แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ขณะที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษานำยึดที่ดินพิพาท จำเลยที่ 1 ลูกหนี้ตามคำพิพากษานำ น.ส.3 ก. สำหรับที่ดินพิพาทไปขอออกโฉนดและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่บุคคลอื่นไปแล้ว ที่ดินพิพาทจึงไม่ใช่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ที่จะถูกบังคับคดี การยึดและการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทจึงไม่ชอบ แม้โจทก์จะเป็นผู้ประมูลซื้อที่ดินพิพาทได้โดยสุจริต ก็ไม่มีผลผูกพันที่ดินพิพาท ซึ่งตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้อื่นไปก่อนแล้ว ศาลย่อมมีอำนาจเพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทดังกล่าวได้โดยไม่จำต้องเรียกโจทก์ซึ่งเป็นผู้ประมูลซื้อที่ดินพิพาทได้มาสอบถามเสียก่อน ส่วนโจทก์จะได้รับความเสียหายอย่างไรก็สามารถไปฟ้องร้องว่ากล่าวกันเป็นอีกเรื่องต่างหากได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 50,000บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 5มิถุนายน 2540 จนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องไม่เกินจำนวน 7,975บาท หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระให้จำเลยที่ 2 ชำระแทน แต่จำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2541 โจทก์จึงขอหมายบังคับคดีนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 42 เลขที่ดิน 56ตำบลปากทาง อำเภอเมืองพิจิตร จังหวัดพิจิตร ของจำเลยที่ 1 เพื่อขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ ต่อมาวันที่ 11 มกราคม 2543 เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขายทอดตลาดที่ดินแปลงดังกล่าวโดยโจทก์เป็นผู้ประมูลซื้อได้ในราคา 66,000 บาท เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2543 ศาลชั้นต้นได้มีหนังสือแจ้งให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดพิจิตรดำเนินการจดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่โจทก์ ต่อมาวันที่ 12เมษายน 2543 เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดพิจิตรได้มีหนังสือแจ้งให้ศาลชั้นต้นทราบว่าที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 42 ดังกล่าว พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ออกเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 30785 หน้าสำรวจ 988 ตำบลปากทาง อำเภอเมืองพิจิตรจังหวัดพิจิตร ให้แก่จำเลยที่ 1 แล้วเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2540 กรณีถือว่าหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินเดิมเป็นอันยกเลิกแล้ว ครั้นวันที่ 3 พฤศจิกายน 2541 จำเลยที่ 1 ได้นำโฉนดที่ดินดังกล่าวจดทะเบียนให้นางสาวยุพเยาว์ ตรีเดช และวันที่ 4 พฤศจิกายน 2541นางสาวยุพเยาว์ได้จดทะเบียนขายให้แก่นางสมลักษณ์ บุพบุศ ครั้นวันที่ 26 เมษายน2543 หัวหน้าสำนักงานบังคับคดีจังหวัดพิจิตรได้รายงานข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการขายทอดตลาดที่ดินดังกล่าวให้ศาลชั้นต้นทราบ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาดดังกล่าว
โจทก์ยื่นคำร้องว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการขายทอดตลาดโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาดดังกล่าวโดยไม่ไต่สวนก่อน จึงไม่ชอบ ขอให้เพิกถอนคำสั่ง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า คำสั่งศาลชอบแล้ว ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ยกคำร้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่าเดิมที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 มีหลักฐานเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่ 42 ต่อมาวันที่ 23ธันวาคม 2540 ได้ออกเป็นโฉนดเลขที่ 30785 เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2541 จำเลยที่ 1ได้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวให้แก่นางสาวยุพเยาว์ ตรีเดช และต่อมาวันที่ 4 พฤศจิกายน2541 นางสาวยุพเยาว์ได้จดทะเบียนขายให้แก่นางสมลักษณ์ บุพบุศ เมื่อวันที่ 24ธันวาคม 2541 โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 1 ได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดินพิพาทตามหลักฐานหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 42 เพื่อขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์และโจทก์เป็นผู้ประมูลซื้อที่ดินพิพาทได้จากการขายทอดตลาดดังกล่าว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทชอบหรือไม่ เห็นว่า ขณะที่โจทก์นำยึดที่ดินพิพาทนั้นจำเลยที่ 1 ได้นำหนังสือรับรองการทำประโยชน์สำหรับที่ดินพิพาทไปขอออกเป็นโฉนดเลขที่ 30785 และจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่บุคคลอื่นไปแล้ว ที่ดินพิพาทจึงไม่ใช่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ผู้เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่จะถูกบังคับคดี การยึดและการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทจึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบ แม้โจทก์จะเป็นผู้ประมูลซื้อที่ดินพิพาทได้โดยสุจริต ก็ไม่มีผลผูกพันที่ดินพิพาทซึ่งตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้อื่นไปก่อนแล้ว เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏในสำนวนโดยชัดแจ้งและโจทก์เองก็ได้ยื่นคำแถลงยอมรับข้อเท็จจริงดังกล่าวไว้เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2543 ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจที่จะใช้ดุลพินิจเพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทที่ไม่ชอบเสียได้โดยไม่จำต้องเรียกโจทก์ซึ่งเป็นผู้ประมูลซื้อที่ดินพิพาทได้มาสอบถามเสียก่อนดังที่โจทก์ฎีกาส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า ตามพฤติการณ์ไม่น่าเชื่อว่าจะมีการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทกันจริงและการโอนกระทำกันโดยไม่สุจริตนั้น หากโจทก์เสียหายอย่างไร ก็ชอบที่จะไปฟ้องร้องว่ากล่าวกันเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยว่า คำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทของศาลชั้นต้นชอบแล้วนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน