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ทั้งสองได้รับชำระหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
เจ้าหนี้ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีล้มละลายพิพากษายืน
เจ้าหนี้ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของเจ้าหนี้ทั้งสองว่า เจ้าหนี้ทั้งสองมีสิทธิขอรับชำระหนี้ค่าตอบแทนพิเศษสำหรับการว่าความคดีล้มละลายหมายเลขแดงที่ ล.15/2539 ของศาลจังหวัดอุบลราชธานีจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1 หรือไม่ เพียงใด เห็นว่า สัญญาจ้างว่าความระหว่างลูกหนี้ที่ 1 กับเจ้าหนี้ทั้งสอง ตามเอกสารหมาย จ.9 ในสำนวนคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ข้อ 1 ที่ให้ยกเลิกข้อความในข้อ 3.2 แห่งสัญญาจ้างว่าความลงวันที่ 14 ตุลาคม 2540และให้ใช้ข้อความว่า “ผู้ว่าจ้างตกลงจะจ่ายค่าตอบแทนพิเศษสำหรับการว่าความคดีล้มละลายหมายเลขแดงที่ ล.15/2539 ของศาลจังหวัดอุบลราชธานีระหว่าง นางปริมธนะโชติ โจทก์ นายเอก ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา จำเลย และคดีสาขาที่เกี่ยวข้องกับคดีดังกล่าว โดยหากมีการถอนคำขอรับชำระหนี้คดีล้มละลายหมายเลขแดงที่ ล.15/2539ของศาลจังหวัดอุบลราชธานี จะจ่ายค่าตอบแทนพิเศษเป็นเงินไม่น้อยกว่า 2,500,000บาท การถอนคำขอรับชำระหนี้ดังกล่าวต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้ว่าจ้างเป็นหนังสือจึงจะมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย” แทนนั้น ข้อตกลงเรื่องการจ่ายค่าตอบแทนพิเศษระหว่างลูกหนี้ที่ 1 กับเจ้าหนี้ทั้งสองดังกล่าวจะเป็นผลต่อเมื่อมีการถอนคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายหมายเลขแดงที่ ล.15/2539 ของศาลจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ไม่แน่นอนว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ ข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นนิติกรรมที่มีเงื่อนไขบังคับก่อนและย่อมเป็นผลต่อเมื่อเงื่อนไขนั้นสำเร็จแล้ว ทั้งในระหว่างที่เงื่อนไขยังไม่สำเร็จคู่กรณีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะต้องงดเว้นไม่กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เป็นที่เสื่อมเสียประโยชน์แก่คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งจะพึงได้จากความสำเร็จแห่งเงื่อนไขนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 182, 183 และ 184 ลูกหนี้ที่ 1 จึงต้องผูกพันตามข้อตกลงดังกล่าวทั้งปรากฏว่ามูลหนี้ที่ลูกหนี้ที่ 1 ได้ก่อขึ้นแก่เจ้าหนี้ทั้งสองดังกล่าวนั้นเกิดก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 1 เด็ดขาด ดังนั้น ย่อมถือได้ว่าสิทธิของเจ้าหนี้ทั้งสองตามข้อตกลงย่อมมีอยู่แล้วก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ เพียงแต่เจ้าหนี้ทั้งสองจะเรียกร้องให้ลูกหนี้ที่ 1 จ่ายค่าตอบแทนพิเศษสำหรับการว่าความดังกล่าวได้ต่อเมื่อลูกหนี้ที่ 1 ได้ถอนคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายหมายเลขแดงที่ ล.15/2539ของศาลจังหวัดอุบลราชธานีแล้ว แต่เนื่องจากขณะที่เจ้าหนี้ทั้งสองขอรับชำระหนี้ในคดีนี้ยังไม่มีการถอนคำขอรับชำระหนี้ของลูกหนี้ที่ 1 ในคดีดังกล่าว และไม่แน่ว่าจะมีการขอถอนคำขอรับชำระหนี้นั้นหรือไม่ เจ้าหนี้ทั้งสองจึงยังไม่มีสิทธิที่จะเรียกให้ลูกหนี้ที่ 1จ่ายค่าตอบแทนพิเศษนั้นได้ทันที แต่ถือได้ว่าข้อตกลงดังกล่าวเป็นหนี้มีเงื่อนไขและเงื่อนไขยังไม่สำเร็จ เจ้าหนี้ทั้งสองจึงมีสิทธิขอรับชำระหนี้ค่าตอบแทนพิเศษสำหรับการว่าความคดีล้มละลายหมายเลขแดงที่ ล.15/2539 ของศาลจังหวัดอุบลราชธานีเพียงจำนวน 2,500,000 บาท ซึ่งเป็นจำนวนที่ระบุในสัญญาจ้างว่าความเอกสารหมายจ.9 ดังกล่าวจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1 ที่ศาลอุทธรณ์แผนกคดีล้มละลายพิพากษายืนตามคำสั่งของศาลชั้นต้นให้ยกคำขอรับชำระหนี้ตามสัญญาจ้างว่าความเอกสารหมาย จ.9 ดังกล่าวของเจ้าหนี้ทั้งสอง ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของเจ้าหนี้ทั้งสองฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า หากลูกหนี้ที่ 1 ถอนคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายหมายเลขแดงที่ ล.15/2539 ของศาลจังหวัดอุบลราชธานี ระหว่าง นางปริม ธนะโชติ โจทก์นายเอก ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา จำเลย ก็ให้เจ้าหนี้ทั้งสองได้รับชำระหนี้ค่าตอบแทนพิเศษสำหรับการว่าความคดีดังกล่าวเป็นเงิน 2,500,000 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1 ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 130(8) เดิม ส่วนที่ขอเกินมาให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์